×

2017 ปีแห่งการต่อสู้ที่ดุเดือดและเจ็บปวดของวงการภาพยนตร์

26.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • Netflix เดินหน้าเต็มตัวกับการเป็นผู้ผลิตออริจินัลคอนเทนต์ของตัวเองเพื่อสู้กับระบบการฉายหนังในโรงภาพยนตร์ ด้วยการทุ่มงบประมาณดึงผู้กำกับที่มีชื่อเสียงเข้ามาร่วมโปรเจกต์ และปีหน้ามีหนังของ Netflix ที่รอถ่ายทำมากถึง 80 เรื่อง
  • ดิสนีย์ขึ้นแท่นเป็นบริษัทที่ทรงอิทธิพลที่สุดในวงการภาพยนตร์ หลังจากทุ่มเงิน 52.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ซื้อกิจการของ 21st Century Fox มาเป็นของตัวเอง
  • ข่าวการล่วงละเมิดทางเพศของ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน คือปัญหาใหญ่ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมของวงการฮอลลีวูด
  • ฉลาดเกมส์โกง คือที่สุดของปรากฏการณ์แห่งวงการภาพยนตร์ไทยในปีนี้

ในช่วงครึ่งปีแรกอาจจะดูเป็นช่วงที่เงียบไปสักหน่อยถ้าพูดถึงภาพรวมของวงการภาพยนตร์ ราวกับว่าทั้งข่าว ปรากฏการณ์ และภาพยนตร์หลายอย่างรอไปปรากฏขึ้นพร้อมกันในช่วงครึ่งปีหลังแทบทั้งหมด

 

เริ่มตั้งแต่การประกาศสงครามคอนเทนต์ของ Netflix กับระบบฉายในโรงภาพยนตร์ การล่วงละเมิดทางเพศของโปรดิวเซอร์รุ่นใหญ่อย่างฮาร์วีย์ ไวสน์สตีน ที่ทำให้ประเด็นที่ถูกซ่อนเอาไว้ในเงามืดของวงการฮอลลีวูดถูกเปิดเผยขึ้นมา การที่ดิสนีย์ซื้อกิจการของ 21st Century Fox เพื่อขยายอาณาจักรของตัวเองให้กว้างไกลไม่มีสิ้นสุด รวมถึงเสียงวิจารณ์จากหนังฟอร์มยักษ์ที่ทยอยแตกออกเป็น 2 เสียงกันอย่างพร้อมเพรียงในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน

 

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของวงการภาพยนตร์ในปีนี้เลยไม่ได้ถูกโฟกัสไปที่ตัวหนังหรือการทำลายสถิติ Box Office ที่น่าตื่นเต้น แต่เป็นการกำหนดทิศทางหลายๆ อย่างด้านคอนเทนต์ พฤติกรรมของคนทั้งในและนอกวงการในอนาคตต่อไป

 

สมรภูมิเดือด! Netflix ท้ารบ ผลิตออริจินัลคอนเทนต์สู้โรงภาพยนตร์

 

 

จุดเริ่มต้นมาจากการที่ Netflix ตัดสินใจอัพเลเวลตัวเองจากผู้ให้บริการทีวีสตรีมมิง นำเข้าหนังซีรีส์มาให้คนดูอย่างเดียว กลายเป็นเริ่มสร้างออริจินัลคอนเทนต์ของตัวเองขึ้นมา

 

จากเดิมที่เคยผลิตซีรีส์ของตัวเองออกมาบ้าง แต่คราวนี้ Netflix เล่นใหญ่ ตัดสินใจทำ ‘หนัง’ เริ่มจากโปรเจกต์ Okja ที่ทุ่มงบ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้ผู้กำกับชาวเกาหลีอย่าง บงจุนโฮ ออกมาชิมลาง และความเดือดก็เริ่มขึ้นตั้งแต่หนังยังไม่ทันปล่อยให้ผู้ชมทั่วไปดูด้วยซ้ำ เพราะทันทีที่ Okja (รวมทั้ง The Meyerowitz Stories ของผู้กำกับ โนอาห์ บอมบาช) เดินทางไปถึงเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ก็เปิดประเด็นถกเถียงใหญ่โตแบ่งเป็น 2 ฝั่งขึ้นมาทันที

 

ฝั่งแรกนำโดยผู้กำกับรุ่นใหญ่อย่าง เปโดร อัลโมโดวาร์ ที่ออกมาตั้งคำถามถึงเกณฑ์ความเหมาะสมสำหรับหนังที่จะเข้าชิงรางวัลได้จะต้องเป็นหนังที่ผ่านการฉายในระบบโรงภาพยนตร์ปกติเท่านั้น เพราะการดูหนังในโรงภาพยนตร์คือรูปแบบที่จะทำให้ศาสตร์และศิลป์ของหนังแต่ละเรื่องทำหน้าที่ของตัวเองได้ที่สุด

 

 

ในขณะที่อีกฝั่ง นำโดยนักแสดงชื่อดังอย่าง วิลล์ สมิธ ออกมาสนับสนุน Netflix โดยให้เหตุผลว่า Netflix ไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการดูหนัง ทั้ง 2 แพลตฟอร์มคือช่องทางเข้าถึงศิลปะของหนังที่แตกต่างกันออกไป และสุดท้ายหนังที่ดีก็คือหนังที่ดี ไม่ว่าจะถูกฉายบนแพลตฟอร์มไหนก็ตาม

 

 

บทสรุปจากเทศกาลยังถกเถียงกันไม่จบ ทางฝั่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์จอใหญ่ ก็เริ่มแก้เกมด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการถ่ายทำให้ดีที่สุด โดยภาพที่เห็นชัดในปีนี้คือ โปรเจกต์ Dunkirk ของคริสโตเฟอร์ โนแลน ที่ถ่ายทำด้วยระบบฟิล์ม 65 มม. (ถ่ายด้วยฟิล์ม 65 มม. แต่นำมาฉายในระบบฟิล์ม 70 มม.) และฉายในโรง IMAX 2D (หลังจากที่ระบบ 3D 4D ยังไม่ค่อยเวิร์กเท่าไร) ที่จะได้เห็นภาพการรบบนท้องฟ้าในมุมกว้างชนิดที่ถ้าดูจากหน้าจอโทรทัศน์หรือโทรศัพท์มือถือไม่มีทางมอบให้ได้ รวมทั้งการออกมายืนยันของโนแลนที่บอกว่าจะยังคงทำหนังฉายโรงภาพยนตร์ต่อไป ยังไม่มีความคิดที่จะทำหนังเพื่อฉายในระบบสตรีมมิงในเวลานี้อย่างแน่นอน

 

ในขณะที่ค่ายหนังต่างๆ ก็ไม่อยู่เฉย โดยเฉพาะดิสนีย์ ตัดสินใจถอนหนังออกจาก Netflix เพื่อเตรียมตัวนำไปฉายในระบบสตรีมมิงของตัวเองในอนาคต ตรงนี้อาจเป็นข้อย้อนแย้งเล็กน้อย แต่ก็ทำให้เห็นว่ากระทั่งสตูดิโอใหญ่อย่างดิสนีย์เองก็เห็นความสำคัญของระบบสตรีมมิงอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

 

ส่วน Netflix ที่มาทีหลังแต่ไม่ยี่หระกับศึกที่เข้ามารอบด้าน ยังมีโปรเจกต์สร้างออริจินัลคอนเทนต์ของตัวเองต่อไป ล่าสุดก็เพิ่งปล่อยเรื่อง Bright ที่ลงทุนสร้างไปกว่า 90 ล้านเหรียญสหรัฐออกมา และยังสามารถดึงผู้กำกับอย่างมาร์ติน สกอร์เซซี ทำหนังใหญ่และยืนยันมาตลอดว่า ‘ความใหญ่’ ของหนังจำเป็นต้องอยู่ในโรงภาพยนตร์เท่านั้น ให้มากำกับโปรเจกต์ The Irishman ที่ทุ่มทุนสร้างไปอีก 100 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกับโปรเจกต์หนังที่ต่อคิวรอสร้างในปีหน้าอยู่อีก 80 เรื่อง

 

ยิ่งการต่อสู้ของทั้ง 2 ฝั่งรุนแรงยิ่งขึ้นเท่าไร คอนเทนต์ยิ่งหลากหลาย และไม่ว่าใครจะชนะหรือแพ้ และทิศทางต่อไปจะเป็นอย่างไร ก็ยิ่งเป็นผลดีกับคนดูอย่างพวกเรามากขึ้นเท่านั้น

 

Disney ขยายอาณาจักร ซื้อ 21st Century Fox

อภิมหากาพย์การซื้อขายแห่งโลกภาพยนตร์ เมื่อดิสนีย์ทุ่มเงินจำนวน 52,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท) ซื้อ 21st Century Fox มาอยู่ใต้อาณาจักรของตัวเอง

 

ผลทางธุรกิจที่เกิดขึ้นคือ ดิสนีย์จะเป็นผู้ครอบครองช่องโทรทัศน์คุณภาพอย่าง National Geographic, FX และสตูดิโอทั้งหมดของ 21st Century Fox รวมทั้งหุ้นอีก 39% ใน Sky เคเบิลยักษ์ใหญ่ในอังกฤษ เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการขยายอาณาจักรของตัวเองต่อไป ในขณะ 21st Century Fox จะเหลือธุรกิจในครอบครองเพียงแค่ Fox Sports, Fox Business, Fox News และเครือข่ายโทรทัศน์ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

 

 

แต่ผลที่น่าตื่นเต้นสำหรับคอหนั่งทั่วโลกคือ ทิศทางต่อไปของภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่เคยเป็นผลผลิตของ 21st Century Fox อย่าง Fantastic Four, Avatar, The Simpsons, X-Men และ Deadpool ฯลฯ ที่จะต้องย้ายบ้านมาอยู่ร่วมกับทีมซูเปอร์ฮีโร่จากมาร์เวล นั่นเท่ากับว่าเปิดโอกาสให้แฟนๆ ที่หวังจะได้เห็นเหล่ามิวแทนต์จาก X-Men มา ปฏิบัติภารกิจร่วมกับเหล่า The Avengers นั้นใกล้เป็นจริงเข้ามาทุกที

 

รวมทั้งจุดแข็งด้านสวนสนุกที่ดิสนีย์ครอบครองอยู่นั้น ในอนาคตเราน่าจะได้เห็นโลกของ X-Men, Avatar, ครอบครัวซิมป์สัน และอีกหลายๆ ตัวละคร มาโลดแล่นในรูปแบบสวนสนุกธีมพาร์กเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน

 

#MeToo ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน กับการล่วงละเมิดทางเพศครั้งใหญ่ในวงการฮอลลีวูด

 

Photo: Wenner Media

 

อีกหนึ่งข่าวใหญ่สะเทือนวงการฮอลลีวูดแห่งปี เมื่อ The New York Times นำเสนอข่าวตีแผ่เรื่องราวสุดฉาวที่ถูกซุกอยู่ใต้พรมนานถึง 30 ปี ว่าโปรดิวเซอร์รุ่นใหญ่แห่งวงการอย่าง ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ได้แอบล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment) หญิงสาวทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังหลายสิบคนมาตลอด โดยที่มีน้อยคนที่จะได้ล่วงรู้ความจริง

 

Photo: static.com, www.usmagazine.com

 

2 ในหญิงสาวผู้โชคร้ายคือซูเปอร์สตาร์แห่งวงการอย่าง แอนเจลินา โจลี และกวินเน็ธ พัลโทรว์ ที่เปิดเผยว่าถูกฮาร์วีย์ล่วงละเมิดทางเพศด้วยการจับเนื้อต้องตัวตั้งแต่พวกเธอเริ่มเข้าวงการใหม่ๆ และตัดสินใจที่จะไม่ร่วมงานกับโปรดิวเซอร์คนนี้อีก แต่เพราะเหตุผลหลายอย่างที่อาจกระทบกับเส้นทางในวงการ ทำให้พวกเธอไม่สามารถนำเรื่องนี้ออกมาตีแผ่ได้ในเวลานั้น

 

 

นอกจากนี้ยังมีรายชื่อนักแสดงและทีมงานหญิงอีกยาวเป็นหางว่าว เช่น คารา เดเลวีน, เอมิลี เนสเตอร์, ลอรา แมดเดน, โรส แม็กโกแวน, เอ็มมา เดอ คอนส์, อาเซีย อาร์เจนโต และลูเซีย อีแวนส์ ที่ตกเป็นเหยื่อและอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นเดียวกัน

 

ผลจากการตีแผ่เรื่องนี้คือ ไม่กี่วันหลังจากนั้น กรรมการบริษัท The Weinstein Company (บริษัทที่ฮาร์วีย์เป็นคนตั้งขึ้นมา) ได้สั่งปลดฮาร์วีย์ออกจากบริษัท ถูกภรรยา จอร์จินา แชปแมน บอกเลิก และมีมติจาก The Academy of Motion Picture Arts and Sciences ให้ปลดเขาพ้นจากการเป็นสมาชิกสถาบันออสการ์ ในขณะที่ทุกอย่างเริ่มชัดเจน แต่ฮาร์วีย์ก็ยังยืนยันที่จะปฏิเสธทุกข้อหาต่อไป

 

นอกจากนี้ นักแสดงรุ่นใหญ่อย่างเควิน สเปซีย์ ก็กลายเป็นข่าวฉาวของวงการขึ้นมาอีก เมื่อถูกนักแสดงรุ่นน้องอย่าง แอนโธนี แรปป์ ออกมาเปิดเผยว่าเคยถูกเขาพยายามล่วงละเมิดทางเพศในขณะที่ตอนนั้นแอนโธนีมีอายุแค่ 14 ปีเท่านั้น ส่งผลให้ Netflix ตัดสินใจปลดเควิน สเปซีย์ออกจากการเป็นนักแสดงนำในซีรีส์ House of Cards ที่กำลังได้รับความนิยม รวมทั้งโปรเจกต์ใหม่ที่มีชื่อเควินเป็นผู้อำนวยการสร้างทันที

 

Photo: www.bento.de

 

ในขณะที่ปัญหาดูน่าเป็นห่วง แต่ดูเหมือนว่าความคืบหน้าในเรื่องบทลงโทษของฮาร์วีย์ยังไปไม่ถึงไหน ได้ก่อให้เกิดจุดเริ่มต้นแคมเปญ #MeToo ที่เริ่มต้นจากอลิสสา มิลาโน นักแสดงสาวชาวอเมริกัน ที่ออกมาทวีตเชิญชวนให้ทุกคนที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศออกมาแสดงตัวผ่านแฮชแท็ก #MeToo เพื่อบอกให้ทุกคนเข้าใจว่าการล่วงละเมิดทางเพศเป็นปัญหาที่ใหญ่แค่ไหน

 

ผลลัพธ์ที่ได้คือมีคนเข้ามาตอบสนอง แชร์ ทวีต เล่าเรื่องราว เกี่ยวกับแฮชแท็ก #MeToo มากกว่า 12 ล้านครั้งทั่วโลก แต่สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไป ปัญหาดังกล่าวก็ดูเหมือนจะค่อยๆ เงียบเสียงลง และยังไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการแก้ไขไปในทางที่ดีขึ้นแต่อย่างใด

 

ปีแห่งความเจ็บและเสียงวิจารณ์ที่หลากหลายของหนังฮอลลีวูด

 

 

ปีที่เสียงวิจารณ์ของบรรดาหนังภาคต่อถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายมากที่สุด

ตั้งแต่ Star Wars: The Last Jedi, Blade Runner 2049, The Fate of the Furious, Thor: Ragnarok, Transformer: The Last Knight, Pirates of the Caribbean: Dead Men Tell No Tales, War for the Planet of the Apes, Alien: Covenant ฯลฯ ที่เราจะเห็นความพยายามของทั้งสตูดิโอและผู้กำกับหลายคนพยายามที่จะรวมเอาทั้งความคลาสสิกของเวอร์ชันที่ผ่านมา ผสมผสานเข้ากับรูปแบบและการตีความใหม่ๆ เพื่อหาทางต่อยอดให้กับภาคต่อๆ ไปสามารถเดินทางต่อไปได้ไกลที่สุด

 

แต่ด้วยทิศทางที่ยังไม่ชัดเจน รวมทั้งแบรนด์ Loyalty ของบรรดาแฟนคลับเดนตายของเรื่องนั้นๆ ทำให้ทันทีที่หนังออกมา เสียงวิจารณ์จะแตกออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่ชอบแบบสุด กับอีกฝ่ายที่อาจจะถึงขั้นเกลียดหนังเรื่องนั้นไปเลย โดยเฉพาะ Star Wars: The Last Jedi ของผู้กำกับไรอัน จอห์นสัน ที่บรรดานักวิจารณ์ที่ได้ดูหนังก่อนออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่ล่ะ คือมหาสงครามแห่งดวงดาวภาคที่ดีที่สุดในรอบ 40 ปี แต่พอหนังเข้าโรงฉายตามโปรแกรมปกติ กลับโดนถล่มจากบรรดาแฟนพันธุ์แท้ รุมถล่มยับจนแทบไม่เหลือชิ้นดีว่านี่หรือคือมหาสงครามที่พวกเขารอคอย

 

จะมีก็แค่ Guardian of the Galaxy Vol. 2 ของเจมส์ กันน์ ที่ชัดเจนในแนวทางว่าจะดำเนินเรื่องไปทางซูเปอร์ฮีโร่สายกวน (และเกรียน) กับ Despicable Me 3 ที่ชัดเจนในการขายความน่ารักและตลกของเหล่ามินเนียนสีเหลือง และ Logan ที่ทำให้วูล์ฟเวอรีนดูเป็น ‘มนุษย์’ ที่เจ็บปวดและเท่ที่สุดเท่านั้น ที่พอจะเห็นว่าคำวิจารณ์ของผู้ชมส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางที่ดีคล้ายๆ กัน

 

ทำให้เรื่องนี้ยังเป็นเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ที่ผู้กำกับและสตูดิโอจะต้องหาคำตอบร่วมกันเพื่อหาจุดตรงกลางระหว่างกลุ่มผู้ชมใหม่ๆ และเหล่าแฟนบอยที่สนับสนุนหนังมาตั้งแต่ต้นให้ได้

 

 

ปีทองของหนังทริลเลอร์เชิงจิตวิทยา

หลังจากที่เป็น Genre ที่เงียบไปในปีหลังๆ อยู่ๆ ปีนี้ก็มีหนังทริลเลอร์คุณภาพเยี่ยมตบเท้าเข้ามาให้ชมกันอย่างพร้อมเพรียง ตั้งแต่ Annabelle: Creation, It, Wind River, The Killing of a Sacred Deer, Mother! ฯลฯ ที่กระแสตอบรับส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางที่ดีและทำรายได้ไปอย่างถล่มทลาย

 

โดยที่สุดของปีนี้เรายกให้ 2 เรื่องคือ Split ที่เป็นการคัมแบ็กหลังจากหลุดไปหลายปีของ เอ็ม. ไนท์ ชยามาลาน ที่หยิบเรื่องของคน 23 บุคลิกมานำเสนอ จนทำรายได้ไป 278 ล้านเหรียญสหรัฐ จากทุนสร้างเพียง 9 ล้านเหรียญสหรัฐ และ Get Out ของจอร์แดน พีล ที่เอาเหตุการณ์ลึกลับที่เกิดขึ้นกับคนผิวสีมาเล่นอย่างเข้มข้นและบีบคั้น จนหนังทำรายได้ไปถึง 254 ล้านเหรียญสหรัฐ จากทุนสร้างเพียงแค่ 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

 

จะมีก็แค่เรื่อง Jigsaw ที่เอาฆาตรกรโรคจิตเจ้าแห่งการเล่นเกมกลับมาเท่านั้น ที่เราเฝ้ารอการกลับมาของฆาตรกรคนนี้มาก แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นหนึ่งในภาคที่เละเทะที่สุด และโดน ‘มะเขือเน่า’ จากบรรดานักวิจารณ์ใน Rotten Tomatoes ปาเข้าใส่ไปถึง 35%

 

รวมพลหนังเจ็บ 2017

เช่นเดียวกับทุกๆ ปีที่จะต้องมีหนังฟอร์มใหญ่ที่ได้รับความคาดหวังมหาศาล แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จทางรายได้เท่าที่ควร

 

  • Valerian and the City of a Thousand Planets โปรเจกต์ในฝันของผู้กำกับรุ่นใหญ่อย่างลุค เบซง ที่ลงทุนสร้างไป 200 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่กลับทำรายได้กลับมาเพียงแค่ 220 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกับรับมะเขือเน่าไปมากถึง 49%

 

  • Justice League การรวมตัวของเหล่าฮีโร่จากค่าย DC ที่แบกความกดดันไว้เต็มหลัง หลังจากที่ทีม Avengers จากค่ายมาร์เวล ทำออกมากี่ภาคก็ประสบความสำเร็จทั้งหมด ซึ่งการเปิดตัวครั้งนี้อาจจะไม่ได้เจ็บตัวในแง่ของรายได้เท่าไรนัก เพราะยังสามารถทำรายได้ทั่วโลกไปมากถึง 636 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในแง่คำวิจารณ์นั้นเรียกได้ว่าเจ็บจนจุก ไปกับคะแนนมะเขือเน่า 41% ถึงขนาดที่ผู้บริหารค่าย DC ต้องยกทีมโปรดักชันครั้งใหญ่ เพื่อพัฒนาภาคต่อไปอย่างเร่งด่วน

 

  • Power Rangers อีกหนึ่งหนังเจ็บที่แฟนบอยขบวนการ 5 สี ที่ทั้งโลกตื่นเต้นตั้งแต่วันแรกที่เห็นภาพโปสเตอร์ (บางส่วนก็ตื่นเต้นเพราะด่าคอสตูมกันไม่มีชิ้นดี) แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นอย่างหวัง หนังทำรายได้ไปแค่ 142 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ใช้ทุนสร้างไป 100 ล้านเหรียญสหรัฐ จนโครงการที่จะทำภาคต่อไปที่วางเอาไว้ต้องถูกเบรกเอาไว้ก่อนชั่วคราวทันที

 

ปรากฏการณ์หนังไทยที่ทรงๆ แต่น่าสนใจ

 

 

การเดินทางครั้งใหญ่ของฉลาดเกมส์โกง (นัฐวุฒิ พูนพิริยะ)

ต้องยกให้เป็นที่สุดของปรากฏการณ์หนังไทยในปีนี้แบบไร้ข้อสงสัย เพราะหลังจากทำรายได้ในประเทศไทยไป 112 ล้านบาท หนังก็ออกเดินทางไปกวาดรายได้จากต่างประเทศรวมทั้งเทศกาลหนังต่างๆ แบบถล่มทลาย

 

โดยสถิติทำรายได้รวมสูงสุดที่ประเทศไต้หวันไปมากถึง 120 ล้านบาท และทำสถิติเปิดตัวสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง Box Office ในฮ่องกง โดยทำรายได้ 6 ล้านเหรียญฮ่องกง (ประมาณ 25 ล้านบาท) ในการฉาย 3 วันแรกเท่านั้น และล่าสุดก็เพิ่งคว้ารางวัลภาพยนตร์ระทึกขวัญยอดเยี่ยม (Best Thriller Feature) จากเทศกาลหนัง Fantastic Fest 2017

 

Photo: sohucs.com

 

โดยเฉพาะในประเทศจีนที่บอกว่าประสบความสำเร็จที่สุด เพราะเพียงแค่วันแรกที่เข้าฉายก็กวาดรายได้ไปได้มากถึง 150 ล้านบาท และทำได้รวมที่ประเทศเดียวไปได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท แถมยังเกิดกระแสฟีเวอร์นักแสดงนำอย่าง นน-ชานน สันตินธรกุล ที่กลายเป็นสามีแห่งชาติคนใหม่ของประเทศจีน และ ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง ที่ถึงขนาดมีแฟนหนังชาวจีนปั้นรูปปั้นเทพเจ้าครูพี่ลิน เพื่อบูชาและขอพรในช่วงก่อนสอบกันเลยทีเดียว

 

เพื่อน..ที่ระลึก ฟอร์มดีแต่ไปไม่ถึงฝัน

ถือว่าพลิกความคาดหมายพอสมควร เมื่อหนังเรื่อง เพื่อน..ที่ระลึก จากค่าย GDH ของผู้กำกับ ลัดดาแลนด์ อย่าง จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ ที่ถูกคาดหวังว่าจะเป็นหนังร้อยล้านตามสไตล์ของ GDH แต่กลับทำรายได้ทั่วประเทศไปได้เพียง 34.70 ล้านบาทเท่านั้น

 

 

การฟื้นคืนชีพของ ‘แมลงรักในสวนหลังบ้าน’

หลังจาก Insects in the Backyard ของผู้กำกับกอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ถูกแบนด้วยเหตุผล ‘ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน’ ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551

 

ในที่สุดหลังการต่อสู้นานถึง 7 ปี กอล์ฟได้ฤกษ์กลับมาฉายอีกครั้งในวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่โรงภาพยนตร์ House RCA เพียงที่เดียว แต่น่าเสียดายที่แมลงรักตัวนี้มีโอกาสโบยบินได้เพียง 2 อาทิตย์เท่านั้น ก็ต้องจากโรงภาพยนตร์ไปอย่างรวดเร็วและน่าเสียดาย

 

 

ผู้กำกับภาพชาวไทยที่อยู่ใกล้รางวัลออสการ์มากที่สุด

สยมภู มุกดีพร้อม คือผู้กำกับภาพชาวไทยจากเรื่อง Call Me By Your Name หนังนอกกระแสที่หลายคนอาจไม่รู้จัก แต่ทำให้สื่อและนักวิจารณ์ระดับโลกมองว่าสยมภูจะกลายเป็นหนึ่งในตัวเต็งที่จะเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขากำกับภาพยอดเยี่ยมในปี 2017

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X