หลังจากเป็น Family Business มานาน 70 ปี และแถลงข่าวเตรียมติดนามสกุลมหาชนมาพักใหญ่ๆ พร้อมกับปรับโครงสร้างทางธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2560
ในที่สุด เครือเซ็นทรัล ได้เริ่มก้าวสำคัญโดย ‘เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น’ ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) ฉบับแรกต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมี บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ภายใน Filing ระบุว่า การเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จะแบ่งจำนวนหุ้นที่เสนอขายเป็น 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1. หุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 1,620,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1.0 บาท และ 2. หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Hawthorn Resources Limited จำนวนไม่เกิน 611,714,300 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.0 บาท ให้แก่ประชาชนทั่วไป
ภายหลังจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งหมดในครั้งนี้แล้ว บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะมีทุนชำระแล้วเป็นจำนวนไม่เกิน 6,320 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 6,320 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.0 บาท (บนสมมติฐานว่ามีการใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินทั้งจำนวน) สำหรับการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นที่มีนโยบายจ่ายในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิจากงบการเงินรวมภายหลังจากหักภาษี
สำหรับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ณ วันที่ 12 กันยายน 2562 ประกอบด้วย HCDS 45%, Hawthorn Resources Limited 13%, กลุ่มณรงค์ฤทธิ์และวันทนีย์ 2.1%, บุคคลอื่นๆ ในตระกูลจิราธิวัฒน์ 29.7% และ กรรมการ หรือ ผู้บริหาร 7.1% อันประกอบไปด้วย ปริญญ์ จิราธิวัฒน์, ทศ จิราธิวัฒน์, พิชัย จิราธิวัฒน์ และ สุทธิศักดิ์ จิราธิวัฒน์
ปัจจุบันธุรกิจของบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก 1. กลุ่มแฟชั่น มุ่งเน้นการจำหน่ายสินค้าเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ 2. กลุ่มฮาร์ดไลน์ เน้นการจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าตกแต่ง และปรับปรุงบ้าน 3. กลุ่มฟู้ด เน้นการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าที่มักพบได้ทั่วไปในร้านสะดวกซื้อ ปัจจุบันรายได้หลักมาจากกลุ่มฟู้ด รองลงมาเป็นกลุ่มฮาร์ดไลน์ สุดท้ายคือ กลุ่มแฟชั่น
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 มีร้านค้าในรูปแบบต่างๆ ในไทยจำนวน 1,912 ร้านค้า สำหรับเวียดนามมีร้านค้าในรูปแบบต่างๆ จำนวน 131 ร้านค้า โดยถือเป็นบริษัทค้าปลีกข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเวียดนาม แต่เมื่อนับรวมทั้งหมดจะเป็นอันดับสาม และในประเทศอิตาลี มีห้างสรรพสินค้าจำนวน 9 สาขา โดยถือเป็นผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศอิตาลี จากรายงานของ Euromonitor International เมื่อพิจารณาจากส่วนแบ่งทางการตลาด
ผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปีมีดังนี้ ปี 2559 รายได้ 176,281 ล้านบาท ปี 2560 รายได้ 187,998 ล้านบาท และ ปี 2561 รายได้ 206,078 ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือนแรกปี 2562 มีรายได้ 106,074 ล้านบาท
สำหรับโครงการในอนาคตนั้น ช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะใช้เงินลงทุนอีก 8,400 ล้านบาท และในปี 2563 อีกประมาณ 18,437 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกลงทุนขยายสาขาใหม่ แบ่งเป็น
– กลุ่มแฟชั่น: มีแผนที่จะดำเนินการขยายสาขาใหม่ของห้างโรบินสัน จำนวน 1 สาขา และ โรบินสัน ไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์ จำนวน 3 สาขา คิดเป็นรายจ่าย 1,241 ล้านบาท ในครึ่งหลังปี 2562 และ ปี 2563 อีก 2,555 ล้านบาท อีกทั้งมีแผนที่จะดำเนินการขยายสาขาของซูเปอร์สปอร์ต ทั้งในรูปแบบร้านค้าเฉพาะทาง และร้านค้า Brandshop อีก 42 สาขา และ Brandshop ของ CMG จำนวน 61 สาขา ซึ่งใช้เงินครึ่งหลังปี 2562 อีก 184 ล้านบาท และปี 2563 จำนวน 255 ล้านบาท
– กลุ่มฮาร์ดไลน์: มีแผนขยายสาขาใหม่ ประกอบด้วย ร้านค้าเพาเวอร์บาย จำนวน 9 สาขา ไทวัสดุ จำนวน 14 สาขา บ้านแอนด์บียอนด์ จำนวน 2 สาขา และเหงียนคิม ทั้งในรูปแบบร้านค้าเดี่ยวและร้านค้าภายในร้าน (Shop-in-Shop) จำนวน 35 สาขา วางงบลงทุน 883 ล้านบาทในครึ่งหลังปี 2562 และ ปี 2563 อีก 3,041 ล้านบาท
– กลุ่มฟู้ด: แผนขยายสาขาใหม่ประกอบด้วย ซูเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 20 สาขา ท็อปส์ เดลี่ จำนวน 12 สาขา แฟมิลี่มาร์ท จำนวน 67 สาขา บิ๊กซี เวียดนาม จำนวน 8 สาขา และลานชี มาร์ท จำนวน 8 สาขา ซึ่งใช้เงินครึ่งหลังปี 2562 อีก 1,395 ล้านบาท และปี 2563 จำนวน 4,207 ล้านบาท
ส่วนที่สองปรับปรุงสาขาต่างๆ ของแต่ละกลุ่มธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าครึ่งปีหลัง 2562 จะลงทุน 3,509 ล้านบาท ส่วนปี 2563 คิดเป็นเม็ดเงินทั้งสิ้น 5,745 ล้านบาท อย่างไรก็ตามกำหนดอย่างเป็นทางการในการขายหุ้น IPO รวมไปถึงวันจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังไม่ได้รับการเปิดเผย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: