เคยทำของรักหายสักอย่างไหม
ถ้าจำความรู้สึกนั้นได้มันคงเริ่มจากความหงุดหงิด กังวล กระวนกระวาย ไล่ระดับไปจนถึงเกร็งลุ้นและอยากตามหาสิ่งนั้นให้พบ หนังเรื่องนี้จะทำให้คุณรู้สึกไม่ต่างจากนั้น
Searching เสิร์ชหา…สูญหาย คือหนังที่ว่าด้วยเรื่องของ เดวิด คิม (จอห์น โช) คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ใช้ชีวิตอยู่กับ มาร์โกต์ (มิเชล ลา) ลูกสาววัยรุ่นที่เพิ่งขึ้นมัธยมปลาย ทั้งคู่ติดต่อสื่อสารด้วยการส่งข้อความและเทคโนโลยีการเฟซไทม์เพื่ออัปเดตชีวิตความเป็นไปของกันและกันรายวัน คืนหนึ่งมาร์โกต์เฟซไทม์บอกกับพ่อว่าเธอจะไปติวหนังสือและค้างบ้านเพื่อน หลังจากนั้นพ่อก็ไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากลูกสาวอีก เวลาผ่านไป ความสงสัยค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเป็นความเครียดกังวล คิมจึงแจ้งความและได้รับความช่วยเหลือจาก วิค (เดบรา เมสซิง) ตำรวจฝ่ายสืบสวนที่ร่วมกันตามหามาร์โกต์จากเบาะแสที่มีอยู่น้อยนิด ทางเดียวที่สืบหาผู้เป็นลูกสาวได้คือโซเชียลมีเดียโลกจำลองอีกใบของมาร์โกต์ที่คิมไม่เคยรู้จักเลย
ยิ่งเสาะหาร่องรอยจากโซเชียลฯ เบาะแสและข้อสงสัยที่ค่อยๆ ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างทำให้คิมดูเหมือนจะเข้าใกล้จุดสุดท้ายที่ลูกสาวปรากฏตัวได้มากขึ้น และในท้ายที่สุดร่องรอยดิจิทัลต่างๆ ก็พาให้ทั้งคู่พบกับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง
Searching เสิร์ชหา…สูญหาย เล่นกับความรู้สึกของคนดูอยู่ตลอดเวลา เพราะหลักฐานที่เหมือนล่อไปทาง แต่สุดท้ายกลับเฉลยอีกทาง แต่แล้วก็พลิกแบบไม่ได้ให้คนดูเตรียมตัวตั้งแต่ต้น หนังจึงลุ้นสนุกอย่างที่หนังสืบสวนสอบสวนควรจะเป็น
นอกจากการเอาใจช่วยตัวโก่ง หนังยังทำหน้าที่เป็นเหมือนหนังครอบครัวที่คอยช่วยให้เราตั้งคำถามอยู่เป็นระยะว่า ในชีวิตประจำวันที่เราเห็นคนในครอบครัวจนชินตาว่าทุกคนปกติสุขธรรมดา แท้จริงแล้วเราอาจไม่เคยรู้ความรู้สึกจริงๆ ว่าเขารู้สึกอย่างที่แสดงออกจริงๆ หรือไม่ ความเอาใจใส่ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และปฏิบัติด้วยกันต่อหน้า อาจช่วยประคับประคองความรู้สึกที่บางครั้งเราอาจหลงลืม และเหมาเอาเองว่าไม่เป็นอะไรให้ลุผ่านไปได้ ซึ่งจุดนี้อาจทดแทนไม่ได้ด้วยโซเชียลมีเดียหรือความถี่ในการติดต่อใดๆ หากขาดความเข้าใจที่แท้จริง
ไม่เพียงแค่ประเด็นเรื่องครอบครัว Searching ยังแสดงให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียคือส่วนประกอบสำคัญของชีวิตมนุษย์ยุคปัจจุบัน ที่นอกจากจะทำหน้าที่เป็นที่พึ่งพา มันยังทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสะท้อนตัวตนได้เป็นอย่างดี หลายครั้งหลายหน ตัวตนที่แสดงออกในโซเชียลมีเดียอาจราวกับคนละคนกับโลกของความจริง หนังเลยชวนสะกิดความรู้สึกที่ว่า คนที่เรากำลังสื่อสารอยู่ในโลกจำลองนั้น แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร หรือเป็นเพียงด้านที่เขา ‘เลือก’ แล้วว่าต้องการให้เราเห็น
แม้แต่พฤติกรรมของชาวเน็ตที่เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งความเปิ่นเด๋อของผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าท่า การพาตัวเองไปอยู่ในกระแสอย่างอยากมีส่วนร่วม หรือหลืบในโลกจำลองที่ใครอยากจะสร้างสรรค์อะไรขึ้นมา ในหนังเรื่องนี้ก็ยังเสียดสีได้อย่างสมจริง จนบางครั้งก็อดที่จะเห็นตัวเองเป็นหนึ่งในนั้นไม่ได้
ที่สำคัญ Searching ยังชวนให้คิดว่าร่องรอยทางดิจิทัลต่างๆ ที่สร้างไว้ในโลกจำลอง มีทั้งประโยชน์และโทษ หากเรารู้จักเลือกใช้มันให้เป็น
ตลอดเวลาที่ชมหนังเรื่องนี้ เราในฐานะผู้ชมจะเห็นการนำเสนอภาพผ่านหน้าจอต่างๆ ทั้งหน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอกล้องวงจรปิด หน้าจอโทรศัพท์ หรือหน้าจอขณะสตรีมมิงสด ซึ่งทำให้คนดูที่ตกอยู่ในฐานะผู้จ้องมองได้กลับมาถามตัวเองว่า ขณะที่เราเสพสิ่งต่างๆ จากโซเชียลมีเดียและรู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวตรงหน้า ซึ่งไม่ต่างจากโลกดิจิทัลในปัจจุบันที่เราก็อาจแยกสิ่งที่เราเห็นเหล่านั้นไม่ออกว่าคือเรื่องจริงหรือลวงกันแน่
https://www.youtube.com/watch?v=dPMLu_OEVVs
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า