×

FIFA Club World Cup ศักดิ์ศรี-ถ้วยแชมป์-เงินรางวัล เกมนี้…มีไว้เพื่ออะไร?

12.06.2025
  • LOADING...
ถ้วยรางวัล FIFA Club World Cup ตั้งอยู่กลางสนามก่อนพิธีเปิดการแข่งขันปี 2025 ที่สหรัฐอเมริกา

ฟุตบอลโลกจะมีขึ้นในปีหน้า แต่ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลกกำลังจะมาในวันเสาร์นี้!

 

ใช่แล้ว หลังฟุตบอลลีกปิดฉากลงไปได้ไม่ถึง 3 สัปดาห์ดี เรียกว่ายังไม่ทันหายเอียน ฟุตบอลก็วนกลับมาหาเราอีกครั้งแล้ว เพียงแต่ครั้งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นฟุตบอลรายการใหม่เอี่ยมอ่องแกะกล่องกันในปีนี้เป็นครั้งแรก

 

32 ทีมสโมสรฟุตบอลที่ดีที่สุดของโลกจะห้ำหั่นชิงชัยกันเพื่อความเป็นหนึ่งในศึกจ้าวยุทธภพทีมลูกหนัง โดยที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA เป็นเจ้าภาพ 

 

ฟังดูแล้วมันเหมือนจะดี แต่นี่คือรายการฟุตบอลที่เต็มไปด้วยคำครหา ปัญหา เละเทะมากที่สุด

 

ทำไม?

 

ความจริงแล้วสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ FIFA เพิ่งจะเริ่มจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลกอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2000 หรือเมื่อ 25 ปีที่แล้วนี่เอง

 

ก่อนหน้านี้คำว่าการชิงแชมป์สโมสรโลกนั้นเป็นเกม “ประเพณี” ระหว่างสโมสรฟุตบอลยุโรปกับสโมสรฟุตบอลจากอเมริกาใต้ โดยนำแชมป์ของ 2 ทวีปมาประลองฝีเท้ากันเพื่อวัดกันว่าทวีปใดจะเก่งกาจกว่ากัน

 

ตามบันทึกพงศาวดารลูกหนังเกมประลองฝีเท้ากันระหว่าง 2 ทวีปครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นในปี 1957 โดยเรียกกันว่าเกม “Tournoi de Paris” ซึ่งเจ้าภาพคือสโมสรฟุตบอล ราซิง ปารีส (Racing Club de France Football) – ที่ในเวลาต่อมาคือ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง – ต้องการฉลองวาระการก่อตั้งสโมสรครบรอบ 25 ปี ด้วยการจัดมินิทัวร์นาเมนต์ 4 ทีมขึ้น

 

โดยครั้งนั้นได้เชิญสโมสร วาสโก ดา กามา แชมป์ฟุตบอลอเมริกาใต้ “โคปา ลิเบอตาดอเรส คัพ” เดินทางมาแข่งขันกันที่กรุงปารีส ร่วมกับราซิง ปารีส, ร็อต-ไวส์ เอสเซิน​ (จากเยอรมนี) และแชมป์ยุโรป เจ้าของโทรฟียูโรเปียน คัพ อย่าง “ราชันชุดขาว” เรอัล มาดริด

 

ผลปรากฏว่า วาสโก ดากามา เฉือนเอาชนะเรอัล มาดริดได้อย่างสุดมัน 4-3 ในเกมชิงชนะเลิศ เป็นผู้พิชิตโทรฟี Tournoi de Paris ไปครอง 

 

หลังจากนั้นการพบกันระหว่าง 2 ทวีปเป็นเหมือนเกมประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำเกือบทุกปี (มีบางปีที่หยุดไปบ้าง) ที่หลายคนจดจำในชื่อ “อินเตอร์ คอนติเนนตัล คัพ” แต่ก็ไม่ได้ถึงกับเป็นเกมที่จริงจังอะไรมากมายขนาดนั้น 

 

ถ้วยรางวัล FIFA Club World Cup ตั้งอยู่กลางสนามก่อนพิธีเปิดการแข่งขันปี 2025 ที่สหรัฐอเมริกา

 

จนกระทั่ง FIFA มองเห็นโอกาสจึงตัดสินใจตั้งทัวร์นาเมนต์ขึ้นมาใหม่เรียกว่า FIFA Club World Championchip (ก็คือรายการชิงแชมป์สโมสรโลก) โดยเปลี่ยนรูปแบบใหม่จากเป็นแค่การพบกันระหว่างทีมจากยุโรปและอเมริกาใต้ มาเป็นการเชิญแชมป์จาก 6 ทวีปที่รวม อเมริกาเหนือ, เอเชีย, โอเชียเนีย และแอฟริกา เข้าร่วมการแข่งขันด้วย รวมกับทีมแชมป์ลีกบราซิลประเทศเจ้าภาพ และเรอัล มาดริด ในฐานะ “แชมป์เก่า” ของรายการอินเตอร์คอนติเนนตัล คัพ 

 

แฟนบอลที่พอมีอายุหน่อยน่าจะจำกันได้ว่า ในการแข่งขันปฐมฤกษ์เมื่อปี 2000 ที่ประเทศบราซิลนั้นมีกรณีอื้อฉาวขึ้นเมื่อแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แชมป์ยุโรปต้องสละสิทธิ์การแข่งขันรายการเอฟเอ คัพ เพราะไม่สามารถส่งทีมลงแข่งขันได้เนื่องจากโปรแกรมชนกับรายการของ FIFA พอดี

 

ประเด็นคือรายการนี้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอยู่ดี ไม่ว่าจะพยายามปรับตัวสักแค่ไหนก็ตาม ก็ไม่ได้รับความสนใจหรือใส่ใจจากแฟนบอล สื่อ และสโมสรที่ต้องเข้าร่วมการแข่งขันขนาดนั้น โดยเฉพาะแชมป์ยุโรปที่ถือเป็น “เบอร์ใหญ่” ที่ไม่ค่อยอยากเข้าร่วมเพราะโปรแกรมอยู่ในช่วงกลางฤดูกาล กระทบกับการแข่งขันหลัก แม้ว่าผู้จัดอย่าง FIFA จะพยายาม “เอื้อ” ด้วยการให้ลงแข่งน้อยกว่าชาวบ้าน ซึ่งตามหลักการแข่งขันก็เรียกว่าไม่แฟร์แล้วก็ตาม

 

ด้วยศักดิ์และสิทธิ์แล้ว รายการชิงแชมป์สโมสรโลกจึงเป็นรายการที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนชื่อนัก

 

ปูพรมเล่ามาขนาดนี้เพื่อ…กินเนื้อที่ได้หลายบรรทัดครับ

 

ไม่ใช่! 

 

ที่เล่ามานั้นเพื่อจะบอกว่าความไม่ปังของรายการนี้ได้นำมาสู่การตัดสินใจที่จะ “ยกเครื่อง” อีกแล้วของ FIFA ซึ่งหลังจากคิดค้นสูตรมานานก็ออกมาเป็น “FIFA Club World Cup” (FCWC) ที่กำลังจะออกสตาร์ทในวันเสาร์ที่ 14 มิถุนายนนี้

 

เจ้าภาพคือสหรัฐอเมริกา หนึ่งในว่าที่เจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก 2026 (ร่วมกับแคนาดา และเม็กซิโก ที่จัดด้วยนิดหน่อย) นั่นเอง โดย FIFA ให้เหตุผลดีๆ ว่าเป็นรายการ “เช็กความพร้อม” ก่อนที่จะทำการแข่งขัน แทนที่รายการคอนเฟดเดอเรชันส์ คัพ ทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลทีมชาติในอดีต

 

โดยที่ FIFA ต้องการยกระดับการแข่งขันให้มีความหมายมากขึ้นด้วยการปรับคอนเซปต์ใหม่ คือ

 

  • จากแข่งขันกันทุกปี เป็นแข่งขันกัน 4 ปีครั้ง
  • ทีมเข้าร่วม 32 ทีม ตามเงื่อนไขที่แตกต่างกัน แต่โดยหลักยึดจากผลงานการลงสนามในรายการชิงแชมป์ระดับทวีปในช่วงที่ผ่านมา

 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นจากไอเดียดีๆ ครั้งนี้ของ FIFA ที่นำโดย จานนี อินฟานติโน ประธานคนปัจจุบันคือการคัดค้านอย่างรุนแรงจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะสโมสรฟุตบอลในยุโรปที่ถือเป็นเบอร์ใหญ่และเป็นแม่เหล็กของการแข่งขัน

 

ประเด็นปัญหาหลักๆ คือ 

 

  1. โปรแกรมการแข่งขันที่กินระยะเวลายาวนาน เริ่มในวันที่ 14 มิถุนายน – 13 กรกฎาคม ไม่ต่างอะไรจากทัวร์นาเมนต์ใหญ่อย่างฟุตบอลโลก หรือฟุตบอลชิงแชมป์ระดับทวีปอย่างยูโร หรือโคปา อเมริกา

 

  1. จากข้อ 1 เรื่องสวัสดิภาพของนักฟุตบอล เป็นประเด็นใหญ่ที่สุดที่หลายฝ่ายกังวล เพราะนั่นหมายถึงการที่นักฟุตบอลแทบไม่มีโอกาสได้พักเลย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้มีการตั้งประเด็นเรื่องสุขภาพทั้งกายและจิตมาโดยตลอด

 

  1. FIFA รวบรัดตัดตอนจัดการแข่งขันโดยไม่ปรึกษาฝ่ายใดเลย ไม่ว่าจะเป็นสโมสร ลีก หรือสหภาพนักฟุตบอล (FIFPro) จนนำไปสู่การเตรียมดำเนินการทางกฎหมายจากหลายฝ่าย

 

  1. ข้อครหาในการเลือกทีมเข้าร่วมแข่งขัน โดยมีการยัดไส้ทีมอย่าง อินเตอร์ ไมอามี ในฐานะตัวแทนของชาติเจ้าภาพโดยอ้างว่าเป็นแชมป์ MLS Supporters’ Shield (หรือแชมป์ลีกช่วงฤดูกาลปกติ) ทั้งๆ ที่แชมป์อเมริกาที่แท้จริงคือ MLS Cup อย่างแอลเอ แกแล็กซี เพียงเพราะต้องการให้ ลิโอเนล เมสซี นักเตะที่เก่งที่สุดในโลกเข้าร่วมแข่งขันด้วย และการตัดสิทธิ์คลับ ลีออน จากเม็กซิโกในฐานะแชมป์อเมริกาเหนือที่ถูกมองว่าไม่เป็นธรรมด้วย

 

  1. รายการจัดขึ้นในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับรายการชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปหญิง “ยูโร 2025” (2-27 กรกฎาคม) 

 

  1. เงินรางวัล เพราะแม้จะมีการใช้เงินรางวัลเป็นตัวล่อโดยรับปากว่าแต่ละสโมสรที่เข้าร่วมจะได้เงินรางวัล 50 ล้านยูโร แต่ในความเป็นจริงแล้วการเกลี่ยเงินรางวัลยังมีความไม่เท่าเทียม เทน้ำหนักให้กับทีมจากยุโรปมากกว่า – แม้ว่าสำหรับสโมสรจากทวีปอย่างเอเชียและโอเชียเนีย เงินรางวัลที่ได้จากการเข้าร่วมจะมหาศาลอย่างมากก็ตาม

 

  1. ไม่มีสถานีโทรทัศน์หรือผู้ให้บริการเจ้าไหนสนใจซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ทั้งๆ ที่มีทีมอย่าง เรอัล มาดริด, แมนเชสเตอร์ ซิตี หรือปารีส แซงต์ แชร์กแมง เข้าร่วมด้วย

 

 

แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดและแย่ที่สุดที่ FIFA กำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้คือแม้จะพยายามยกเครื่องแล้วแต่รายการนี้เป็นรายการที่ไม่ได้รับความสนใจหรือใส่ใจจากใครเลย อาจจะหนักกว่ารูปแบบเดิมๆ ก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ

 

สื่อแทบไม่แตะ แฟนฟุตบอลไม่ต้องพูดถึงไม่มีการพูดถึง ข่าวน้อยยิ่งกว่าข่าวการย้ายทีมของนักเตะดาวดังเสียอีก

 

อาการนั้นหนักถึงขั้นที่เกมเปิดสนามระหว่าง อินเตอร์ ไมอามี กับอัล-อาลี จำหน่ายตั๋วได้เพียง 25,000 ใบ ทำให้ FIFA ต้องเร่ขายตั๋วที่เหลือบานด้วยการขายในราคา “โละ”​ เหลือแค่ใบละ 4 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 130 บาท

 

ถูกกว่ากาแฟ Speicalty บางร้านในกรุงเทพฯเสียอีก ซึ่งไม่เป็นผลดีเลยต่อภาพลักษณ์ของการแข่งขัน

 

สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือการอัดโปรแกรมเพิ่มแบบนี้จะส่งผลในระยะยาวต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ ของรายการอื่นๆ ที่จัดโดย FIFA ซึ่งรวมถึงฟุตบอลโลกที่จะมีขึ้นในปีหน้าด้วย

 

ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ คือทุกวันนี้แฟนฟุตบอลดูบอลกันขอบตาดำจนอิ่มและเอียนแล้ว แต่สิ่งที่องค์กรอย่าง FIFA พยายามทำคือการยัดอาหารลูกหนังเข้าตาของเรา Supply สูงเกินกว่า Demand ไปไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร

 

ไม่แปลกที่คนจำนวนมากจะไม่สนใจ เพราะไม่ได้รู้สึกว่าเป็นรายการที่สำคัญหรือมีความหมายอะไรขนาดนั้น

 

 

อย่างไรก็ดีสำหรับ FIFA รายการ FCWC ครั้งนี้ความสำคัญที่แท้จริงนั้นไม่ได้อยู่ที่เรื่องของการสร้างทัวร์นาเมนต์ระดับโลกใหม่ขึ้นมาอะไร

 

เพราะเป้าหมายที่แท้จริงนั้นอยู่ที่เรื่องของ “เงินตรา” และ “อำนาจ” 

 

FCWC ถูกมองว่าเป็น “อาวุธ” ที่จะใช้สร้างรายได้ให้แก่สโมสรและนักฟุตบอลในระดับ Elite ของโลก เป็นรายการของ FIFA เองที่จะใช้คานอำนาจการต่อรองกับ UEFA Champions League ที่เพิ่งมีการปรับโฉมไปเหมือนกันในฤดูกาลที่ผ่านมา

 

พูดง่ายๆ คือเป็นการต่อสู้กันในเชิงอำนาจระหว่าง อินฟานติโน กับอเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธาน UEFA ที่กำลังเป็นคู่ปรับสำคัญในตอนนี้

 

โดยที่ “การเมือง”​ เบื้องหลังคือเรื่องเกมชิงอำนาจในวงการฟุตบอลโลก ซึ่งขณะที่ UEFA และเซเฟริน ผนึกกำลังกับทางด้านกาตาร์ ที่นำโดย นาสเซอร์ อัล-เคลาฟี ผู้เป็นทั้งประธานสโมสรปารีส แซงต์ แชร์กแมง และเป็นบุคคลสำคัญผู้ทรงอำนาจของกาตาร์

 

อินฟานติโน และ FIFA ก็จับมือกับซาอุดีอาระเบีย ในฐานะพันธมิตรใหม่ที่นอกจากจะให้สิทธิ์การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034 แล้วซาอุดีอาระเบียยังยื่นมือมาเพื่อช่วยสนับสนุนรายการแข่งขัน FCWC ของ FIFA อย่างเต็มตัว

 

วิธีคือการทำผ่านการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่จู่ๆ DAZN ผู้ให้บริการสตรีมมิงก็ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการนี้ไปด้วยราคาที่ไม่มีใครอยากเชื่อถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ และรายการได้รับการสนับสนุนหลักจาก PIF กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย

 

นี่คือสงครามระหว่างมหาอำนาจที่ใช้สนามฟุตบอลเป็นสมรภูมิ

 

โดยที่นักเตะไม่ต่างจากทหารที่เป็นเบี้ยในเกมนี้ และแฟนฟุตบอลไม่ต่างจากพลเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามตามไปด้วย 

 

ตรงข้ามกับผู้มีอำนาจที่ได้สิ่งที่พวกเขาต้องการสมใจ จิบไวน์อย่างดีดูฟุตบอลในห้องแอร์อย่างสบายใจ

 

ฟุตบอลสโมสรโลกแบบใด น่าเศร้าแบบนี้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising