เมื่อวานนี้ (11 ก.ย.) ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนกันยายน 2562 สำรวจช่วงเดือนกรกฎาคมว่า ผลสำรวจ ณ เดือนสิงหาคม ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลงค่อนข้างมากมาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว
โดยกลุ่มบัญชีนักลงทุนรายบุคคลลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ซบเซา กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ลดลงมากมาอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัว กลุ่มสถาบันในประเทศลดลงเล็กน้อยอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัวเช่นเดิม ขณะที่กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่เกณฑ์ร้อนแรงเช่นเดิม
โดยในช่วงเดือนสิงหาคม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวเคลื่อนไหวลดลงค่อนข้างมากจากระดับสูงสุดช่วง 1700 จุดในต้นเดือน เคลื่อนไหวลดลงสลับกับการพักตัวมาอยู่ระดับต่ำสุดของเดือนที่ 1590 จุดในช่วงกลางเดือน ก่อนฟื้นตัวและทยอยปรับเพิ่มขึ้นมาเคลื่อนไหวในระดับ 1640-1650 จุดในช่วงปลายเดือน โดยทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดคือนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ จากการคาดหวังการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกในปี 2562 และ 2563
รองลงมาคือนักลงทุนคาดหวังนโยบายภาครัฐจากการทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศและติดตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ที่การประกาศตัวเลขการส่งออกดีกว่าที่คาด
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนมีความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากการประกาศตอบโต้เพิ่มอัตราภาษีทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด
ต่อมาคือความกังวลผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนและภาวะเศรษฐกิจในประเทศจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเป็นปัจจัยที่นักลงทุนจับตามอง
สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตาม ได้แก่ นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ EU ที่มีแนวโน้มผ่อนคลายทางการเงิน รวมถึงมาตรการ QE จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทิศทางการเจรจาทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ แนวโน้ม Brexit ที่มีกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 เป็นปัจจัยที่นักลงทุนจับตามอง
นอกจากนี้ อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนกันยายน 2562 ว่า
ผลจากดัชนีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับ 1.50% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปีและอายุ 10 ปีมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงในอีก 9 สัปดาห์ข้างหน้า นับจากวันที่ทำการสำรวจ (23 ส.ค.) เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: