เสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้านสิทธิมนุษยชน-การปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติใน ฟุตบอลโลก ‘FIFA World Cup Qatar 2022’ ที่จัดขึ้น ณ กาตาร์ ซึ่งจะประเดิมนัดแรกวันอาทิตย์นี้ อาจกระทบการตัดสินใจแบรนด์เข้าร่วมเป็นสปอนเซอร์ อีกทั้งยังต้องจับตาฝั่งเอเชียด้วยว่าจะสามารถสร้างเม็ดเงินได้มากสุดหรือไม่
Nikkei Asia รายงานว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าทีมฟุตบอลเอเชียไม่เคยปรากฏตัวในฟุตบอลโลกที่ยิ่งใหญ่เทียบเท่าปีนี้ โดยมีทีมฟุตบอลเอเชีย 6 ทีม จากทั้งหมด 32 ทีม ซึ่งจะลงแข่งขันในทัวร์นาเมนต์นี้ที่กาตาร์ นัดแรกในวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายนนี้
ขณะเดียวกัน บริษัทในเอเชียได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรและเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลโลก จำนวน 9 ราย จากทั้งหมด 14 ราย
นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนถ้าเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้วในช่วงที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งแรกที่จัดขึ้นในเอเชีย ในตอนนั้นมีผู้สนับสนุนจากประเทศเจ้าภาพเพียง 6 ราย จากทั้งหมด 15 ราย ซึ่งมาจากยุโรปและอเมริกา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- โปรแกรมถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ตั้งแต่คู่แรกจนถึงรอบชิงชนะเลิศ
- จับตากระแส ฟุตบอลโลกปี 2022 จะคึกคักหรือไม่ หลังเศรษฐกิจซบเซา กำลังซื้อยังไม่กลับมา ฝั่งสินค้าชะลอใช้งบโฆษณา
- ม.หอการค้า คาด ฟุตบอลโลก ทำเงินสะพัดกว่า 7.5 หมื่นล้าน แต่ส่วนใหญ่เป็นเงินนอกระบบหรือการพนัน
สำหรับ ‘FIFA World Cup Qatar 2022’ รายได้หลักส่วนใหญ่มาจากการให้สิทธิ์เผยแพร่ภาพการแข่งขัน ขณะที่สปอนเซอร์ก็นับเป็นแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผู้จัด โดยภาพรวมรายได้ในปี 2022 อยู่ที่ 1.35 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 29% และการขายสิทธิ์เผยแพร่ภาพการแข่งขันมีรายได้อยู่ที่ 2.64 พันล้านดอลลาร์
ขณะที่ผู้สนับสนุนทัวร์นาเมนต์แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ พันธมิตรที่มีความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์กับ FIFA มากกว่าฟุตบอลโลก ซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงกับการแข่งขัน โดยเฉพาะผู้สนับสนุนระดับภูมิภาคจะโปรโมตแบรนด์ของตัวเองในตลาดภายในประเทศ ส่วนผู้สนับสนุนระดับโลกจะโปรโมตแบรนด์ทั่วโลก
เช่นเดียวกับ Byju’s บริษัทสตาร์ทอัพด้านการศึกษาของอินเดีย ได้เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ฟุตบอลโลกครั้งแรกในปีนี้ แม้ทีมชาติอินเดียจะไม่เข้าร่วมการแข่งขันก็ตาม รวมถึงสปอนเซอร์จากจีนอีก 4 ราย และสิงคโปร์ 1 ราย รวมถึง Hyundai-Kia ของเกาหลีใต้ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะต่างหวังว่าแบรนด์จะเข้าถึงผู้ชมจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ
FIFA รายงานว่า การแข่งขันในปี 2018 ในรัสเซียมีผู้ชมถึง 1.6 พันล้านคน โดยในเอเชียคิดเป็น 43% ของทั้งหมดทั่วโลก
ตลาดทีวีในเอเชียมีโอกาสดึงเม็ดเงินจากการถ่ายทอดสด
ไซมอน แชดวิก ศาสตราจารย์ด้านกีฬาและภูมิรัฐศาสตร์แห่งโรงเรียนธุรกิจ Skema ในฝรั่งเศส กล่าวว่า ตลาดทีวีในเอเชียมีขนาดใหญ่ คาดการณ์ว่าจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากการถ่ายทอดสดได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า
ที่ผ่านมาในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2018 ประเทศเอเชียมีผู้ชมสูงสุดในลำดับ 3 ใน 5 ซึ่งประกอบด้วยอินโดนีเซีย อินเดีย และจีน ซึ่งเป็น 3 ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาค
ยิ่งไปกว่านั้น แนวโน้มตัวเลขดังกล่าวทำให้ Byju’s ซึ่งเป็นเพียงไม่กี่รายในอินเดียที่สนใจเข้ามาสนับสนุน เพราะมองว่ากีฬาเป็นตัวช่วยเชื่อมต่อกับผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถช่วยสื่อสารแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ก่อนหน้านี้ บีจู ราวีนดรัน ซีอีโอของ Byju’s กล่าวไว้ว่า Byju’s มีเป้าหมายเข้าถึงนักเรียน 10 ล้านคนในอินเดียภายในปี 2025 และรู้สึกตื่นเต้นที่ได้สนับสนุน FIFA World Cup ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลก
จีนมองการเป็นสปอนเซอร์บอลโลกสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ได้ทั่วโลก
ในเวลาเดียวกัน ฝั่งสปอนเซอร์จากจีนก็หาโอกาสคว้ายอดผู้ชมจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งชาวจีนคิดเป็น 18% ของผู้ชมทั่วโลก ในฟุตบอลโลกปี 2018 และปัจจุบันเป็น 1 ใน 4 พันธมิตรที่สนับสนุนฟุตบอลโลกปี 2022
แอนดรูว์ วูดเวิร์ด อดีตผู้บริหารฝ่ายสปอนเซอร์ระดับโลกของ Visa ระบุว่า บริษัทต่างๆ ในจีนมองว่าการเป็นสปอนเซอร์เป็นการตลาดเชิงพาณิชย์และเปิดโอกาสให้มีชื่อเสียงไปทั่วโลก
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 1986 เกาหลีใต้ผ่านเข้ารอบฟุตบอลโลกทุกรายการ และมีผู้ผลิตรถยนต์ Hyundai-Kia เป็นพันธมิตรเพียงรายเดียวจากเอเชีย
ส่วนในงานปี 2022 สายตาของหลายๆ ประเทศ ต่างจับจ้องไปที่ซูเปอร์สตาร์ ซนฮึงมิน นักฟุตบอลชาวเกาหลีใต้ ซึ่งเล่นให้กับสโมสรท็อตแนม ฮอตสเปอร์ในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ และมีข้อตกลงการเป็นสปอนเซอร์ให้กับบริษัทต่างๆ ตั้งแต่แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเกาหลีใต้ Nongshim ไปจนถึงแบรนด์แฟชั่นระดับโลกอย่าง Burberry และ Calvin Klein
ขณะที่ผู้สนับสนุนรายเดียวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ Crypto.com ของสิงคโปร์ ในฐานะแพลตฟอร์มการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลอย่างเป็นทางการ
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อาจมีบริษัทที่ใหญ่กว่าตามมาในไม่ช้านี้ แต่จะเห็นว่าญี่ปุ่นไม่ได้มีการสนับสนุนในปีนี้ เนื่องจากยังไม่พร้อมใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย เพราะยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลตอบแทนที่จะได้จากการลงทุน
เสียงวิพากษ์วิจารณ์สิทธิมนุษยชนอาจทำให้แบรนด์ยุติการสนับสนุน
หากย้อนกลับไปในปี 2010 บริษัทยานยนต์ Continental, สายการบิน Emirates และบริษัทด้านการดูแลสุขภาพ Johnson & Johnson ได้ตัดสินใจยุติการสนับสนุนอีเวนต์ระดับโลกนี้ จากนั้นในปี 2014 ทาง Sony ได้ประกาศยุติการมีส่วนร่วมกับ FIFA หลังจากองค์กรในสวิตเซอร์แลนด์ต้องพัวพันกับเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน
ส่วนปี 2022 Hyundai-Kia ยังไม่มีความเคลื่อนไหวต่อคำร้องขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการสนับสนุนฟุตบอลโลก เช่นเดียวกันกับบริษัทจีน 4 แห่ง ได้แก่ Vivo ผู้ผลิตสมาร์ทโฟน, Hisense ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, กลุ่มบริษัท Wanda และ Mengniu ซึ่งเป็นบริษัทผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่
ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Business and Human Rights Resource Centre ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนในลอนดอนและนิวยอร์ก ได้ส่งคำถามไปยัง 19 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันฟุตบอลโลกเกี่ยวกับจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชนของพวกเขา ซึ่งได้รับคำตอบกลับจากบริษัทเพียง 4 แห่ง ได้แก่ adidas, Qatar Airways, Budweiser และ Coca-Cola
ที่สำคัญการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้เกิดเรื่องอื้อฉาวและเสียงวิพากษ์วิจารณ์รอบด้าน ซึ่งล้วนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ แต่ก็ยากที่จะประเมินว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนี้จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของบริษัทต่างๆ มากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องยากที่จะประเมินว่าเอเชียจะกลายเป็นภูมิภาคที่สามารถสร้างเม็ดเงินได้มากที่สุดของ FIFA World Cup Qatar 2022 ครั้งนี้ได้หรือไม่
อ้างอิง: