×

FETCO ชี้ความเชื่อมั่นนักลงทุนทรุด-ไอพีโอชะลอขายหุ้น

โดย efinanceThai
11.03.2020
  • LOADING...

ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนเดือนมีนาคมซบเซาต่อเป็นเดือนที่สอง
ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนมีนาคม 2563 ว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง 11.48% มาอยู่ที่ระดับ 64.40 อยู่ในเกณฑ์ซบเซาเป็นเดือนที่สอง

โดยปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนคือภาวะเศรษฐกิจในประเทศและสถานการณ์การท่องเที่ยว ขณะที่ปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดคือนโยบายภาครัฐ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และนโยบายอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน

สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความคืบหน้าปัญหาการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก, นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก และนโยบายผ่อนคลายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ส่วนปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามคือนโยบายเศรษฐกิจภาครัฐเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย การลงทุน การส่งออก และการท่องเที่ยวที่ลดลงมาก นโยบายอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย และการไหลเข้าออกของเงินทุน

FETCO เชื่อ คลังขยายลดหย่อนภาษี SSF ชั่วคราวไม่ช่วยตลาดหุ้นในช่วง 1-2 เดือน
ไพบูลย์ระบุต่อถึงกรณีมาตรการขยายวงเงินพิเศษของกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ต้องลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 65% ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี มองว่าหากเริ่มใช้ได้จริงแล้วยังไม่สามารถช่วยหนุนให้สภาพตลาดหุ้นไทยฟื้นได้ในช่วง 1-2 เดือน อาจต้องพิจารณาออกมาตรการลงทุนในหุ้นโดยตรงชั่วคราวเพิ่ม เช่น เข้าลงทุนหุ้นจำนวน 1-2 แสนบาท ถือยาวระยะเวลา 2-5 ปี เพื่อลดหย่อนภาษี และหากมาตรการดังกล่าวต้องใช้จริงและเห็นผลดีอาจพิจารณาเป็นมาตรการในระยะยาว

“ต้องรอผลจาก SSF 1-2 เดือนจากนี้ว่าจะช่วยตลาดหุ้นได้แค่ไหน ถ้าดูแล้วไม่ได้ผลคงต้องชงแผนใหม่อย่างการซื้อหุ้นโดยตรงแล้วลดหย่อนภาษีได้ แต่ก็ยังเป็นแค่แนวคิด ยังบอกอะไรมากไม่ได้ว่าจะซื้อแบบไหนหรือมีเงื่อนไขแบบใด” ไพบูลย์กล่าว

ทั้งนี้จากสถานการณ์ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงแรง มองว่ามีโอกาสฟื้นตัวแรงได้เช่นกัน เนื่องจากปัจจัยที่เกิดขึ้นมาจากตลาดต่างประเทศ ไม่ใช่ปัจจัยที่เกิดขึ้นในประเทศอย่างวิกฤตต้มยำกุ้ง

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังควรรีบออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือภาคเอกชนที่กำลังแย่จากผลกระทบของโควิด-19 ก่อนที่ธุรกิจจะล้ม เพราะแก้ปัญหาได้ง่ายกว่า โดยหวังว่าประเด็นโควิด-19 จะเริ่มชะลอความรุนแรงลงใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งหากได้มาตรการช่วยเหลือจะช่วยให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

“ธุรกิจล้มตอนนี้มันฟื้นยาก ซึ่งคลังควรออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อทดแทนกำลังซื้อในช่วงนี้ที่หายไป โดยต้องช่วยเหลือให้ถูกกลุ่มเป้าหมาย เพราะถ้าหว่านไปทั้งระบบคงไม่จำเป็น ซึ่งก่อนหน้านี้นโยบายทางการเงินก็ใช้ไปแล้วโดยการปรับลดดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นการคลังจำเป็นต้องออกมาช่วยด้วย” ไพบูลย์กล่าว

จับตา กนง. จ่อลดดอกเบี้ยอีกในการประชุมเดือนมีนาคมนี้
อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนมีนาคม 2563 โดยคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบเดือนมีนาคมนี้ปรับตัวลดลงต่ำสุดตั้งแต่เริ่มจัดทำดัชนีอยู่ที่ระดับ 8 ลดลงอย่างมากจากครั้งที่แล้วมาอยู่ในเกณฑ์ ‘ลดลง’ (Decrease) สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าการประชุม กนง. ในเดือนมีนาคมนี้อาจการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 1% โดยมีสาเหตุจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกที่ลดลง และ Fund Flow จากต่างชาติไหลออก

ส่วนดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ในรอบการประชุม กนง. เดือนพฤษภาคม 2563 (ประมาณ 11 สัปดาห์ข้างหน้า ปรับตัวลดลงต่ำสุดตั้งแต่เริ่มจัดทำดัชนีอยู่ที่ระดับ 22 ทั้งสองดัชนี ลดลงอย่างมากจากครั้งที่แล้วมาอยู่ในเกณฑ์ลดลง เนื่องจากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่คาดว่าอัตราผลตอบแทนอาจลดลงจาก 0.88% และ 1.09% ตามลำดับ ณ วันที่ทำการสำรวจ (28 กุมภาพันธ์ 2563) ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัว อุปสงค์อุปทานในตลาดตราสารหนี้ที่ทรงตัว แนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกที่ลดลง และ Fund Flow จากต่างชาติไหลออก

ตลาดหุ้นแย่ ทำหุ้น IPO ขยาด ชะลอแผนระดมทุน
ประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัท หลักทรัพย์เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับสำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทยว่า จากภาพรวมตลาดหุ้นย่ำแย่ในขณะนี้ทำให้ต้องชะลอแผนการนำลูกค้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกไป

ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จำนวน 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCM และบริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV เข้าจดทะเบียนใน SET ส่วนบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY จะจดทะเบียนในตลาด mai

นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่อยู่ระหว่างเตรียมการยื่นคำขอเข้าจดทะเบียน 4 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่จะต้องประเมินสถานการณ์และภาวะตลาดในช่วงครึ่งปีหลังอีกครั้ง

“แน่นอนว่าภาวะตลาดแบบนี้เป็นเรื่องที่กระทบต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุน อะไรที่อยู่ระหว่างกระบวนการก็ยังดำเนินต่อไป โดยบริษัทที่อยู่ระหว่างรออนุมัติ 3 รายมีความจำเป็นที่ต้องเลื่อนเข้าตลาดออกไปเป็นครึ่งปีหลังนี้ จากกำหนดเดิมจะเข้าตลาดประมาณไตรมาส 1-2 ของปี 2563” ประเสริฐกล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com  

 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising