×

จากแม่พิมพ์บนแผ่นกระดาษ สู่การพิชิตบราซิลของเบลเยียม

07.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • ความตกต่ำของวงการฟุตบอลเบลเยียม ทำให้ มิเชล ซาบอน ผู้อำนวยการเทคนิคของสมาคมฟุตบอลเบลเยียม ตัดสินใจจะทำอะไรสักอย่างเพื่อให้พวกเขาสู้กับชาติมหาอำนาจได้
  • แม่พิมพ์ของ ซาบอน เกิดจากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับชาติที่ประสบความสำเร็จอย่าง ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์ แล เยอรมนี
  • จากวันเวลาของความยากลำบากในช่วงแรก ผลงานของเบลเยียมเริ่มดีขึ้นในระดับเยาวชน ซึ่งเยาวชนในวันนั้นอย่าง เอเดน อาซาร์, มารูยาน เฟลไลนี, แว็งซ็องต์ กอมปานี คือสตาร์ในวันนี้
  • ชัยชนะของพวกเขาจะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ทุกชาติบนโลกใบนี้  ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ หากเราตั้งใจและจริงใจกับมันมากพอ

18 ปีที่แล้ว เบลเยียม ได้ร่วมกับเนเธอร์แลนด์ ในการจัดการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2000 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีเจ้าภาพร่วมในมหกรรมกีฬาฟุตบอล

 

ตามวิสัยของมหกรรมกีฬาเช่นนี้ ชาติเจ้าภาพก็มักจะเต็มที่กับการแข่งขันเป็นพิเศษ เพราะความสำเร็จในการแข่งขันนั้นผกผันกับความสุขของคนทั้งชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อให้ไม่เป็นผู้ชนะการแข่งขัน แต่ก็ควรจะสู้กับชาติอื่นๆ ได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

 

เบลเยียม เริ่มต้นทัวร์นาเมนต์ได้ดีกับชัยชนะนัดแรกเหนือสวีเดน 2-1 แต่หลังจากนั้นเมฆหมอกแห่งความเศร้าได้ปกคลุมไปทั่ว เมื่อพวกเขาต้องเจอกับความจริงว่าทีมชาติของพวกเขาอ่อนแอแค่ไหนด้วยการแพ้ต่ออิตาลีและตุรกี ก่อนตกรอบไปแบบเหงาๆ

 

งานฉลองที่ควรจะยาวนานกว่านั้นสำหรับชาวเบลเยียมได้จบลงตรงนั้นเอง

 

2 ปีถัดมาพวกเขาตั้งใจเป็นพิเศษที่จะกลับมาทำให้ดีกว่าเดิมในฟุตบอลโลก 2002 ที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฟุตบอลโลกครั้งแรกในเอเชียและเป็นฟุตบอลโลกครั้งแรกที่ใช้โมเดลเจ้าภาพร่วมเหมือนกับพวกเขาและเนเธอร์แลนด์

 

ครั้งนี้เหมือนจะทำได้ดีกว่าที่ผ่านมาเมื่อพวกเขาผ่านรอบแรกไปได้ แต่เมื่อต้องเจอกับ บราซิล ที่มีนักเตะอย่างโรนัลโด, ริวัลโด, โรนัลดินโญ, กาก้า, โรแบร์โต คาร์ลอส, คาฟู มันยากเกินกว่าที่ เอมิล เอ็มเพ็งซา หัวหอกตัวความหวังของทีมในเวลานั้น หรือ มาร์ก วิลมอตส์ กัปตันทีมที่โรยราเต็มทีจะนำทีมต้านทานไหว สุดท้ายพวกเขาก็ถูกหยุดเส้นทางเอาไว้แค่ตรงนั้น

 

เบลเยียม ไม่ได้เป็น ‘ปีศาจแดงแห่งยุโรป’ เหมือนในวันวานที่เคยทำได้ถึงการเข้าชิงฟุตบอลยูโร 1980 และเคยเป็นทีมที่แข็งแกร่งระดับต้นๆ ของยุโรป ต่อกรกับ ดิเอโก มาราโดนา และทีมชาติอาร์เจนตินา ได้อย่างสนุกในฟุตบอลโลก 1986

 

ไม่มียอดนักเตะอย่าง เอ็นโซ ซีโฟ, ฌอง-มารี พัฟฟ์ และ มิเชล พรูดอม คนใหม่ในเบลเยียม

 

นักฟุตบอลดาวรุ่งในเบลเยียมที่ดีที่สุดกระจัดกระจายไปเล่นในลีกระดับรองของยุโรป ขณะที่ จูปิแลร์ โปร ลีก ลีกฟุตบอลอาชีพของพวกเขาก็ไม่ได้เป็นเวทีค้นฟ้าคว้าดาวสำหรับนักฟุตบอลเยาวชนเหมือนในอดีตอีกต่อไป

 

ในวันเวลาของความเจ็บปวด บุญรักษาสำหรับชาวเบลเยียม ที่พวกเขามีคนที่มีวิสัยทัศน์ และมีความตั้งใจในการจะปลุกให้วงการฟุตบอลเบลเยียมกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง แม้ว่าในวันเวลานั้นมันเป็นเรื่องที่แทบจะไม่มีทางเป็นไปได้เลยก็ตาม

 

มันคือ Mission Impossible แห่งชีวิตของ มิเชล ซาบอล ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของสมาคมฟุตบอลเบลเยียม

 

สิ่งที่ ซาบอน ทำคือนั่งเงียบๆ ค่อยๆ คิด ก่อนจะจดบันทึกลงบนกระดาษแผ่นหนึ่ง

 

บันทึกนั้นว่าเอาไว้ด้วยสิ่งที่ เบลเยียม จำเป็นต้องทำเพื่อให้ทีมชาติของพวกเขาสามารถต่อสู้กับทีมระดับท็อปได้

 

จากกระดาษแผ่นนั้น ซาบอน นำมาพูดคุยต่อกับฝ่ายเทคนิคของทีมชาติ ก่อนได้ข้อสรุปและผลิตต่อเป็นโบรชัวร์หนึ่งแผ่นที่มีแผนสำหรับ 3 กลุ่มเป้าหมายสำคัญ

 

อย่างแรกคือสโมสร อย่างที่สองคือทีมชาติ และอย่างที่สามคือโค้ชตามโรงเรียน

 

ทั้ง 3 กลุ่มนี้ มีการขีดเส้นให้อย่างชัดเจนในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และทุกกลุ่มจะเดินไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด

 

ซาบอน ขอให้ทุกกลุ่มเล่นฟุตบอลในระบบ 4-3-3 โดยมีปีกสองข้าง กองกลางสามตัว และการเล่นกองหลังแบบ Flat Back Four หรือกองหลัง 4 คนยืนเรียงหน้ากระดาน

 

สิ่งที่เขาร้องขอไปนั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาหรือทีมคิดค้นตามลำพัง หากแต่เกิดจากการไปขอองค์ความรู้จากชาติที่ประสบความสำเร็จมาก่อนอย่างฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์ หรือเยอรมนี ซึ่งมีการนัดประชุมกับแต่ละชาติปีละ 2 ครั้ง

 

ในช่วงแรกทุกอย่างเป็นไปด้วยความลำบาก เพราะระบบ 4-3-3 เป็นของใหม่สำหรับฟุตบอลเบลเยียม และไม่ใช่ทุกคนจะยอมรับในเรื่องนี้ได้ในทันที เนื่องจากในแต่ละทีมไม่ว่าจะเป็นสโมสรระดับอาชีพหรือทีมโรงเรียน สิ่งที่พวกเขาคำนึงถึงคือผลของการแข่งขัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ซาบอน มองว่าเป็นเรื่องผิด โดยเฉพาะหากอยากจะพัฒนาวงการฟุตบอลอย่างยั่งยืน

 

ซาบอน ร้องขอให้บันทึกเทปการแข่งขันในเกมระดับเยาวชนจำนวน 1,500 นัด และวิเคราะห์ทั้งหมด ซึ่งมันทำให้เห็นว่าพวกเขาพยายามที่จะชนะมากเกินไปในเกมระดับเยาวชน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือสมาคมฟุตบอลเบลเยียม ขอความร่วมมือในการจำกัดการแข่งขันในกลุ่มเด็กเล็กให้เล่นในประเภท 5×5 คน และ 7×7 คนในรุ่นที่โตขึ้นมา และชะลอการผลักดันให้เล่นสนามใหญ่ให้ช้าที่สุด

 

แต่ในฟุตบอลระดับเยาวชนทีมชาติ พวกเขาขอให้ผลักดันเด็กดาวรุ่งที่มีพรสวรรค์ให้ขึ้นชั้นไปเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ต่อให้จะเสี่ยงต่อโอกาสในการประสบความสำเร็จของทีม

 

ผลลัพธ์ของมันคือประกายแห่งความหวัง ในปี 2007 ทีมเยาวชนรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปีที่มี เอเดน อาซาร์ และคริสเตียน เบนเตเก สามารถผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศในการแข่งขันชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเบลเยียม และในปีถัดมาผลงานของเบลเยียม ในโอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งมีนักเตะอย่าง แวงซองต์ กอมปานี และ มารูยาน เฟลไลนี ก็ถือว่าน่าประทับใจ

 

นั่นเป็นรางวัลของความพยายามซึ่งต้องใช้เวลา 5-6 ปี กว่าที่สิ่งที่ซาบอนพยายามนำเสนอจะเริ่มได้รับการยอมรับ ทุกคนเริ่มเห็นว่ามันได้ผล และมันทำให้นักฟุตบอลของพวกเขาเล่นได้ดีขึ้น

 

และมาถึงวันนี้ เบลเยียม ได้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองของพวกเขา ซึ่งเกิดขึ้นจากความพยายาม ความอดทน และความแน่วแน่ที่จะทำให้ได้

 

ชัยชนะเหนือ บราซิล ในเกมที่ คาซาน อารีนา – สังเวียนที่เป็นดัง ‘หลุมศพ’ ของมหาอำนาจในวงการฟุตบอลอย่าง เยอรมนี, อาร์เจนตินา และบราซิล 3 ชาติที่เป็นเจ้าของแชมป์ฟุตบอลโลกรวมกันถึง 11 สมัย จาก 21 สมัยที่ต้องตกรอบที่สนามแห่งนี้ – เป็นชัยชนะที่เป็นดังการตอกย้ำถึงความพยายามตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาของชาวเบลเยียม

 

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เบลเยียม เผชิญหน้ากับกำแพงสูงใหญ่ของความคาดหวังว่าชาติเล็กๆ ที่มีจำนวนประชากรแค่ 11 ล้านคน และไม่เคยมีประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ในทางลูกหนังจะสามารถเทียบชั้นกับชาติมหาอำนาจตัวจริงได้หรือไม่

 

โดยเฉพาะกับ บราซิล ชนชาติที่เกิดมาพร้อมกับพรจากคนบนฟ้าให้เก่งกาจในเชิงลูกหนังโดยแทบไม่จำเป็นต้องใช้ความพยายามใดๆ

 

แชมป์โลก 5 สมัย เป็นชาติที่มีชีวิตอยู่ในจิตวิญญาณ พวกเขามีปรัชญาการดำรงชีวิตที่เรียกว่า Ginga ซึ่งสอดคล้องเข้ากับสไตล์การเล่นฟุตบอลของพวกเขาได้เป็นอย่างดี และนั่นทำให้ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยไหน บราซิล ยังคงเป็นชาติที่น่าเกรงขามเสมอในฟุตบอลโลก

 

ในฟุตบอลโลก 2018 บราซิล อยู่ภายใต้การนำของโค้ชฝีมือดีอย่าง ติเต มีซูเปอร์สตาร์เอกอย่าง เนย์มาร์ และมีขุนพลระดับชั้นยอดเต็มทีม นอกจากนี้ยังแก้ปัญหาที่เป็นจุดบอดของพวกเขาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาในเรื่องเกมรับได้อย่างน่าประทับใจ

 

แต่ เบลเยียม แสดงให้เห็นตลอดการต่อสู้ 90 นาทีว่าในเวลานี้พวกเขาดีไม่แพ้บราซิล

 

ความคล่องแคล่วของ เอเดน อาซาร์ ความแข็งแกร่งของ โรเมลู ลูกากู และวิสัยทัศน์ในการเล่นของ เควิน เดอ บรอยน์ สร้างปัญหาให้แก่นักเตะบราซิลได้ตลอดทั้งเกม

 

สิ่งสำคัญกว่าฝีเท้าคือเรื่องของหัวจิตหัวใจ ซึ่งนักเตะในชุดแดงเพลิงแสดงให้เห็นว่าใจพวกเขาใหญ่ไม่แพ้โคตรทีมอย่างบราซิลอีกแล้ว

 

หลังการขึ้นนำ 2-0 ใน 45 นาทีแรก ตลอด 45 นาทีหลังของเกมการแข่งขันพวกเขาต้องเผชิญกับพายุโหมกระหน่ำของเหล่าขุนพล ‘กานารินโญ’ ที่แสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพของชาติมหาอำนาจทางเกมลูกหนัง

 

หากเป็นทีมอื่นเจอบราซิล ถล่มหนักขนาดนี้มีอันกระเจิงไปแล้ว

 

แต่เบลเยียมสู้ด้วยใจ สามารถต้านทานได้จนหมดเวลา และได้รับชัยชนะที่งดงามที่สุด

 

ชัยชนะที่เป็นดังรางวัลเหนือจินตนาการของชาติเล็กๆ แต่มีความฝันที่ยิ่งใหญ่

 

ชัยชนะที่เป็นบทพิสูจน์ของการทำงานหนัก การวางแผนงานอย่างเป็นระบบ และการทำงานอย่างมีวิสัยทัศน์

 

และชัยชนะที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ทุกชาติบนโลกใบนี้  ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ หากเราตั้งใจและจริงใจกับมันมากพอ

 

แน่นอนว่าเส้นทางสำหรับเบลเยียมยังไม่จบ พวกเขามีสิ่งที่ต้องทำต่อในฟุตบอลโลกหนนี้ เพียงแค่นับจากนี้จะไม่มีอะไรที่พวกเขาต้องกังวลหรือสงสัยในตัวเองอีกต่อไป

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising