เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 ชาตรี สุวรรณิน เลขาธิการเนติบัณฑิตยสภา ได้ลงนามในหนังสือที่ 99/2566 เรื่อง พิจารณาคำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หรือ วลพ. แจ้งไปยังเลขานุการ วลพ. อ้างถึงหนังสือของ วลพ. ที่ พม 0504 (วลพ.)/141 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 มีรายละเอียดระบุว่า
ตามหนังสือที่อ้างถึงคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ได้ส่งสำเนาคำวินิจฉัยคำร้องเลขที่ 01/2565 ของนางสาวจิดาภา คงวัฒนกุล ความละเอียดแจ้งอยู่แล้วนั้น
บัดนี้ คณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภา ได้มีมติเห็นชอบให้แก้ไขข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 (2) เพื่อให้สมาชิกหญิงสวมกางเกงได้ ทั้งนี้ มติที่ประชุมดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษก่อนตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ซึ่งจะดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
เมื่อผู้สื่อข่าวตรวจสอบพบว่า ในมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษเนติบัณฑิตยสภา โดยมีอำนาจหน้าที่กำกับกิจการของเนติบัณฑิตยสภาตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
สำหรับกรณีดังกล่าว ประชาไท รายงานว่า สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ระบุว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 วลพ. มีคำสั่งให้สภาทนายความและเนติบัณฑิตยสภา แก้ไขกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ เพื่อรับรองสิทธิทนายความหญิงให้สามารถสวมกางเกงหรือกระโปรงเมื่อสวมเสื้อครุยขณะว่าความในศาลได้ เพื่อระงับและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
สนส. ระบุ จะดำเนินการยื่นหนังสือร้องขอให้สภาทนายความ และเนติบัณฑิตยสภา เร่งดำเนินการตามคำวินิจฉัยของทางคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศต่อไป เพื่อให้เกิดการแก้ไขข้อบังคับ และมีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2529 ที่ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความในเรื่องการแต่งกายระบุไว้ในข้อที่ 20 ที่ให้ทนายความหญิงต้อง ‘แต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น’ รวมทั้งข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา หมวด 3 สิทธิของสมาชิก ข้อ 17 ที่กำหนดให้ทนายความหญิงต้องแต่งกายด้วยกระโปรง โดยถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ สำหรับทนายความหญิงในการว่าความ ส่งผลให้ทนายความหญิงซึ่งเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาและสภาทนายความ ถูกผู้พิพากษาตักเตือน ถูกตำหนิติเตียน ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากเหตุแห่งการแต่งกาย หรือถูกห้ามว่าความเนื่องจากสวมใส่กางเกงไปศาล เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากกฎเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจนของสภาทนายความ
สำหรับประเด็นการต่อสู้เรื่องนี้ กินเวลาต่อสู้ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2563 จนกระทั่งปลายปี 2565 ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดี เมื่อ วลพ. มีคำวินิจฉัยออกมาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ตามรายละเอียดข้างต้น
ขณะที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้อธิบายถึงความสงสัยในหัวข้อ ‘เนติบัณฑิตยสภาเกี่ยวอะไรกับการแต่งกายทนาย’ ว่า เมื่อทางสภาทนายความไม่ได้แก้ไขข้อบังคับตามที่ร้องขอในวันที่ 26 มกราคม 2564 สนส. จึงส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกาและสภาทนายความ ขอให้ประกาศแนวปฏิบัติว่าตามที่สภาทนายความตีความว่าไม่มีข้อห้ามมิให้ทนายความหญิงสวมใส่กางเกงในการว่าความ ดังนั้น ทนายความหญิงสามารถแต่งกายโดยสวมใส่กางเกงว่าความในศาลได้ แต่ฝั่งศาลไม่ได้ประกาศแนวปฏิบัติให้รับกับความเห็นของสภาทนายความนัก จะเห็นได้จากหนังสือตอบกลับของสำนักประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ซึ่งมีใจความว่า การแต่งกายของบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ทนายความในเวลาว่าความนั้น หากบุคคลนั้นมีสิทธิสวมครุยเนติบัณฑิต ย่อมต้องสวมเสื้อครุยนั้นด้วย ตามข้อ 20 (4) ของข้อบังคับสภาทนายความ รวมทั้งต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 17 แห่งข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ด้วย
ทั้งนี้ ผู้ที่จะเป็นสมาชิกสภาทนายความต้องเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาด้วย ทำให้การแต่งกายของทนายความก็เกี่ยวพันกับข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา ซึ่งหากไปดูข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาข้อ 17 ก็จะพบว่าข้อบังคับดังกล่าวก็กำหนดการแต่งกายยึดโยงกับเพศเช่นกัน โดยกำหนดให้สมาชิกเนติบัณฑิตยสภาที่เป็นหญิงแต่งกายแบบสากลนิยม ‘กระโปรง’ สีขาว กรมท่า ดำ หรือสีอื่นซึ่งเป็นสีเข้มและไม่ฉูดฉาด เสื้อสีขาวหรือสีตามกระโปรง รองเท้าหุ้มส้นสีขาว น้ำตาล สีดำ เข้าชุดกันกับเครื่องแต่งกาย ซึ่งก็เป็นการกำหนดที่ไม่ได้แตกต่างจากข้อบังคับของสภาทนายความมากนัก
ต่อมาวันที่ 8 ธันวาคม 2564 นิติฮับ (Nitihub) และ สนส. ได้ยื่นหนังสือต่อนายกเนติบัณฑิตยสภา ขอแก้ไขข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาเรื่องการแต่งกาย และทำแคมเปญให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนให้ทนายความหญิงสามารถใส่กางเกงไปศาลได้ ทางเว็บไซต์ www.change.org/p/ทนายความหญิงมีสิทธิสวมใส่กางเกงไปศาล และนำรายชื่อประชาชนไปยื่นประกอบด้วย
อ้างอิง: