×

‘FETCO’ เตือน Investment Storm ทำการลงทุนยากขึ้นทั่วโลก หลังเงินเฟ้อพุ่ง กดดันธนาคารกลางเร่งใช้ยาแรง

14.07.2022
  • LOADING...
FETCO

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เตือนการลงทุนจะยากขึ้นในทั่วโลก หลังจากอัตราเงินเฟ้อยังเร่งตัวระดับสูง กดดันธนาคารกลางเดินนโยบายขึ้นดอกเบี้ยแรง พร้อมคาด Fed มีโอกาสขยับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ 1% ในคราวเดียว ด้านดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ‘ซบเซา’ ครั้งแรกในรอบ 11 เดือน 

 

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า สถานการณ์ด้านการลงทุนในตอนนี้เรียกได้ว่าเป็น Investment Storm หรือมรสุมการลงทุน เนื่องจากมีปัจจัยความไม่แน่นอนอีกมากรออยู่ โดยเฉพาะเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ปัจจุบันไต่ระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในเกือบทุกประเทศ 

 

ซึ่งล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาเกินคาดที่ 9.1% เทียบกับที่เคยคาดไว้ที่ 8.8% ส่งผลให้ตลาดหุ้นและตลาดเงินเกิดความผันผวนอย่างหนัก นำโดยค่าเงินดอลลาร์ที่แกว่งตัวบวก-ลบ 1% ขณะที่ตลาดหุ้นหลัก เช่น ดัชนี Dow Jones Futures, Nasdaq Futures รวมไปถึงตลาดอื่นๆ ทั่วโลก ปรับลดลงเช่นกัน 

 

คาด Fed มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ 1% 

จากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ล่าสุด ทำให้มีนักวิเคราะห์เริ่มออกมาคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นนี้ จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.75% ในการประชุมปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ขณะเดียวกันตัวเลข Fed Funds Futures เริ่มบ่งชี้ว่า ตลาดคิดว่าในการประชุมวันที่ 26-27 กรกฎาคมนี้ มีโอกาสถึง 67% ที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ย 1%

 

“สำหรับคำแนะนำลงทุนนั้น แนะนำให้ทยอยลงทุนโดยหาจังหวะเข้าลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี แนวโน้มการเติบโตสูง โดยส่วนตัวประเมินว่าความผันผวนของตลาดจะคลายตัวในปลายไตรมาส 3 ปีนี้ หลังจากเงินเฟ้อถึงจุดพีคและเริ่มปรับลดลงตามที่ธนาคารกลางทั่วโลกคาดหวัง” กอบศักดิ์กล่าว 

 

เชื่อไทยขึ้นดอกเบี้ยไม่เยอะมาก 

สำหรับผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของไทยนั้น กอบศักดิ์กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่เหมาะสม แม้ว่าโอกาสที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ 1% ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ ถ่างขึ้น และมีผลต่อค่าเงินบาทก็ตาม 

 

โดยจากการติดตามข้อมูลจาก ธปท. พบว่าผู้ว่าฯ ธปท. ยืนยันเสมอว่าเศรษฐกิจไทยนั้นอยู่บนวัฏจักรที่แตกต่างจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ กล่าวคือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ฟื้นตัวอย่างร้อนแรงไปแล้ว ขณะที่เศรษฐกิจไทยเพิ่งเข้าสู่ช่วงการเริ่มต้นฟื้นตัวเท่านั้น ประกอบกับปัจจุบันประเทศไทยใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว จึงสามารถขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่เหมาะสมกับบริบทของไทยได้ ต่างจากอดีตที่เคยใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ 

 

ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่องและอาจจะอ่อนค่าลงอีกนั้น มองว่ามีผลดีต่อเศรษฐกิจอยู่เล็กน้อย เพราะเมื่อค่าเงินอ่อนค่า ภาคเกษตร ท่องเที่ยว และส่งออก จะได้อานิสงส์ไปด้วย โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีความเสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ ไทยเองจึงต้องสร้างแรงส่งแก่เศรษฐกิจภายในประเทศบ้าง ซึ่งเชื่อว่า ธปท. จะเลือกสร้างแรงส่งทางเศรษฐกิจ และจะตัดสินใจปรับขึ้นอันตราดอกเบี้ยไม่มากนัก เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ 

 

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนซบเซาครั้งแรกรอบ 11 เดือน 

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ผลสำรวจในเดือนมิถุนายน 2565 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 64.57 ปรับตัวลดลง 23.1% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ในเกณฑ์ ‘ซบเซา’ เป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน 

 

โดยนักลงทุนมองว่าการฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือเงินทุนไหลเข้า และนโยบายการเงินของธ Fed ในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ 

 

สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่อาจนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจถดถอย (Recession) รองลงมาคือภาวะเงินเฟ้อจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก และความกังวลต่อสถานการณ์โควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5

 

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

 

ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กันยายน 2565) อยู่ในเกณฑ์ ‘ซบเซา’ (ช่วงค่าดัชนี 40-79) ลดลง 23.1% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 64.57

 

ความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในระดับ ‘ซบเซา’ ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศอยู่ในระดับ ‘ทรงตัว’

 

หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD) ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดแฟชั่น (FASHION)

 

ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว

 

ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือ นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed

 

ผลสำรวจ ณ เดือนมิถุนายน 2565 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับลด 33.9% อยู่ที่ระดับ 69.57, กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลด 25.9% อยู่ที่ระดับ 55.56, กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับขึ้น 5.9% อยู่ที่ระดับ 87.50 และความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับลด 4.8% มาอยู่ที่ระดับ 57.14

 

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 SET Index เคลื่อนไหวในกรอบแคบอยู่ระหว่าง 1,557.61-1,660.01 จากความกังวลต่อสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลก และความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่สภาวะถดถอยมากขึ้น หลังประธาน Fed และประธาน ECB ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ ทำให้ในเดือนมิถุนายน นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 29,990 ล้านบาท เป็นการขายสุทธิในเดือนแรกหลังจากซื้อสุทธิมาตลอดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดไทยยังได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ภาครัฐประกาศมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นของราคาพลังงาน และมาตรการหนุนภาคท่องเที่ยว ส่งผลให้ SET Index ปิดที่ 1,568.33 จุด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ปรับตัวลดลง 5.7% จากเดือนก่อนหน้า 

 

ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ แนวทางการรับมือของ Fed ต่อสถานการณ์เงินเฟ้อ หลังอัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี, ความไม่แน่นอนของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งยังคงเป็นความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านพลังงานในยุโรป รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ 

 

ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง., สถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจากราคาพลังงานในตลาดโลกและราคาวัตถุดิบในประเทศ และสถานการณ์การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising