วันนี้ที่มหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 เดินทางมาจากแดนไกลจากประเทศบราซิล เมื่อปี 2014 หรือ 4 ปีที่ผ่านมา โลกของฟุตบอลได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ทั้งนักเตะที่แจ้งเกิดใหม่ในวงการ และทีมชาติมหาอำนาจอย่างอิตาลี แชมป์โลก 4 สมัย และเนเธอร์แลนด์ที่ดับหายไปจากเวทีในระดับนี้
แต่สิ่งสำคัญที่สุดทางด้านเทคโนโลยีของการแข่งขันที่ 4 ปีที่ผ่านมาได้เก็บเกี่ยวบททดสอบในลีกชั้นนำต่างๆ ในยุโรปและนำมาใช้ คืออุปกรณ์ที่เราเรียกกันว่า VAR หรือ Video Assistant Referee ระบบการตัดสินโดยใช้ภาพรีเพลย์หรือไฮไลต์การแข่งขัน โดยใช้ทีมงานประจำอยู่หน้าจอโทรทัศน์สื่อสารกับผู้ตัดสินที่ 1 กลางสนามมาเข้าร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับมหกรรมฟุตบอลโลกครั้งนี้ที่ประเทศรัสเซีย
VAR ทำงานอย่างไรในศึกฟุตบอลโลก 2018
ตามความเข้าใจกันก่อนหน้านี้ว่า VAR คือการรีเพลย์เหตุการณ์ต่างๆ มาช่วยให้กรรมการผู้ตัดสินที่ 1 ในสนามที่นอกจากจะมี Goal Line มาช่วยบ่งบอกว่าเป็นประตูหรือไม่แล้ว ครั้งนี้พวกเขาจะมีตาวิเศษอยู่รอบสนาม โดยมีทีมงานค่อยเฝ้าดูทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสนามอย่างใกล้ชิด และแจ้งเขาเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติ หรือ การตัดสินที่ผิดพลาดเกิดขึ้น
โดยเจ้าหน้าที่ของ VAR จะทำงานอยู่ภายในศูนย์กลางการถ่ายทอด หรือ International Broadcasting Center (IBC) ภายในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ทีมประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ VAR 1 คน และผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ VAR อีก 3 คน เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรีเพลย์อีก 4 คน ที่จะคอยตรวจสอบหน้าจอการถ่ายทอดสดจากหลายมุม รวมถึงกล้องถ่ายทอดสดที่ใช้สำหรับตรวจสอบการล้ำหน้าอีก 2 ตัว
ฟีดการถ่ายทอดสดออกจาก IBC ทาง VAR จะส่งสัญญาณภาพรีเพลย์จากหลายมุมกล้องที่ถูกตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ VAR และภาพสถานการณ์ภายในห้องทำงานของทีม VAR ในระหว่างการตรวจสอบ
ทีมงาน VAR จะทำหน้าที่ช่วยเหลือการตัดสินใจของผู้ตัดสินที่ 1 หรือกรรมการในสนาม โดยแบ่งเหตุการณ์ที่มีความสำคัญต่อเกมการแข่งขันออกเป็น 4 ชนิด
1. ประตูที่เกิดขึ้น และเหตุการณ์ที่นำไปสู่ประตู
หน้าที่ของ VAR คือช่วยให้กรรมการตัดสินว่ามีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ไม่ควรเป็นประตูหรือไม่ เช่น ลูกฟุตบอลข้ามเส้นไปแล้วหรือไม่ หรือถูกขัดจังหวะการเล่นจนมีผลกระทบต่อเกมหรือไม่
2. การตัดสินให้หรือไม่ให้จุดโทษ และเหตุการณ์ที่นำไปสู่การตัดสินใจ
VAR จะช่วยให้มั่นใจว่าการตัดสินใจให้หรือไม่ให้จุดโทษเป็นไปอย่างถูกต้องที่สุดตามภาพของเหตุการณ์
3. ใบแดงโดยตรง
VAR จะช่วยลดข้อผิดพลาดในการให้หรือไม่ให้ใบแดงกับนักเตะ
4. การระบุตัวนักเตะผิดคนในแต่ละเหตุการณ์
เพื่อเป็นการช่วยให้กรรมการไม่ส่งนักเตะผิดคนออกจากสนาม VAR จะช่วยให้ข้อมูลกับกรรมการเพื่อให้บทลงโทษกับนักเตะที่กระทำผิด
ในระหว่างการแข่งขัน ทีมงานของ VAR จะใช้เวลาหาข้อผิดพลาดที่นำไปสู่เหตุการณ์ทั้ง 4 อย่าง และจะสื่อสารกับผู้ตัดสินที่ 1 ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ผิดพลาดอย่างชัดเจน หรือเหตุการณ์สำคัญที่กรรมการอาจไม่ทันได้สังเกตเกิดขึ้น
ผู้ตัดสินที่ 1 สามารถดีเลย์การเริ่มต้นเกมใหม่ได้ทุกเมื่อเพื่อสื่อสารกับทีมงาน VAR และจะให้สัญญาณกับทุกคนโดยชี้ไปที่หูของเขาเอง และเมื่อทั้งกรรมการและทีมงาน VAR เห็นตรงกัน กรรมการจะทำสัญลักษณ์เพื่อขอดูภาพอีกครั้ง โดยใช้คำทางการว่า Official Review ซึ่งเป็นท่าทางเหมือนการทำมือเป็นสัญลักษณ์เหมือนจอโทรทัศน์
ผู้ตัดสินที่ 1 สามารถตัดสินตามคำแนะนำของทีม VAR หรือสามารถเดินไปตรวจสอบเหตุการณ์ด้วยตัวเองที่จอมอนิเตอร์ข้างสนามและตัดสินตามภาพเหตุการณ์ที่เห็น
โดยเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในห้องทำงานของทีม VAR จะถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่ของฟีฟ่า ซึ่งจะสามารถตรวจสอบการสื่อสารทั้งหมดระหว่างทีมงาน VAR และกรรมการ เพื่อสร้างความโปร่งใสให้กับระบบผู้ช่วยผู้ตัดสิน VAR มากขึ้น ด้วยการส่งข้อมูลข่าวสารอัปเดตให้ทางผู้บรรยายกีฬาและทางเว็บไซต์ เพื่อให้สื่อพันธมิตร สื่อผู้ได้ลิขสิทธิ์ และผู้บรรยายกีฬาทราบรายละเอียดของการตรวจสอบ รีเพลย์ของทีม VAR
นอกจากนี้สัญญาณการถ่ายทอดสดในระหว่างที่ใช้งาน VAR สัญญาณถ่ายทอดสดจะแบ่งออกเป็น 3 หน้าจอ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เห็นเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้น โดยจอใหญ่สุดทางด้านซ้ายจะเป็นภาพหลักของนักเตะที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ จอด้านขวาบนจะเป็นภาพผู้ตัดสินที่ 1 ตลอดเวลา เพื่อให้เห็นสัญญาณทุกอย่างจากกรรมการ ส่วนช่องที่ 3 ด้านขวาล่างจะเป็นภาพของนักเตะและโค้ช แต่จะตัดภาพไปเป็นห้องทำงานของ VAR เมื่อกรรมการส่งสัญญาณขอดูภาพช้าอย่างเป็นทางการ
สุดท้ายเมื่อการตัดสินเกิดขึ้นทางจอยักษ์บนหน้าจอภายในสนาม กราฟิกจะขึ้นข้อความผลการตัดสินบนหน้าจอ เช่น หากกรรมการตัดสินเปลี่ยนไม่ให้ประตู ก็จะขึ้น No Goal และให้เหตุผลด้านล่างว่า Offside
VAR กับปัญหาเข้าใจยาก ดีเลย์เกม ยังไม่ได้ประสิทธิภาพร้อยเปอร์เซ็นต์
จากคำพูดของ มิเชล พลาตินี อดีตประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ที่เคยกล่าวต่อต้านวิดีโอรีเพลย์ระหว่างการแข่งขันไว้เมื่อปี 2009 แต่ผลักดันให้เพิ่มกรรมการหลังประตูแทน
9 ปีผ่านไป วันนี้วิดีโอรีเพลย์ระหว่างการแข่งขันเดินทางมาถึงฟุตบอลโลกภายใต้ชื่อ VAR แล้ว แต่ด้วยคำอธิบายด้านบนที่เราได้รับจากฟีฟ่า ก็อดคิดไม่ได้ว่าขั้นตอนทั้งหมดนี้ ผู้ตัดสินทุกคน ทีมงานหลายพันชีวิตที่จะต้องเข้าร่วมระบบนี้มีความเข้าใจในการทำงานของ VAR ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วหรือยัง และถ้าระบบใช้เวลาทำงานมากกว่าที่คิด VAR จะทำลายความลื่นไหลของเกม และทำให้ฟุตบอลหมดความลื่นไหลของเกม ซึ่งนับว่าเป็นเสน่ห์หลักอย่างหนึ่งหรือไม่
พรีเมียร์ลีกอังกฤษ ลีกที่มีมูลค่าการตลาดมหาศาลทั่วโลก ตัดสินใจไม่เริ่มต้นใช้ระบบ VAR ในฤดูกาล 2018-2019 แต่จะยังคงทดสอบระบบต่อไป โดยให้เหตุผลว่าในช่วงการทดสอบได้เห็นปัญหาเกี่ยวกับผู้ใช้ระบบอย่างต่อเนื่อง
โดย VAR ควรจะถูกใช้ในเวลาที่มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นอย่างชัดเจนจากกรรมการ แต่ในการตัดสินให้จุดโทษกับทีมชาติอิตาลีกับเกมอุ่นเครื่องกับทีมชาติอังกฤษครั้งนี้มีการถกเถียงการให้จุดโทษกันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการดูภาพช้าจากหลายมุมแล้วก็ตาม
และนี่ไม่ใช่สิ่งเดียวที่เป็นความยุ่งยากของ VAR เนื่องจากกรรมการต้องดูเหตุการณ์ที่นำไปสู่การฟาวด์หรือประตู ทำให้การตัดสินใจของกรรมการช้าลงในการแข่งขัน บวกกับการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน ซึ่งคาดว่าสิ่งเหล่านี้คือสาเหตุที่ทำให้สโมสรในพรีเมียร์ลีกอังกฤษตัดสินใจไม่ต้อนรับ VAR มาใช้งานในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลหน้า
นอกจากนี้ในการทดลองใช้งานกับเอฟเอคัพ และคาราบาว คัพ ในฤดูกาลที่ผ่านมา ก็เกิดการตัดสินผิดพลาดขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะเกมเอฟเอคัพ ที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด บุกชนะฮัดเดอร์สฟิลด์ 2-0 ที่ทีมงาน VAR แจ้งว่าลูกยิงของมาตา จังหวะล้ำหน้า ทั้งที่ทำเส้นกราฟิกออกมาเบี้ยว ทำให้เห็นในตอนนั้นว่ามาตาไม่ล้ำ
A technical issue led to an incorrect graphic being provided by Hawk-Eye to @btsportfootball last night. To confirm, the #VAR saw the correct image with the correct lines to make the decision. This was a case of the wrong image being provided to the broadcaster and we apologise. pic.twitter.com/QqbAWVfbi1
— Hawk-Eye Innovations (@Hawkeye_view) February 18, 2018
จนสุดท้ายบริษัท Hawk-Eye บริษัทที่ทำ VAR ต้องออกมาขอโทษ และยอมรับผิดว่าเป็นความผิดที่ทำกราฟิกเบี้ยว แต่ยืนยันว่ามาตาล้ำหน้าจริง แต่ข้อผิดพลาดคือตีเส้นล้ำหน้าเบี้ยว และส่งภาพนั้นให้ BT Sport ผู้ถ่ายทอดสดการแข่งขันเลย ทำให้แฟนบอลเข้าใจผิดว่ามาตาไม่ล้ำ
เชย์ กิฟเวน อดีตผู้รักษาประตูมือหนึ่งของไอร์แลนด์ มองว่า VAR ยังไม่พร้อมที่จะรับหน้าที่สำคัญในศึกฟุตบอลโลก เนื่องจากระบบยังไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ และที่สำคัญจะเป็นผู้ทำลายความตื่นเต้นในเกมฟุตบอลอีกด้วย
“ผมจำได้ในเกมที่โรชเดลเล่นกับท็อตแนม ฮอตสเปอร์ที่เวมบลีย์ และนักเตะต้องยืนรอเป็นเวลานาน 2-3 นาทีเพื่อให้กรรมการตัดสิน แฟนๆ ในสนามไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และทุกอย่างก็ไม่มีการชี้แจง
“การยิงประตูในฟุตบอลเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น แต่ระหว่างที่แฟนบอลกำลังฉลองกัน กรรมการต้องไปดูรีเพลย์เพื่อมาตัดสินว่าเป็นประตูหรือไม่ คุณไม่ต้องการทำลายบรรยากาศความตื่นเต้น และผมคิดว่านี่คือสาเหตุที่ทำให้กีฬาเราได้รับความนิยมทั่วโลก เพราะบรรยากาศความตื่นเต้นในสนาม
“คุณไม่ต้องการให้ทุกอย่างหายไปและให้คนในสตูดิโอบนอาคารถัดไปมาตัดสินใจในเหตุการณ์สำคัญของเกม
“VAR จะสร้างมาตรฐานใหม่ที่สูงกว่ามาตรฐานในอังกฤษ” มุมมองของ มาร์ค แคล็ตเทนเบิร์ก อดีตผู้ตัดสินฟุตบอลชื่อดังของพรีเมียร์ลีก
ขณะที่เสียงต่อต้านในพรีเมียร์ลีกอังกฤษยังคงดังกังวานไปทั่วห้องประชุมในวันที่สโมสรต่างๆ ตัดสินใจไม่รับ VAR มาใช้งานเต็มระบบในฤดูกาลหน้า แต่ มาร์ค แคล็ตเทนเบิร์ก ผู้ตัดสินชาวอังกฤษ ผู้เคยรับหน้าที่เป็นผู้ตัดสินในศึกยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกนัดชิงปี 2016 ที่เรอัล มาดริดคว้าแชมป์ด้วยการเอาชนะแอตเลติโก มาดริด ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ระบบวิดีโอผู้ช่วยผู้ตัดสินจะเป็นผลดีต่อฟุตบอลโลก
“ระบบ VAR จะทำศึกฟุตบอลโลกพังไหมเหรอ ไม่เลย เพราะระบบ VAR จะดีกว่า และเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพกว่าระบบที่สร้างปัญหาให้กับแฟนบอลอังกฤษ
“ในศึกเอฟเอคัพและคาราบาว คัพ ตลอดทั้งเกมมีการเรียกใช้กรรมการให้ตัดสินหลายครั้ง จนนำไปสู่การทำให้เกมช้าลง และทำให้ทั้งผู้จัดการทีมและนักเตะไม่พอใจ
“แต่ระบบนี้ของฟีฟ่าจะไม่เป็นแบบนั้น เพราะว่า VAR จะถูกใช้เฉพาะเหตุการณ์ที่สำคัญและมีผลกระทบของผลการแข่งขัน ตั้งแต่ประตู ใบแดง และจุดโทษ มากกว่าการใช้ VAR สำหรับใบเหลืองหรือทุกจังหวะการฟาวด์ ทำให้เกมจะไหลลื่นกว่า
“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทีมงาน 13 คนในรัสเซียจะทำงานได้ดีกว่าทีมในอังกฤษ เพราะพวกเขาได้ทดลองใช้งานจริงในฤดูกาลที่ผ่านมาแล้ว และพวกเขาคือคนที่เก่งที่สุดในด้านนี้ ซึ่งเชื่อว่าพวกเขาจะตัดสินใจแจ้งกรรมการต่อเมื่อมีข้อผิดพลาดใหญ่เกิดขึ้นเท่านั้น”
วันที่เทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงกีฬาอีกครั้ง และจะเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นเรื่อยๆ
ภายในงาน SportAccord 2018 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 15-20 เมษายน ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ที่ผ่านมา หัวข้อสำคัญที่มีการพูดถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่งคือนวัตกรรมที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในวิธีการรับชมการแข่งขันกีฬาของพวกเราทุกคน
แน่นอนว่าเทคโนโลยีทุกอย่างที่เกิดขึ้นทำให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของมนุษย์ในความเร็วที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ในระหว่างที่เรากำลังถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่รู้สึกตัวนั้น สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ คือข้อมูลข่าวสารที่ถูกกระจายอย่างรวดเร็ว จนผู้คนสามารถตามหาชุดข้อมูลทุกอย่างที่ต้องการเพื่อหาข้อสรุปในแง่ต่างๆ ได้เพียงแค่ไม่กี่คลิกเท่านั้น ทำให้ความโปร่งใสเกิดขึ้นในทุกแง่มุมของสังคม
ระบบวิดีโอรีเพลย์ได้เข้ามาช่วยให้กีฬาอย่างรักบี้ในหลายประเทศ ภายใต้ชื่อ TMO หรือ Television Match Official และอเมริกันฟุตบอล NFL ในสหรัฐฯ มีความโปร่งใสมากขึ้น เพราะเมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุการณ์ที่กรรมการไม่มั่นใจในการตัดสินใจ พวกเขาก็จะเรียกใช้ระบบนี้ในทันที และด้วยการที่เริ่มต้นใช้งานมาเป็นเวลานาน แฟนกีฬาจึงไม่มีความรู้สึกว่านี้คือการทำลายความสวยงามของเกม แต่เลือกที่จะรอรับชมภาพรีเพลย์ให้ภาพเล่าเรื่อง และตัดสินเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ต่างกับภาพวิดีโอหน้ารถยนต์ที่ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาต่างๆ บนถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ NFL เองก็เคยต้องผ่านข้อถกเถียงของการใช้เทคโนโลยีเข้ามาจำกัดข้อผิดพลาดของมนุษย์มาแล้ว แต่สุดท้ายผ่านการต่อสู้และการทดลองใช้งานอย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้ระบบการใช้ Instant Replay มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่ยังคงได้รับการปรับปรุงและแก้ไขอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ฟุตบอลเองก็ต้องพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ และข้อถกเถียงของ VAR ในวันนี้ได้เปลี่ยนจากควรหรือไม่ควรมี มาถึงวันที่พร้อมหรือไม่พร้อม และเชื่อว่าในอนาคตอีกไม่ไกลเมื่อระบบเข้าที่ คำถามต่อไปคือจะใช้ VAR ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร
อ้างอิง:
- www.goal.com/en/news/10/italian-football/2009/11/28/1652906/uefa-chief-michel-platini-no-to-video-replays
- www.rte.ie/sport/soccer/2018/0328/950780-var-not-ready-for-the-world-cup-claims-given
- football-technology.fifa.com/en/media-tiles/video-assistant-referee-var
- operations.nfl.com/the-game/history-of-instant-replay