×

VAR ในคืนแห่งโชคชะตาของสเปนและโปรตุเกส

26.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • สองเกมสุดท้ายของกลุ่ม B เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมากลายเป็นสองเกมที่มีปัญหาอย่างมากในการตัดสินด้วย VAR
  • เหตุการณ์หลักที่มีคนพูดถึงมากที่สุดคือกรณีของคริสเตียโน โรนัลโด ว่าควรจะโดนใบแดงหรือไม่ในจังหวะที่ไปเหวี่ยงแขนใส่มอร์เตซา ปูราลิกานยี
  • ในมุมมองของอลัน เชียเรอร์ ฟุตบอลโลกคือรายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และไม่ควรที่จะถูกใช้เพื่อการ ‘ทดลอง’ ของระบบที่ยังห่างไกลจากคำว่าพร้อม
  • ดิดิเยร์ ดร็อกบา ดาวยิงชื่อก้องโลกชาวไอวอรีโคสต์​ และปาโบล ซาบาเลตา แบ็กอาร์เจนไตน์ ที่มองว่าอย่างน้อยที่สุด VAR ก็เป็น ‘คนกลาง’ ที่เข้ามาช่วยเคลียร์เหตุการณ์ให้ทุกอย่างอยู่ในความสงบ

ยิ่งวันผ่านเวลาเปลี่ยน ยิ่งชัดเจนในความรู้สึกครับว่า ‘พระเอก’ ของฟุตบอลโลกครั้งนี้น่าจะเป็น VAR มากกว่าซูเปอร์สตาร์หน้าไหน

 

จะรักหรือชัง จะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ VAR ได้เข้ามามีส่วนสำคัญต่อฟุตบอลโลกมากขึ้นทุกที ดังจะได้เห็นว่าแทบทุกเกมจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้ระบบที่ถูกคิดค้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้ตัดสินในสนามได้ออกโรงอยู่เรื่อยๆ

 

บางเกมมาครั้งเดียว บางเกมมาหลายครั้งก็ว่ากันไป

 

แต่สิ่งที่เป็นปัญหาการใช้งานในเวลานี้คือการที่ VAR ไม่ได้มอบ ‘ความยุติธรรม’ ที่เที่ยงตรงให้กับเกมการแข่งขันอย่างที่มันควรจะทำได้

 

เราอาจจะไม่ได้พูดกันถึงความแม่นยำในระดับ 100% เป๊ะ เพราะระบบนี้ยังใช้ ‘มนุษย์’ เป็นหลักอยู่ หากแต่แค่ในระดับ 70-80% ก็ดูเหมือนจะยังไม่สามารถพูดได้เต็มปาก

 

เหมือนเช่นในสองเกมสุดท้ายของกลุ่ม B เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา กลายเป็นสองเกมที่มีปัญหาอย่างมากในการตัดสินด้วย VAR

 

เหตุการณ์หลักที่มีคนพูดถึงมากที่สุดคือกรณีของคริสเตียโน โรนัลโด ว่าควรจะโดนใบแดงหรือไม่ในจังหวะที่ไปเหวี่ยงแขนใส่มอร์เตซา ปูราลิกานยี ปราการหลังอิหร่าน ผลปรากฏคือศอกฟาดเข้าที่ปากอย่างจัง

 

ว่ากันตามเนื้อผ้า พูดจาประสากฎลูกหนัง การกระทำเช่นนี้สมควรที่จะเป็นใบแดง เพราะเป็นการทำร้ายคู่ต่อสู้

 

เพียงแต่ผู้ตัดสิน เอ็นริเก กาเซเรส มองว่าการกระทำของโรนัลโดนั้นควรถูกลงโทษเพียงแค่ใบเหลืองเท่านั้น

 

เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่ฝ่ายอิหร่านอย่างยิ่งครับ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะจากฟอร์มที่เห็นในสนาม หากโปรตุเกสต้องเสียโรนัลโดไปจริงๆ พวกเขาอาจจะมีโอกาสทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดด้วยการเขี่ยแชมป์ฟุตบอลยูโร 2016 ตกรอบตั้งแต่ตอนนี้ก็เป็นได้

 

“ไม่มีกฎข้อไหนที่บอกว่าถ้าเป็นเมสซีหรือโรนัลโดแล้วจะโดนไล่ออกไม่ได้” คาร์ลอส เคยรอซ โค้ชอิหร่านตั้งคำถามในเรื่องนี้

 

อย่างไรก็ดี อิหร่านเองก็ได้ประโยชน์จากการตัดสินด้วย VAR เหมือนกันในลูกจุดโทษ ซึ่งเป็นประตูตีเสมอ 1-1 ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ซึ่งอลัน เชียเรอร์ ตำนานดาวยิงทีมชาติอังกฤษ ไม่เห็นด้วยกับการให้จุดโทษในจังหวะนี้

 

“เขาคิดว่าจังหวะนี้เป็นจุดโทษได้อย่างไร มันเป็นการตัดสินที่ประหลาดมาก ในจังหวะแบบนี้จะให้กองหลังทำอะไร เขาอยู่ห่างออกไปครึ่งหลา เขายังหลับตาอยู่เลย มันไม่มีทางเลยที่มันจะกลายเป็นแฮนด์บอล” เชียเรอร์กล่าว

 

“นี่มันคือการแข่งขันรายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก และดูเหมือนว่า VAR จะเป็นแค่การทดลอง ซึ่งมันไม่ถูกต้อง”

 

ในมุมมองของเชียเรอร์ ผมเห็นด้วยครับ เพราะฟุตบอลโลกคือรายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และไม่ควรที่จะถูกใช้เพื่อการ ‘ทดลอง’ ของระบบที่ยังห่างไกลจากคำว่าพร้อม

 

โดยเฉพาะมันเป็นเรื่องของความยุติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถอ่อนข้อย่อหย่อนได้

 

มันไม่ควรจะมีแม้แต่เครื่องหมายคำถามเสียด้วยซ้ำ

 

 

นอกจากสองเหตุการณ์ในเกมระหว่างโปรตุเกสและอิหร่าน ยังมีเกมระหว่างสเปนกับโมร็อกโกที่มีความ ‘คาใจ’ เกิดขึ้น เมื่ออดีตแชมป์โลกปี 2010 มาได้ประตูตีเสมอในช่วงทดเวลาบาดเจ็บจากลูกยิงของยาโก อัสปาส (ซึ่งไหวพริบดีมาก)

 

ลูกนี้ผู้ช่วยผู้ตัดสินนั้นสะบัดธงขึ้นมาทันทีอยู่แล้ว และผู้ตัดสินก็ไม่ได้ให้ประตู เพียงแต่เมื่อมีการนำภาพกลับมาดูใหม่ก็เปลี่ยนคำตัดสินให้เป็นประตูท่ามกลางการประท้วงของผู้เล่นโมร็อกโก ซึ่งพวกเขาคิดว่าโดน ‘ปล้น’

 

มันอาจจะไม่มีผลต่อโอกาสในการเข้ารอบของพวกเขา แต่ชัยชนะสักนัดในฟุตบอลโลก โดยเฉพาะชัยชนะเหนือทีมระดับสเปนนั้นเป็นเรื่องที่มีคุณค่าทางจิตใจสำหรับชาติที่ไม่ได้เล่นฟุตบอลโลกมา 20 ปีมากมายมหาศาล

 

สำหรับสเปน พวกเขายังได้ประโยชน์จากอีกเหตุการณ์ที่มีการวิพากษ์กันว่าควรจะนำ VAR มาใช้คือจังหวะที่เคราร์ด ปิเก้ กระโดดเสียบสองขาใส่คู่ต่อสู้ ซึ่งก็จะเหมือนกับกรณีของโรนัลโดที่หากมีการนำภาพกลับมาดูก็อาจจะเป็นใบแดงได้

 

อย่างไรก็ดี ในอีกมุมหนึ่งก็มีการพูดถึง VAR ในทางที่ดีเหมือนกัน เช่น ในมุมของดิดิเยร์ ดร็อกบา ดาวยิงชื่อก้องโลกชาวไอวอรีโคสต์ ​และปาโบล ซาบาเลตา แบ็กอาร์เจนไตน์ ที่มองว่าอย่างน้อยที่สุด VAR ก็เป็น ‘คนกลาง’ ที่เข้ามาช่วยเคลียร์เหตุการณ์ให้ทุกอย่างอยู่ในความสงบ

 

เรื่องนี้ก็ทำให้ผมคิดถึงเวลาไปเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ บ่อยครั้งที่มักจะมีปัญหากันในสนาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปะทะ ทำผิดกติกา ไล่ไปจนถึงว่าตาใครจะได้ลงสนาม ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน แต่ในระยะหลังมีตัวแทนในกลุ่มเสนอว่าให้ไปจ้างผู้ตัดสินมาทำหน้าที่เลย อาจจะมีค่าใช้จ่ายอยู่บ้าง แต่เมื่อได้ทดลองเล่นกันโดยมีผู้ตัดสินแล้วทุกอย่างก็จบ

 

อาจจะมีทั้งเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าปล่อยให้อารมณ์ปะทะกับอารมณ์

 

ปัญหาของ VAR ในเวลานี้จึงอยู่ ‘วิจารณญาณ’ ของผู้ตัดสิน ซึ่งยังเป็นปัญหาโลกแตกเหมือนเดิม

 

ถ้ามองในแบบโลกสวยเดินบนทุ่งลาเวนเดอร์ ความไม่สมบูรณ์ของมันก็คือเสน่ห์ดั้งเดิมของเกมฟุตบอล

 

เพียงแต่มันก็อาจจะทำให้เกิดคำถามตามมาว่า “แล้วแบบนั้นจะใช้ทำไม”

Photo: Reuters

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising