×

FETCO ค้านเก็บภาษีขายหุ้น ย้ำไม่ใช่สถานการณ์ที่เหมาะสม ชี้เป็นปัจจัยซ้ำเติมสภาพคล่องตลาดหุ้นไทย เสี่ยงวอลุ่มหาย 30-40%

30.11.2022
  • LOADING...

FETCO แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกรณีที่ ครม. อนุมัติให้เก็บภาษีการขายหุ้น มองเป็นผลเสียกับตลาดหุ้นในระยะยาว ถือเป็นปัจจัยลบมาซ้ำเติมตลาดหุ้นไทย

 

ไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ยังคงจุดยืนไม่เห็นด้วยที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (Transaction Tax) เพราะมองว่าในระยะยาวจะเป็นผลเสียกับตลาดหุ้นไทย เนื่องจากเป็นการลดความสามารถในการแข่งขันของตลาดหุ้นไทยลงเมื่อเปรียเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังไม่เหมาะสม ทั้งมูลค่าซื้อโดยรวมของตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงเบาบางอย่างหนักในรอบหลายปี โดยการเก็บภาษี Transaction Tax จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ซ้ำเติมให้สภาพคล่องการซื้อ-ขายยิ่งลดลงไปอีก เนื่องจากเนื่องนักลงทุนจะมีภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

 

“คิดว่าหากมีนโยบายอะไรก็ตาม ทำแล้วมีผลกระทบกับสภาพคล่องในตลาดให้ลดลง อย่างเช่น การเก็บภาษีขายหุ้น ตอนนี้คิดว่าไม่ควรทำ อีกทั้งเศรษฐกิจโลกในปีหน้ากำลังจะเข้าภาวะถดถอยทั้งสหรัฐฯ และยุโรป รวมทั้งดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น ยิ่งทำให้ตลาดหุ้นไม่น่าสนใจอยู่แล้ว ดังนั้นจึงยังไม่ควรเก็บ Transaction Tax ในช่วงนี้ เพราะไม่เหมาะสมที่จะเพิ่มปัจจัยลบให้ตลาดหุ้น ส่วนที่บอกว่าจะจัดเก็บรายได้จาก Transaction Tax ได้ปีละ 1-2 หมื่นล้านบาท ก็ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะตอนนี้วอลุ่มตลาดก็หายไปค่อนข้างเยอะแล้ว” 

 

นอกจากนี้จากข้อมูลเคยคำนวณก่อนหน้านี้ ในกรณีที่มีการจัดเก็บ Transaction Tax จะมีผลกระทบให้มูลค่าการซื้อ-ขายเฉลี่ยรวมในตลาดหุ้นเสี่ยงจะลดลง 30-40% เหลือราวเฉลี่ย 5 หมื่นล้านบาทต่อวัน จากฐานตัวเลขเฉลี่ยตอนนั้นอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 8 หมื่นล้านบาทต่อวัน ขณะที่ตัวเลขมูลค่าการซื้อ-ขายเฉลี่ยรวมปัจจุบันค่อนข้างเบาบางเหลือเพียง 3-4 หมื่นล้านบาทต่อวัน แม้ยังไม่มีผลกระทบจาก Transaction Tax 

 

อีกทั้งมีผลกระทบต่อนักลงทุนต่างชาติที่ถือเป็นกลุ่มหลักในตลาดหุ้นไทยที่จะมีภาระต้นทุนในการซื้อ-ขายขึ้นจากเดิมถึง 2 เท่า ซึ่งสถานะนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่งเริ่มกลับมาซื้อสุทธิในปีนี้เป็นปีแรก จากที่ขายสุทธิหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่องหลายปี อาจต้องชะงักลงไป

 

ด้าน กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ในเรื่องการเก็บภาษีขายหุ้นที่ผ่าน ครม. วานนี้ (29 พฤศจิกายน) FETCO เคยได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา และได้ทักท้วงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

 

ในช่วงที่ตลาดผันผวนปั่นป่วนอย่างยิ่ง ในสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร ทองคำ ค่าเงิน และสินทรัพย์ใหม่ เช่น เงินคริปโตตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมาส่งผลกระทบต่อนักลงทุน และจะผันผวนไปอีกระยะ

 

นอกจากนี้ยังมีวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นรออยู่ข้างหน้า ซึ่งเริ่มเห็นถึงเค้าลางในบางประเทศ และสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือน้อยกว่าครึ่งของก่อนหน้า โดยขอยืนยันว่าช่วงนี้จึงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมสำหรับเรื่องนี้

 

ทั้งนี้ เมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการเก็บภาษีขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในอัตรา 0.10% โดยเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (Transaction Tax) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้วตามที่กระทรวงการคลังเสนอมา หลังจากที่ละเว้นการจัดเก็บภาษีดังกล่าวมาราว 30 ปี 

 

โดยแหล่งข่าวระดับสูงของกระทรวงการคลังเปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ขั้นตอนถัดจากนี้จะต้องนำร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องส่งต่อสำนักงานกฤษฎีกา เพื่อตรวจร่างฯ ตามกระบวนการทางกฎหมาย หลังจากนั้นต้องขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เพื่อเตรียมประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะประกาศช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 คาดว่าจะมีผลบังคับใช้เริ่มจัดเก็บ Transaction Tax จริงได้ในช่วงกลางปี 2566 เป็นต้นไป 

 

ในช่วงปีแรกที่มีการจัดเก็บ Transaction Tax นั้น อัตราการจัดเก็บอาจลดลงจากอัตราจริงราว 50% โดยน่าจะเริ่มจัดเก็บในอัตรา 0.05% ไปจนถึงสิ้นปี 2566 ซึ่งเป็นไปตามที่ FETCO ยื่นขอเสนอมา เพื่อให้ภาคธุรกิจได้มีโอกาสในการปรับตัว 

 

จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 จะกลับมาจัดเก็บในอัตราปกติที่ 0.10% ตามเดิม และจะมีการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นเพิ่มอีก 0.01% รวมเป็นอัตราจัดเก็บทั้งสิ้นรวม 0.11%

 

ทั้งนี้ คาดว่ากรมสรรพากรจะมีรายได้จาก Transaction Tax บนสมมติฐานวอลุ่มซื้อปัจจุบันของตลาดอยู่ที่ประมาณ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising