หลังผ่านการช่วงชิงมายาวนานกว่า 31 วัน และการขับเคี่ยวที่ดุเดือดจาก 32 ชาติจนเหลือเพียง 2 ทีม ในที่สุดคืนนี้ (15 ก.ย.) โลกทั้งใบก็จะได้ทราบกันแล้วว่าฝรั่งเศสหรือโครเอเชีย ชาติใดจะประกาศศักดาชูถ้วยแชมป์ฟุตบอลโลก 2018 ณ สนามลุซนิกิ สเตเดียมในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย
ว่ากันตามตรงก่อนที่ทัวร์นาเมนต์จะเริ่มขึ้น ทั้ง 2 ทีมไม่ได้เป็นแคนดิเดตลำดับต้นๆ ที่สื่อทุกสำนักเชื่อว่าจะได้เข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกปีนี้เลยด้วยซ้ำ ฝั่งฝรั่งเศสแม้จะเป็น 1 ใน 8 ทีมเต็ง แต่ทำผลงานในเกมนัดอุ่นเครื่องได้น่าผิดหวังจนแฟนๆ อดรนทนไม่ไหวไล่โห่ใส่นักเตะกันระงม
ฝรั่งเศสว่าแย่แล้ว โครเอเชียยิ่งแล้วใหญ่ แม้จะมีตัวผู้เล่นอยู่ในสโมสรชั้นนำของยุโรปเป็นจำนวนมาก แต่ในรายการใหญ่ๆ พวกเขากลับไม่เคยสร้างชื่อหรือผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันได้เลยหลังจบอันดับที่ 3 ในฟุตบอลโลกตั้งแต่ปี 1998
แต่เมื่อทัวร์นาเมนต์เริ่มขึ้น ทัพโครแอตก็หักปากกาเซียนทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่ม ฝ่าฟันอุปสรรคใหญ่ๆ มานานัปการจนผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ
THE STANDARD รวบรวมเหตุผลที่จะทำให้ผลงานในปีนี้ของโครเอเชียกลายเป็นดั่งเทพนิยาย พร้อมส่งให้ชาติเล็กๆ ที่มีประชากรเพียง 4.5 ล้านคนร่วมแรงร่วมใจกันจนคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกสมัยแรกของประเทศได้สำเร็จ
1. เลือดนักสู้ที่ข้นคลั่ก ก้มหน้าก้มตาเล่นไม่ย่อท้อจนกว่าจะสิ้นเสียงนกหวีด
ตั้งแต่รอบ 16 ทีมสุดท้ายเป็นต้นมา โครเอเชียเป็นทีมเดียวที่ถูกคู่แข่งขึ้นนำก่อนทั้ง 3 นัด แต่กลับพลิกสถานการณ์จนเป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ทั้ง 3 นัด ไล่ตั้งแต่นัดที่เจอกับเดนมาร์กในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ที่ถูกขึ้นนำไปก่อนตั้งแต่นาทีที่ 1 แต่ มาริโอ มานด์ซูคิช ก็มายิงประตูตีเสมอในนาทีที่ 4 ก่อนต่อเวลาพิเศษและเอาชนะการดวลจุดโทษไปได้ในที่สุด
ต่อมาในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ก็ถูก เดนิส เชรีเชฟ ปีกฟอร์มเด็ดจากชาติเจ้าภาพ รัสเซียยิงให้ทีมขึ้นนำก่อนในนาทีที่ 31 แต่พวกเขาก็พลิกสถานการณ์จนยิงขึ้นนำ 2-1 ได้สำเร็จ แม้จะพลาดท่าถูกตีเสมอในช่วงท้ายเกม แต่ก็ยังเป็นฝ่ายเอาชนะการดวลจุดโทษไปได้เช่นเคย
เข้าสู่รอบรองชนะเลิศ หัวจิตหัวใจที่แข็งแกร่งของขุนพลทัพโครแอตทั้ง 22 คนก็ยังส่งผลให้พวกเขาพลิกแซงอังกฤษในช่วงต่อเวลาพิเศษนาทีที่ 109 ได้สำเร็จ จนเอาชนะ 2-1 เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แม้จะถูก คีแรน ทริปเปียร์ ปั่นฟรีคิกให้ทรีไลออนส์ขึ้นนำไปตั้งแต่ 5 นาทีแรกของเกมก็ตาม
การกรำศึกหนัดติดต่อกัน 360 นาทีใน 3 แมตช์แม้จะดูเป็นข้อเสียเปรียบของพวกเขาเมื่อเทียบกับฝรั่งเศสที่เล่นน้อยกว่าที่ 270 นาทีทั้ง 3 นัด แต่สิ่งเหล่านี้ก็พอจะพิสูจน์ให้เห็นถึงเลือดนักสู้ของนักฟุตบอลทีมชาติโครเอเชียได้เป็นอย่างดี
เมื่อใดก็ตามที่กรรมการยังไม่เป่านกหวีดจบเกมและเข็มนาฬิกายังเดินไปไม่ถึงนาทีที่ 90 ผู้เล่นทุกคนพร้อมจะวิ่งพล่านสู้สุดใจเพื่อบันดาลชัยให้ทีม ไม่มีใครท้อหรือมีน้ำตาออกมาให้เห็นแม้แต่หยดเดียว นี่คือวิถีนักสู้แบบโครเอเชียที่ทำให้พวกเขาได้ใจแฟนบอลทั่วโลกไปเต็มๆ
2. ยุคทองของโครเอเชีย
ฟุตบอลโลกหนนี้ ทีมที่ถูกขนานนามว่าเป็นทีมยุคทองคือเบลเยียม ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วโครเอเชียชุดนี้ก็มีคุณสมบัติดีพอจะเป็น ‘Golden Generation’ ชุดที่ดีที่สุดในวงการลูกหนังของประเทศต่อจากชุดที่คว้าอันดับ 3 เมื่อปี 1998 ที่นำโดย ดาวอร์ ซูเคอร์ ไม่แพ้กัน
ไล่เลียงตั้งแต่ผู้รักษาประตูสุดหนึบจากโมนาโก ดานิเยล ซูบาซิช ที่โชว์ฟอร์มเซฟกระจุยกระจายตลอดทัวร์นาเมนต์ แผงหลัง 4 คน ซิเม เวอร์ซัลจ์โก, เดยัน ลอฟเรน, โดมาโกจ์ วิด้า และ อิวาน สตรินิช เล่นเข้าขากันประหนึ่งว่านำป้อมปราการ Revelin มาตั้งที่รัสเซีย
ส่วน ลูกา โมดริช, อีวาน ราคิติช และ มาร์เซโล โบรโซวิช ก็สอดประสานควบคุมจังหวะรับส่งในแดนกลางได้อย่างมีไดนามิก เต็มไปด้วยพลัง พร้อมด้วยการสอดแทรกของ มาเตโอ โควาซิช ที่เติมเต็มช่องว่างเมื่อใครคนหนึ่งขาดหายไปได้เสมอ
เรื่อยมาจนถึงเกมรุก นักเตะอย่างมานด์ซูคิช, อีวาน เปริซิช หรือ อันเต้ เรบิช ไม่ได้มีดีแค่การจบสกอร์และหาจังหวะทำประตูให้กับทีม แต่เมื่อต้องช่วยเล่นเกมรับ ทั้ง 3 คนก็ทำหน้าที่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
แม้จะลงเล่นฟุตบอลโลกหนนี้ด้วยตัวผู้เล่น 22 คน (นิโคลา คาลินิช ถูกส่งตัวกลับบ้านระหว่างฟุตบอลโลกตั้งแต่เกมนัดแรกจบ!) แต่ทั้ง 22 ชีวิตของโครเอเชียก็เป็นนิยามของคำว่า ‘คุณภาพ’ ล้วนๆ
3. ลูกา โมดริช
ถึงผู้เล่นทุกคนจะช่วยกันมุ่งมั่นทำหน้าที่ของทีมจนโครเอเชียผ่านเข้ามาถึงรอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามิดฟิลด์วัย 32 ปีจากสโมสรเรอัล มาดริดคือหัวใจสำคัญ ผู้เล่นคีย์แมน มันสมอง และทุกๆ อย่างของทีม!
ตลอด 6 นัดในทัวร์นาเมนต์ โมดริชเป็นผู้เล่นในตำแหน่งเอาต์ฟิลด์ที่ลงเล่นในสนามนานที่สุดด้วยระยะเวลา 604 นาที เป็นดาวซัลโวสูงสุดร่วมของทีมที่ 2 ประตูและจ่ายให้เพื่อนยิงได้ 1 ประตู รวมถึงทำสถิติวิ่งได้มากที่สุดในฟุตบอลโลกหนนี้ที่ 63 กิโลเมตร (ไม่นับรอบชิงชนะเลิศ) หมายความว่าใน 1 เกม เขาจะวิ่งเฉลี่ยมากถึง 10.5 กิโลเมตร
จะให้เล่นเกมรุกหรือเกมรับ โมดริชไม่เคยเกี่ยง เขาพร้อมวิ่งไล่บอล คอยคุมจังหวะเกมพร้อมๆ ไปกับการสร้างสรรค์จังหวะการทำประตูให้ทีมได้เสมอ โดยเฉพาะในนัดที่เจอกับรัสเซียช่วงต่อเวลาพิเศษ ขณะที่เพื่อนร่วมทีมหรือคู่แข่งดูเหมือนจะ ‘หมด’ เพราะความล้า แต่โมดริชยังวิ่งปร๋อสปรินต์ไปเอาบอลแซงหน้าคนอื่นได้หน้าตาเฉย
ไม่น่าเชื่อว่าพลังเหลือขนาดนี้ อีก 2 เดือนโมดริชก็จะอายุ 33 ปีแล้ว และการเก็บชัยชนะพร้อมรับถ้วยฟุตบอลโลกหนนี้เป็นคนแรกในฐานะกัปตันทีม ก็น่าจะเติมเต็มความสำเร็จในอาชีพการค้าแข้งของเขาได้เป็นอย่างดี
4. เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม
การผ่านเข้ามาถึงรอบชิงชนะเลิศไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นอกจากจะต้องอาศัยปัจจัยด้านความสามารถ สภาพร่างกายที่ดีเยี่ยม และใจที่ไม่ย่อท้อแล้ว ‘ดวง’ และโชคชะตาก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน
เราถึงได้เห็นมิดฟิลด์คู่หูในแดนกลางของโมดริชอย่างราคิติชออกมาบอกว่า เขายอมแลกทุกอย่าง ขอแค่ให้ได้แชมป์ฟุตบอลโลกหนนี้มาครอง แม้จะต้องแขวนสตั๊ดในวัย 30 ปีก็ตาม
“ผมยอมแขวนสตั๊ดวันจันทร์นี้เลยก็ได้นะ ถ้านั่นเป็นราคาที่ผมต้องจ่ายเพื่อให้ประเทศผมโครเอเชียชนะ” เขาให้สัมภาษณ์
ไม่ใช่แค่ราคิติชเท่านั้นที่พร้อมจะสู้ทุ่มเทเล่นถวายหัวเหมือนที่เขาพูด เพราะผู้เล่นส่วนใหญ่ในทีมชุดนี้ก็อยู่ในช่วงวัยใกล้บั้นปลายอาชีพการค้าแข้งด้วยกันทั้งสิ้น ค่าเฉลี่ยอายุในทีมสูงถึง 28 ปี มากกว่าคู่แข่งอย่างฝรั่งเศสถึง 2 ปี
หมายความว่าฟุตบอลโลกในครั้งนี้อาจจะเป็นฟุตบอลโลกหนสุดท้ายในอาชีพการค้าแข้งของผู้เล่นในทีมโครเอเชียหลายๆ คน เพราะฉะนั้นทุกคนย่อมต้องคว้าโอกาสทองครั้งนี้และใส่เต็มที่สุดเพื่อที่จะไม่ต้องมานั่งเสียดายภายหลัง
5. แชมป์โลกสมัยแรกในประวัติศาสตร์ประเทศ
สถิติที่ดีที่สุดของทีมชาติโครเอเชียในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายคือการคว้าอันดับที่ 3 มาครองได้ในปี 1998 ซึ่งเป็นปีแรกที่พวกเขาลงเล่นในชื่อ ‘โครเอเชีย’ อย่างเป็นทางการ หลังแยกตัวออกจากยูโกสลาเวียเดิม
ส่วนฟุตบอลโลกหลังจากนั้นเป็นต้นมาของโครแอตก็จอดตายที่รอบแบ่งกลุ่มมาตลอด ฝั่งทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลยูโรก็ไปได้ไกลที่สุดในรอบก่อนรองชนะเลิศ (1996, 2008)
รอบชิงชนะเลิศในฟุตบอลโลกปีนี้ของโครเอเชียจึงสำคัญมากๆ ไม่ใช่กับแค่โค้ช ทีมงานและตัวผู้เล่น แต่นี่คือชัยชนะและเกียรติยศที่มีความหมายและจะถูกจารึกไว้ในความทรงจำของคนโครเอเชียทั้งประเทศไปตลอดกาล
พวกเขาจะสร้างมรดกแห่งความภูมิใจและส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับนักฟุตบอลรุ่นใหม่ได้ซึมซับพร้อมก้าวขึ้นมาทดแทนในภายภาคหน้าได้ไหม เราจะได้รู้กัน
Photo: Reuters