เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติของฝรั่งเศสลงมติให้ถอดคำว่า ‘เชื้อชาติ’ (Race) ออกจากรัฐธรรมนูญ และให้ใส่คำว่า ‘เพศ’ (Sex) ลงไปแทนเพื่อความเสมอภาคต่อกฎหมาย ไม่ว่าจะมีถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ หรือศาสนาใดก็ตาม นักการเมืองฝรั่งเศสไม่เชื่อในเรื่อง ‘เชื้อชาติ’ นัก
เรื่องนี้ถ้ายกขึ้นมาเพียงผิวเผินอาจฟังดูไม่เกี่ยวกับฟุตบอลเท่าไร แต่หากลองสังเกตดีๆ แล้ว ในฟุตบอลโลกรอบ 4 ทีมสุดท้ายที่ผ่านมา สิ่งที่เห็นได้ชัดว่าเกือบทุกทีมมีร่วมกันคือ นักเตะที่มีเชื้อสายของผู้อพยพ
ทั้งทีมชาติอังกฤษ เบลเยียม และฝรั่งเศส ต่างมีทีมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ หรือแม้แต่โครเอเชียเอง 15.4% ของคนในทีมก็เกิดนอกประเทศของตน ส่วนฝรั่งเศสนั้นนำโด่งมีนักเตะที่มีพื้นเพของผู้อพยพถึง 78.3%
เรียกได้ว่าทีมสิงโตคำรามหนุ่มของ แกเร็ธ เซาท์เกต ไปจนถึงโกลเดน เจเนอเรชันของเบลเยียม ล้วนแต่มีปัจจัยการสร้างทีมด้วยผลพวงที่ผู้อพยพเข้ามาเติมเต็มทั้งสิ้น
“ในประเทศอังกฤษ เราเสียเวลาช่วงหนึ่งไปกับการค้นหาว่าเอกลักษณ์ในยุคสมัยปัจจุบันของเราเป็นอย่างไร แน่นอนว่าตอนแรกพวกเราอาจถูกตัดสินแค่จากผลงานในสนาม แต่เราก็มีโอกาสที่จะส่งผลถึงบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น” กุนซือทีมชาติอังกฤษให้สัมภาษณ์หลังเกมที่เอาชนะปานามาไปได้อย่างขาดลอย
แต่กระนั้นสำหรับนักเตะบางคนเรื่องนี้ก็ไม่ได้ง่ายดายนัก โรเมลู ลูกากู หัวหอกชาวเบลเยียมเผยว่า หลายครั้งที่เขายิงประตูได้ สื่อจะยกว่าเขาเป็นชาวเบลเยียม แต่หากเขาเล่นแย่ บางครั้งจะโดนยกเรื่องเชื้อชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง
“ถ้าอะไรๆ มันไปได้ไม่สวย บางครั้งผู้คนจะบอกว่าโรเมลู ลูกากู ผู้เล่นเบลเยียมที่มีเชื้อสายคองโกทำผลงานได้ไม่ดีนัก” ดาวยิงจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเปิดใจ
การมีผู้อพยพนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกในยุโรป หลายทศวรรษที่ผ่านมา ประชากรโลกจากทวีปต่างๆ ทั้งแอฟริกา ตะวันออกกลาง หรือแม้แต่เอเชีย ได้ย้ายถิ่นฐานเข้าสู่ยุโรปเป็นจำนวนมาก
บ้างเพราะหนีสงคราม บ้างเพราะต้องการอยู่ในสังคมที่มีสวัสดิการรัฐดีกว่าประเทศบ้านเกิด หรือค่าแรงที่มากกว่า พูดง่ายๆ คือหลายคนมายุโรปเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าจากแรงงานชั่วคราวที่ถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ในที่สุดพวกเขาก็กลายเป็น ‘ชาวยุโรป’ ในแง่หนึ่งโดยปริยาย
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะมีความสุขกับเรื่องนี้ ทุกการกระทำย่อมมีคำวิจารณ์และผู้ที่หวงแหนในลักษณะความเป็นชาติดั้งเดิมของตนนั้น ย่อมมีบ้างที่ต่อต้านการขยับขยายเข้ามาอาศัยของผู้คนต่างถิ่น อาจเพราะความหวาดกลัวต่อปัญหาและความแตกต่างทางวัฒนธรรม ไปจนถึงปัญหาการแย่งงานกันของผู้อพยพและผู้อาศัยเดิม
การสร้าง ‘ชาติ’ ที่มีความหลากหลายและการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานั้นไม่ง่ายฉันใด การสร้าง ‘ทีมชาติ’ ที่ดีก็ไม่ง่ายฉันนั้น เรื่องนี้อาจต้องย้อนกลับไปที่ฝรั่งเศสชุดฟุตบอลโลกปี 1998
ถึงแม้ว่าทีมชาติฝรั่งเศสในปีนั้นจะได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกและมีทีมที่แข็งแกร่งมากก็ตาม แต่ ฌอง-มารี เลอ แปน นักการเมืองจากพรรคฝ่ายขวาอาจจะไม่ชอบใจกับทีมชุดนั้นนัก
เอ็มมานูเอล เปอตีต์ ให้สัมภาษณ์ผ่านนิตยสารโฟโฟทู ถึงความขุ่นเคืองของนักการเมืองคนดังกล่าวว่า “ฌอง-มารี เลอ แปนพูดในระหว่างฟุตบอลโลกว่า เขาจำทีมชาติของเราไม่ได้เพราะมีผู้เล่นผิวสีเยอะเกินไป
“เขาโจมตีผู้เล่นผิวสีของเราและบอกว่าพวกเขาส่วนมากไม่ร้องเพลงชาติด้วยซ้ำ” เปอตีต์เสริม
อย่างไรก็ดี มาร์กเซล เดอไซญี (ผู้มีเชื้อสายกานา) คิดว่ามันเป็นแค่เกมการเมืองของเลอ แปนเสียมากกว่า
“บางคนร้อง บางคนไม่ได้ร้อง แต่มันไม่เกี่ยวอะไรกับเชื้อสายต้นกำเนิดพวกเราหรอก ผมคิดว่าเขาแค่ใช้เราเป็นเครื่องมือทางการเมืองเท่านั้น”
อันที่จริงฝรั่งเศส ณ ตอนนั้นถือว่ามีความกดดันในเรื่องเชื้อชาติไม่น้อย ในประเทศมีปัญหาการเหยียดผิวและเหยียดเชื้อชาติของผู้อพยพอยู่เนืองๆ และนักการเมืองอนุรักษ์นิยมสุดโต่งอย่าง ฌอง-มารี เลอ แปน เป็นส่วนสำคัญในการสุมไฟความกลัวคนต่างชาติมากเข้าไปอีก
แต่บางสิ่งอย่างกำลังจะเปลี่ยนไปหลังฟุตบอลโลกปี 1998
เป็นธรรมดาที่เมื่อฟุตบอลโลกมาถึง ผู้คนในประเทศจะพักเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองไว้ก่อน และหันไปร่วมกันเชียร์เหล่านักเตะของประเทศตนในสนามแทน และการได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกส่งผลให้กองเชียร์เพิ่มความหวังจากความได้เปรียบนี้เป็นทวีคูณ
แน่นอนผู้ที่แบกรับความกดดันดังกล่าวคือเหล่านักเตะ ขุนพลตราไก่ชุดนั้นที่ถูกคาดหวังให้พาฝรั่งเศสคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์
“ความกดดันตอนนั้นมันเข้มข้นมาก ผมเห็นผู้เล่นบางคนเหงื่อแตกในรถบัสก่อนที่เราจะถึงสนามด้วยซ้ำ” เปอตีต์เผยถึงบรรยากาศในทีมตอนนั้น ซึ่งมีทั้งแรงกดดันจากด้านนอกและความไม่มั่นใจของเหล่านักเตะเอง
ถึงอย่างนั้นทันทีที่ทัวร์นาเมนต์เริ่ม เพลงชาติ หรือ La Marseillaise ที่เคยถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองโจมตีทีม กลับกลายมาเป็นเพลงเชียร์ที่ถูกกู่ร้องเพื่อให้กำลังใจพวกเขาอีกครั้ง โชคดีของเหล่านักเตะที่มันถูกส่งเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ ตลอดทัวร์นาเมนต์
หลายอย่างยิ่งเด่นชัดในเกมกับโครเอเชีย เมื่อ ดาวอร์ ซูเคอร์ ดาวยิงชาวโครแอตยิงประตูนำไปก่อนในนาทีแรกของครึ่งหลัง แต่เป็น ลิลิยอง ตูราม (ผู้มีเชื้อสายกัวเดอลุป) ที่ตีเสมอได้ในทันที แถมเป็นผู้ยิงประตูชัยในนาทีที่ 70 เป็น 2 ประตูแรกและสุดท้ายที่ตูรามทำได้ในสีเสื้อฝรั่งเศส
ณ วินาทีนั้น ประเด็นความแตกต่างทางเชื้อชาติเหมือนเป็นเพียงเรื่องโกหก
ความยินดีต่อทีมชุดนั้นมาถึงจุดสูงสุด เมื่อฝรั่งเศสเข้าชิงกับบราซิลที่มีโรนัลโดเป็นซูเปอร์สตาร์ประจำทีม และสามารถล้มบราซิลด้วยสกอร์ 3-0 โดย 2 ประตูแรกมาจากนักเตะหนุ่มเชื้อสายแอลจีเรีย ซึ่งถูกเรียกว่าของขวัญจากพระเจ้าสู่วงการฟุตบอลฝรั่งเศส
นักเตะคนนั้นมีชื่อว่า ‘ซีเนดีน ซีดาน’
นับตั้งแต่ตอนนั้น ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติในทีมชาติฝรั่งเศสก็สิ้นสุดลง และทีมชาติฝรั่งเศสปี 1998 ถือเป็นต้นแบบของการสร้างทีมชาติที่แข็งแกร่งโดยไม่ต้องสนใจว่านักเตะนั้นมีเชื้อสายของชาติตัวเองแท้ๆ หรือไม่
“หลังจากรอบ 8 ทีมสุดท้าย เรารู้สึกว่าทั้งประเทศอยู่กับเรา” เดอไซญีให้สัมภาษณ์
“เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าในทุกที่ที่เราไป ทุกที่ที่รถบัสของเราวิ่งผ่าน เราจะเห็นชาวแอฟริกัน ชาวแอลจีเรีย ชาวอาหรับ และชาวโมร็อกโกทุกคนผ่านหน้าต่างถือธงชาติฝรั่งเศส พวกเขาอยู่เคียงข้างร่วมกันกับชาวฝรั่งเศส ทุกคนร้องเพลงด้วยกัน ทาใบหน้าของพวกเขาด้วยสีน้ำเงิน ขาว และแดง
“มันสุดยอดเลยที่เห็นการแข่งขันใหญ่ๆ อย่างฟุตบอลโลกสามารถรวมผู้คนเป็นหนึ่งเดียวได้ หากซีดานหรือตูรามยิงประตู ทุกคนจะฉลองประตูร่วมกัน ผู้คนไม่ได้สนใจเรื่องไร้สาระอย่างคนนั้นมีผิวดำ เหลือง หรือฟ้าหรอก”
เรื่องนี้อาจต้องให้เครดิตกับ เอ็มเม ฌักเกต์ ผู้จัดการทีมผู้พาทีมที่เคยไม่มั่นใจในตัวเองตั้งขบวนแห่ถ้วยรางวัลของพวกเขาไปยัง Champs-Élysées เพื่อฉลองแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ได้ในท้ายที่สุด ผลพวงของทีมชาติฝรั่งเศสชุดแชมป์ฟุตบอลโลกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม จากที่เคยตกอยู่ภายใต้บรรยากาศของความหวาดกลัวและความไม่ไว้วางใจคนต่างเชื้อชาติก็มีท่าทีที่เป็นมิตรขึ้น
จะกลัวอะไรในเมื่อสีผิวไม่ใช่ตัวชี้วัดคุณสมบัติความเป็นฮีโร่?
ในโลกฟุตบอล การสร้างทีมชาติที่มีความหลากหลายเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าสามารถสร้างความแข็งแกร่งและความภูมิใจให้คนในชาติได้ ดั่งที่เห็นในปัจจุบันที่หลายๆ ทีมทำตามจนสามารถยกระดับการเล่นขึ้นมา
ฝรั่งเศสตอกย้ำเรื่องนั้นในปี 2000 เมื่อพวกเขาคว้าแชมป์ยูโรได้ และนักเตะอย่าง ดาวิด เทรเซเกต์ (มีเชื้อสายอาร์เจนตินา), เธียร์รี อองรี (มีเชื้อสายแอลทิลลีน) หรือ ปาทริค วิเอรา (เชื้อสายเซเนกัล) ซึ่งได้โอกาสแจ้งเกิดในฟุตบอลโลกกลับมาเป็นกำลังสำคัญให้พวกเขาในศึกยูโรครั้งนั้น
ในตอนสุดท้าย ทั้งฟุตบอลโลกปี 1998 หรือฟุตบอลยูโรปี 2000 เอง ฌอง-มารี เลอ แปน มีภาพที่เขากระโดดโลดเต้นในการทำประตูของฝรั่งเศสในสนามหลายครั้ง ไม่ว่านักเตะคนดังกล่าวจะมีผิวสีอะไรก็ตาม
ถึงแม้สิ่งนี้จะไม่ได้เปลี่ยนทัศนคติทางการเมืองของเขา แต่กับโลกฟุตบอล แน่นอนว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง
เราสามารถมองเห็นสิ่งนี้ได้ในทีมชาติฝรั่งเศสยุคต่อๆ มา โดยเฉพาะในทีมชุดปัจจุบันที่มีคิวลงเตะกับทีมชาติโครเอเชียในฟุตบอลโลกนัดชิงชนะเลิศ
การมีนักเตะอย่าง พอล ป็อกบา, เอ็นโกโล ก็องเต และ แบลส มาตุยดี ในทีม ทำให้พวกเขาแทบเป็นความหวังของชาวแอฟริกันในฟุตบอลโลกครั้งนี้หลังจากที่ไม่สามารถมีทีมจากทวีปผ่านไปเล่นรอบแพ้คัดออกได้เลย แต่ถ้ามาดูรายชื่อกันจริงๆ แล้ว ทีมชาติฝรั่งเศสชุดนี้นอกจากความหนุ่มแน่นแล้ว ความหลากหลายทางเชื้อชาติเป็นสิ่งที่พวกเขามีอย่างเต็มเปี่ยม
รายชื่อผู้เล่นชุดฟุตบอลโลก 2018
ผู้รักษาประตู
อูโก โยริส มีเชื้อสายคาตาลัน
สตีฟ ม็องด็องดา มีเชื้อสายคองโก
อัลฟงส์ อาเรโอลา มีเชื้อสายฟิลิปปินส์
กองหลัง
ฌิบริล ซิดิเบ มีเชื้อสายมาลี
เบนฌาแม็ง ปาวาร์ เป็นฝรั่งเศสแท้ๆ
ซามูเอล อุมตีตี้ มีเชื้อสายแคเมอรูน
ราฟาแอล วาราน มีเชื้อสายมาร์ตินีก
เพรสเนล คิมเพมเบ มีเชื้อสายคองโก
อาดิล รามี มีเชื้อสายโมร็อกโก
แบ็งฌาแม็ง เมนดี มีเชื้อสายเซเนกัล
ลูกัส แอร์กน็องเดซ มีเชื้อสายสเปน
กองกลาง
พอล ป็อกบา มีเชื้อสายกินี
โกร็องแต็ง โตลิสโซ มีสัญชาติโตโก
แบลส มาตุยดี มีเชื้อสายแองโกลา
เอ็นโกโล ก็องเต มีสัญชาติมาลี
สตีเวน เอ็น’ซองซี มีเชื้อสายคองโก
กองหน้า
อองตวน กรีซมันน์ มีเชื้อสายเยอรมนีและโปรตุเกส
โอลิวิเยร์ ชิรูด์ มีเชื้อสายอิตาลี
คีเลียน เอ็มบัปเป้ มีเชื้อสายแคเมอรูน
อุสมาน เดมเบเล มีเชื้อสายมาลี
ฟลอริยอง โตแวง เป็นฝรั่งเศสแท้ๆ
นาบิล เฟคีร์ มีเชื้อสายแอลจีเรีย
โธมัส เลอมาร์ มีเชื้อสายกัวเดอลุป
จะเห็นได้ว่ามีนักเตะที่มีเชื้อสายฝรั่งเศสแท้ๆ เพียง 2 คนในทีมเท่านั้น และมีผู้เล่นเชื้อสายแอฟริกันถึง 15 คนด้วยกัน
แต่ไม่ว่าจะมีพื้นเพมาจากไหน สิ่งที่พวกเขาแสดงให้เห็นในสนามแล้วคือ พวกเขาเล่นร่วมกันได้เป็นอย่างดีและพร้อมจะสู้ตายภายใต้ธงชาติฝรั่งเศส
และจากฟอร์มการเล่นในนัดที่ผ่านๆ มา พวกเขามีโอกาสประสบความสำเร็จมากเหลือเกิน
แน่นอนว่าการไปเจอกับโครเอเชียที่ต้องการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกสมัยแรกย่อมไม่ง่าย โครเอเชียเองแสดงให้เห็นว่าพวกเขาพร้อมสู้ไม่มีถอย นักเตะทุกคนวิ่งลืมตายตลอด 120 นาที และพร้อมลงโทษทุกทีมที่ประมาทพวกเขาจนวินาทีสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม ก่อนวันชิงชนะเลิศมาถึง ฝรั่งเศสจะได้ฉลองวันชาติ (Bastille Day) ในวันที่ 14 กรกฎาคมของทุกปีก่อน และเมื่อวันแห่งงานเฉลิมฉลองแห่งชาติจบลง วันที่พวกเขาจะได้เล่นในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียจะเริ่มต้นขึ้น
ฝรั่งเศสที่เคยแสดงให้เห็นว่าการสร้างทีมที่ดีนั้น การเคารพความแตกต่าง ยอมรับความหลากหลาย และการที่ทุกคนรวมใจมีเป้าหมายร่วมกันเพียงหนึ่งเดียวเป็นสิ่งที่ได้ผล จนเคยทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จมาแล้ว
ใน ‘วันชาติ’ นี้พวกเขาอาจได้ระลึกถึงสิ่งนั้น
ในสุดสัปดาห์นี้ธงจะถูกประดับประดาอีกครั้ง เสียงเพลง La Marseillaise จะดังกระหึ่มอีกหน ถนนหนทางจัตุรัสจะเต็มไปด้วยผู้คน และเมื่อเสียงนกหวีดของการแข่งขันฟุตบอลโลกนัดสุดท้ายดังขึ้น
เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญของพวกเขา
คำว่า ‘เชื้อชาติ’ จะไม่มีความหมายอีกต่อไป
Photo: Reuters
อ้างอิง:
- bleacherreport.com/articles/2785862-why-france-are-carrying-africas-hopes-in-the-world-cup-final?utm_source=facebook.com&utm_medium=referral&utm_campaign=programming-UK
- www.theguardian.com/football/2018/jul/09/world-cup-semi-finals-immigration?CMP=Share_iOSApp_Other
- www.fourfourtwo.com/features/allez-les-bleus-how-frances-multiracial-rainbow-warriors-united-a-nation-98?utm_campaign=featureworldcup&utm_source=facebook&utm_medium=social&utm_term=editorial_organic&utm_content=metadata_image
- www.gmlive.com/french-politicians-erase-race-from-constitution
- www.goal.com/th/news/4323/ฟุตบอลโลก/2014/05/25/4836211/ย้อนรอยฟุตบอลโลก-ฝรั่งเศส-1998