×

FETCO เผยความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้า ‘ร้อนแรง’ อานิสงส์แผนฉีดวัคซีนและเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว

07.06.2021
  • LOADING...
สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในโซนร้อนแรงต่อเนื่อง นักลงทุนคาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ แต่ยังกังวลกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่และความขัดแย้งระหว่างประเทศ”

 

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 126.40 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% จากเดือนก่อน ยังคงอยู่ในเกณฑ์ ‘ร้อนแรง’ อย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนคาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการไหลเข้าของเงินทุน 

 

สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ในไทย รองลงมาคือความขัดแย้งระหว่างประเทศ และผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. 

 

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนพฤษภาคม 2564 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้ 

 

  1. ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (สิงหาคม 2564) อยู่ในเกณฑ์ ‘ร้อนแรง’ (ช่วงค่าดัชนี 120-159) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 126.40
  2. ความเชื่อมั่นนักลงทุนเกือบทุกกลุ่มอยู่ในเกณฑ์ ‘ร้อนแรง’ ยกเว้นความเชื่อมั่นนักลงทุนสถาบันในประเทศอยู่ในเกณฑ์ ‘ทรงตัว’
  3. หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) 
  4. หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด หมวดแฟชั่น (FASHION)
  5. ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือแผนการกระจายวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19
  6. ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3

 

“ผลสำรวจ ณ เดือนพฤษภาคม 2564 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวลดลง 3% อยู่ที่ระดับ 125.37 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9% อยู่ที่ระดับ 150.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 26% อยู่ที่ระดับ 118.75 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติคงตัวที่ระดับ 120.00” 

 

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 SET Index ผันผวนอยู่ระหว่าง 1,548.13-1,593.59 โดยตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นในสัปดาห์แรกตามแรงหนุนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นยุโรป และความคาดหวังที่จะได้จำนวนวัคซีนเพิ่มขึ้นจากการร่วมมือของภาคเอกชน 

 

สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และยุโรป จากการทยอยเปิดประเทศหลังจากประชาชนจำนวนมากได้รับวัคซีนแล้ว ซึ่งจะทำให้ภาคการส่งออกไทยได้อานิสงส์ไปด้วย การติดตามผลการประชุมธนาคารกลางในยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอังกฤษ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศเพื่อนบ้านที่อาจส่งผลกระทบต่อไทยอย่างมาเลเซียและเวียดนาม 

 

ส่วนปัจจัยในประเทศ ได้แก่ การสรรหาและแจกจ่ายวัคซีนในประเทศให้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ 100 ล้านโดสภายในปีนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนและจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ ผลการพิจารณา พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติม วงเงิน 5 แสนล้านบาท และผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้

 

อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนมิถุนายน 2564 ว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนกุมภาพันธ์นี้อยู่ที่ระดับ 47 ไม่เปลี่ยนแปลงจากครั้งที่แล้ว และยังอยู่ในเกณฑ์ ‘ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)’ สะท้อนมุมมองของตลาดที่คาดว่าการประชุม กนง. ในเดือนมิถุนายนนี้ กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าลงจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 และ ธปท. ได้กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจและ SMEs ต่างๆ ความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจึงลดลง 

 

ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 2 ปรับตัวลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ ‘ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)’ โดยดัชนีปรับตัวลดลงจากครั้งก่อนจากการมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากขึ้นคาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนจะไม่เปลี่ยนแปลง สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 5 ปีและ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 2 น่าจะไม่แตกต่างไปจากวันที่ทำการสำรวจ (21 พฤษภาคม 2564) ที่ระดับ 1.06% และ 1.86% ตามลำดับ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการคาดการณ์ ได้แก่ อุปสงค์และอุปทานในตลาดตราสารหนี้ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก

 

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising