รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ เปิดเผยว่าในทางการแพทย์มีอุปกรณ์ซึ่งเรียกว่าตัวกรองจมูก (Nasal Filter) มีลักษณะคล้ายแผ่นกรองใส่เข้าไปในรูจมูกทั้งสองข้าง มีคุณสมบัติในการช่วยลดฝุ่น ควัน หรือสิ่งแปลกปลอมที่ผ่านลมหายใจเข้าไปในจมูกได้ จากข้อมูลทางการแพทย์ จุดประสงค์หลักในการใช้อุปกรณ์นี้คือมุ่งลดการหายใจเอาสารที่ทำให้เกิดภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย
จากการศึกษาพบว่ากลุ่มคนไข้ซึ่งเป็นโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง เมื่อใส่อุปกรณ์นี้ในช่วงเวลาซึ่งมีฝุ่นละออง แม้กระทั่งเกสรดอกไม้ คนไข้ส่วนหนึ่งอาจจะมีอาการที่ดีขึ้น ซึ่งอุปกรณ์นี้อาจจะลดปริมาณของฝุ่นหรือสารภูมิแพ้ซึ่งเข้ามาทางจมูกได้ กลไกในการลดจะเกิดขึ้นผ่านการกรองที่ดีขึ้น แต่ขอเน้นย้ำว่าถ้าลมเข้าจมูกได้น้อยลง เราจะหายใจทางปากมากขึ้น
รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่าปัญหาขณะนี้คือมีการนำอุปกรณ์นี้มาใช้เพราะคิดว่าสามารถจะกรองฝุ่น PM2.5 ได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอุปกรณ์นี้สามารถกรองได้เฉพาะลมหรือสารที่ผ่านเข้ามาทางจมูก ถ้าเราอ้าปากหายใจก็ไม่สามารถกรองได้ ถ้าหวังว่าจะลดสารที่อยู่ในจมูกอย่างเดียวนี้อาจจะพอได้ ถ้าจะทำให้ได้ผลจริงๆ ผู้ใช้จะต้องไม่หายใจทางปากเลย
ดังนั้นจากข้อมูลตรงนี้ อุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถทดแทนการใช้หน้ากากอนามัยในการลดฝุ่นละอองขนาดจิ๋วหรือ PM2.5 เมื่อเข้าไปในพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละอองในปริมาณสูงได้ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่มากพอจะยืนยันการใช้ Nasal Filter ควบคู่กับหน้ากากอนามัย
ในทางการแพทย์ รศ.นพ.ฉันชาย แนะนำว่าควรใช้อุปกรณ์มาตรฐานก่อน เริ่มต้นอย่างแรกคือควรจะหลีกเลี่ยงพื้นที่เปิดโล่งที่มีความเสี่ยงก่อน และใช้หน้ากากที่เหมาะสม ถ้าเราเตรียมตัวดี เราสามารถป้องกันได้ อย่างแรกเราต้องเข้าใจก่อนว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ถ้าเราเป็นโรคถุงลมโป่งพอง หรือโรคหอบหืด ต่อให้ฝุ่นละอองในอากาศไม่สูงก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยง ทุกคนต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศว่าเป็นอย่างไร ระดับสารพิษเป็นอย่างไร หลีกเลี่ยงที่ที่มีฝุ่นควันพิษสูง ลดกิจกรรมกลางแจ้ง ใช้อุปกรณ์ป้องกัน กลุ่มเสี่ยงที่เรามองข้ามไม่ได้เลยคือเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ถ้าได้รับสารหรือฝุ่นอันตรายจะมีผลกระทบอย่างมากทั้งระยะสั้นและระยะยาว อาจจะมีผลต่อพัฒนาการของเด็ก
อย่างไรก็ตาม ฝุ่น PM2.5 ป้องกันได้ ความรุนแรงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ดีที่สุดคือพยายามหลีกเลี่ยงการรับสารนี้เข้าไปในร่างกายให้น้อยที่สุด ถ้ารับไปเรื่อยๆ อนาคตมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง โรคหัวใจ สมองเสื่อมมากขึ้น
รศ.นพ.ฉันชาย แนะนำว่าหลายภาคส่วนต้องช่วยกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำคนเดียวไม่ได้ เพราะไม่ได้เกิดจากปัจจัยเดียว ต้องเริ่มจากทุกคน ต้องรู้จักป้องกันตัวเอง รู้ตัวเองว่าควรทำอะไร ต้องแก้ไขจากในพื้นที่ เพราะแต่ละที่เกิดจากปัจจัยคนละอย่าง เช่น เกิดจากการเผาป่าถางไร่ เกิดจากพฤติกรรมการใช้รถยนต์ หรือเกิดจากการเผาไหม้ทางอุตสาหกรรม ถ้ามีต้นไม้ที่ต้นสูงใหญ่ มีใบเยอะ จะช่วยดูดซึมสารพิษโมเลกุลเล็กได้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: