×

ทำไมสหรัฐฯ ปฏิเสธแผนรับเครื่องบินรบจากโปแลนด์ เพื่อส่งต่อให้ยูเครน

10.03.2022
  • LOADING...
เครื่องบินรบ

ชาติตะวันตกกำลังเสาะหาออปชันต่างๆ ในการส่งความช่วยเหลือทางทหารไปยังยูเครนที่กำลังติดพันสงครามยืดเยื้อกับรัสเซียสู่สัปดาห์ที่ 3 โดยหนึ่งในนั้นคือโปแลนด์ที่ผุดแนวคิดส่งเครื่องบินขับไล่แบบ MiG-29 ไปให้ยูเครน ทว่าปัญหาติดอยู่ตรงที่โปแลนด์ไม่ต้องการส่งเครื่องบินไปให้ยูเครนเอง แต่จะส่งให้สหรัฐฯ เพื่อให้สหรัฐฯ ส่งให้ยูเครนอีกต่อหนึ่ง หรือทำในนามของ NATO

 

โปแลนด์อธิบายเหตุผลที่ต้องทำเช่นนั้นเพราะกังวลว่า การส่งเครื่องบินไปให้ยูเครนโดยตรงเพียงลำพัง หรือปราศจากการสนับสนุนจากพันธมิตร NATO จะสร้างความขัดแย้งกับรัสเซียโดยตรง

 

มาเตอุซ โมราเวียสกี นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ กล่าวว่า การตัดสินใจส่งเครื่องบินรบไปช่วยเองมีความสุ่มเสี่ยง ดังนั้นจึงต้องทำในนาม NATO ด้วยมติเอกฉันท์เท่านั้น 

 

โปแลนด์เป็นประเทศอดีตคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดใน NATO และสหภาพยุโรป (EU) โดยในประวัติศาสตร์เคยต่อสู้กับรัสเซียมายาวนาน นอกจากนี้โปแลนด์ยังมีพรมแดนติดกับยูเครน ซึ่งเสี่ยงเผชิญหน้ากับรัสเซียโดยตรง หากรัสเซียขยายขอบเขตสมรภูมิออกไปทางตะวันตก

 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เผยว่า วอชิงตันกำลังดูข้อเสนอของโปแลนด์ที่จะจัดหาเครื่องบินขับไล่ MiG-29 ในยุคโซเวียตของกองทัพอากาศโปแลนด์ให้แก่ยูเครน แต่แลกกับการที่สหรัฐฯ จัดหาเครื่องบินขับไล่แบบ F-16 ให้โปแลนด์ทดแทน

 

ต่อมาโปแลนด์ระบุว่า เตรียมส่งมอบเครื่องบินขับไล่ MiG-29 ทั้ง 28 ลำ แต่จะส่งให้ NATO ด้วยการนำเครื่องบินไปจอดที่ฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ในแรมสไตน์ ประเทศเยอรมนี จากนั้นค่อยส่งเครื่องบินจากที่นั่นไปให้ยูเครนอีกที

 

  • สหรัฐฯ ไม่เอาด้วย หวั่นเพิ่มความเสี่ยงทำให้สงครามขยายวง

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ปิดประตูใส่แผนของโปแลนด์แล้วเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (9 มีนาคม) 

 

จอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหม ได้หารือเรื่องข้อเสนอเคลื่อนย้ายเครื่องบินรบ MiG-29 จากโปแลนด์ไปยังยูเครนผ่านประเทศสมาชิก NATO แต่วอชิงตันไม่เห็นด้วย

 

เคอร์บีกล่าวว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังพูดคุยกับประเทศอื่นๆ เกี่ยวกับ ‘ทางเลือกอื่นๆ’ เพื่อสนับสนุนการป้องกันที่จำเป็นสำหรับยูเครน โดยเฉพาะการจัดหาอาวุธภาคพื้นดินเพื่อรับมือกับรถถังและเครื่องบินรัสเซีย เนื่องจากการสู้รบส่วนใหญ่อยู่บนพื้นดิน ซึ่งยุทโธปกรณ์สนับสนุนที่ว่านี้อาจประกอบด้วยขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ (Surface-to-air missile) และจรวดต่อสู้อากาศยานแบบประทับบ่า

 

ทั้งนี้การจัดส่งเครื่องบินไปให้ยูเครนมีนัยที่อาจถูกตีความถึงการเตรียมจัดตั้งหรือกำหนดเขตห้ามบินในน่านฟ้ายูเครน ซึ่งเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีของยูเครนเรียกร้องมาตลอด เพื่อปกป้องชีวิตประชาชนจากการตกเป็นเป้าโจมตีทางอากาศของรัสเซีย แต่ข้อเรียกร้องนี้ถูกสหรัฐฯ และ NATO ปฏิเสธ เพราะการกำหนดเขตห้ามบินนั้นเท่ากับการเข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งทางทหารระหว่างรัสเซียกับยูเครนโดยตรง

 

เคอร์บีอ้าง 3 เหตุผลที่ออสตินปฏิเสธข้อเสนอของโปแลนด์ โดยข้อแรก สหรัฐฯ มองว่ามันจะเป็นการดีกว่าหากสหรัฐฯ จัดหาอาวุธที่ช่วยเสริมสร้างการป้องกันของยูเครนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เช่น ระบบป้องกันภัยทางอากาศและระบบต่อต้านยานเกราะ เขาชี้ว่า ถึงแม้กองทัพอากาศรัสเซียจะมีขนาดใหญ่กว่ากองทัพอากาศของยูเครนมาก แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้รับบทนำในการบุกยูเครนรอบนี้ อีกทั้งการโจมตีทางอากาศของรัสเซียก็มีประสิทธิภาพที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากยูเครนใช้ระบบป้องกันภัยทางอากาศภาคพื้นดินได้ดี เช่น จรวดต่อสู้อากาศยาน Stinger

 

ข้อสอง เคอร์บีระบุว่า ยูเครนยังมีเครื่องบินของตนเองในจำนวนที่เพียงพอ ซึ่งสหรัฐฯ เชื่อว่าการให้เครื่องบินเพิ่มไม่น่าจะช่วยเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพของกองทัพอากาศยูเครนอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับขีดความสามารถของรัสเซีย

 

ข้อสุดท้าย หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ประเมินว่า การส่งเครื่องบินขับไล่ MiG ไปให้ยูเครน อาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นการยกระดับความขัดแย้ง และอาจเกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากฝั่งรัสเซีย ซึ่งจะทำให้เกิดการเผชิญหน้าทางหทารกับ NATO ซึ่งเคอร์บีระบุว่า ยูเครนไม่ใช่สมาชิก NATO แต่เพื่อนบ้านของยูเครนหลายประเทศเป็นรัฐ NATO ซึ่งองค์การพันธมิตรทางทหารดังกล่าวพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สงครามลุกลามไปยังประเทศอื่น

 

แต่นอกจากสหรัฐฯ แล้ว การส่งเครื่องบินรบไปให้ยูเครนยังต้องผ่านความเห็นชอบจากเยอรมนีด้วย เพราะเยอรมนีขายเครื่องบินขับไล่ MiG-29 ให้โปแลนด์จำนวน 22 ลำในปี 2003 และ 2004 ซึ่งมีเงื่อนไขว่าโปแลนด์ต้องขออนุมัติจากเยอรมนีหากจะส่งต่อเครื่องบินให้ยูเครน

 

โดยเยอรมนีเองก็ต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบในเรื่องนี้ เพราะเบอร์ลินเคยประกาศจุดยืนห้ามการส่งออกอาวุธไปยังพื้นที่ที่มีสงคราม สืบเนื่องจากปมประวัติศาสตร์ที่เยอรมนีเคยก่อสงครามในยุโรปในสมัยฮิตเลอร์ในช่วงศตวรรษที่ 20 

 

  • บทบาทของโปแลนด์ที่อาจยังไม่จบ

สำหรับโปแลนด์นั้นเป็นพันธมิตรสำคัญในวิกฤตการณ์ยูเครนครั้งนี้ โดยนอกจากมีทหารอเมริกันประจำการอยู่หลายพันนายแล้ว โปแลนด์ยังเปิดรับผู้ลี้ภัยจากยูเครนที่อพยพหนีสงครามมากกว่าประเทศอื่นๆ

 

ในประวัติศาสตร์หลายร้อยปี โปแลนด์ถูกทหารรัสเซียรุกรานและยึดครองหลายครั้ง และปัจจุบันยังคงหวาดระแวงรัสเซียอยู่เสมอ แม้ว่าจะเป็นสมาชิก NATO แล้วก็ตาม โดยโปแลนด์มีความห่วงพะวงหลังบ้าน เนื่องจากมีดินแดนคาลินินกราดของรัสเซียที่ประชิดพรมแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นดินแดนกว้างใหญ่ยาว 100 กิโลเมตรคั่นระหว่างโปแลนด์กับลิทัวเนีย หรือที่เรียกว่า ‘Suwalki Gap’ ซึ่งโปแลนด์เคยเตือนว่าเป็น ‘จุดบอด’ ของ NATO นอกจากนี้โปแลนด์ยังกังวลกับการเคลื่อนทัพของรัสเซียผ่านชายแดนเบลารุสทางภาคตะวันออกด้วย

 

น่าจับตาต่อว่า หลังจากแผนของโปแลนด์ถูกปฏิเสธแล้ว พวกเขาจะมีข้อเสนออะไรอื่นตามมากับบทบาทเชิงรุกในวิกฤตการณ์ยูเครนครั้งนี้ ขณะที่ทุกความเคลื่อนไหวของ NATO นั้นจะอยู่ในเรดาร์ของรัสเซียตลอด เพราะการขยับของ NATO อาจพลิกโฉมหน้าของสงครามครั้งนี้

 

แฟ้มภาพ: เครื่องบินขับไล่ MiG-29 ของกองทัพอากาศโปแลนด์ ขณะบินผาดแผลงในงาน Radom Air Show ประเทศโปแลนด์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2013 (Kacper Pempel / Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X