×

คุณนายลั่นทม อีแพง คุณปี๋ ฯลฯ ผีผู้หญิงในละคร แรงเฮี้ยนที่ไม่ใช่แค่ความน่ากลัว

30.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ถ้าเราพูดถึงปอบผีฟ้า เปรตวัดสุทัศน์ คุณนายลั่นทม ผีอีแพง ผีนางกาหลง คุณปี๋ ผีคุณอุบล และอื่นๆ อีกมากมาย เชื่อเถอะว่าพวกเธอคือเหล่าผีเซเลบริตี้เอลิสต์ของวงการโลกวิญญาณไทยที่โด่งดัง และหนึ่งข้อสังเกตที่เราเองยังสงสัยอยู่เสมอคือทำไมผีในละครไทยที่เราพอจะจำได้จึงล้วนแล้วแต่เป็นเพศแม่กันทั้งนั้น
  • สิ่งที่น่าชื่นชมที่สุดในละคร ศีรษะมาร คือตัวละครผู้หญิงที่เป็นดังตัวแทนของมนุษย์คนหนึ่งที่อยากจะมีชีวิตรอดและอยากเอาชนะความตาย ทั้งยังมีคาแรกเตอร์ของตัวละครที่ค่อนข้างหัวสมัยใหม่ในยุคนั้น
  • ในวันที่ หมู-พิมพ์ผกา เสียงสมบุญ รับบทเป็น บัวแปง ในละครเรื่อง บ่วง (2535) มีฉากที่ผีบัวแปงไปนั่งอยู่บนขื่อ เปรียบกลายๆ เหมือนการเอาสถานะไพร่ขึ้นไปเหยียบหัวผู้คนชั้นสูงในเวลานั้น และแน่นอนว่ามันน่ากลัวมาก!

“ไม่รีบเข้านอน เดี๋ยวผีแม่นาคมาหักคอนะ”

 

ต้องยอมรับว่าคุณย่าของผมมีความฮาร์ดคอร์ในการหลอกลวงให้เราไปนอนมากในตอนนั้น วัยที่เรายังเป็นเด็กและบริสุทธิ์ต่อความกลัว คำถามเกิดขึ้นมากมายว่าทำไมต้องหักคอ แล้วทำไมผีต้องมาหลอกกัน แล้วทำไมเพียงแค่เพราะความมืดจึงทำให้เราจินตนาการถึงความน่ากลัวของสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างสุดใจ

 

จวบจนโตขึ้นมา เราได้มีโอกาสชมความน่ากลัวกลั้วสยองจากละครไทยที่ว่าด้วยเรื่องผีมากมายผ่านทางโทรทัศน์ บ้างก็ทำให้ขวัญผวาอยู่หลายครั้ง บ้างก็เก็บเอาไปฝันจนพานให้กลัวหัวหด โดยเฉพาะถ้าเราพูดถึงปอบผีฟ้า เปรตวัดสุทัศน์ คุณนายลั่นทม ผีอีแพง ผีนางกาหลง คุณปี๋ ผีคุณอุบล ผีคุณยายวรนาฏ ดารายัณ เจ้าสีเกด ผีอีเม้ย ครูรมณีย์ และอื่นๆ อีกมากมาย แต่เชื่อเถอะว่าชื่อที่เราหยิบยกขึ้นมาคือเหล่าผีเซเลบริตี้เอลิสต์ของวงการโลกวิญญาณไทยที่โด่งดัง กวาดทั้งกระแสและเรตติ้งให้ผู้ชมทุกบ้านติดกันงอมแงม แต่หนึ่งข้อสังเกตที่เราเองยังสงสัยอยู่เสมอคือ ทำไมผีในละครไทยที่เราพอจะจำได้จึงล้วนแล้วแต่เป็นเพศแม่กันทั้งนั้น

 

 

ผีผู้หญิงในละครไทย

หากมองรวมๆ กันทั้งภาคพื้นทวีปเอเชียที่ส่วนใหญ่ต่างถูกจำกัดกรอบความคิดมาเสมอว่า ‘ผู้ชายคือช้างเท้าหน้า ผู้หญิงคือช้างเท้าหลัง’ ในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) ดังนั้นภาพแทนของผู้หญิงในสื่อหรือในความเป็นจริงก็ตามนั้นหมายถึงความอ่อนแอ การจะต้องอยู่ภายใต้เพศชาย การถูกกดขี่ข่มเหง และการบังคับให้ต้องอยู่ในรูปในรอย รักนวลสงวนตัว ไม่ต้องมีปากมีเสียง และแน่นอนว่าความเฮี้ยนของผู้หญิง (ตั้งแต่ยังไม่ตาย) ถูกมองว่าเป็นเพศเจ้าอารมณ์ เจ้าคิดเจ้าแค้น ผูกใจเจ็บ ปวดท้องเมนส์ก็โกรธเคือง ซึ่งล้วนแต่เป็นวิธีการมองเรื่องเพศแบบเดิมๆ ที่ปลูกถ่ายความคิดต่อๆ กันมา

 

และในท้ายที่สุดพวกเธอก็ต้องจำนนกับอำนาจบางอย่าง เช่น พ่ายแพ้ต่อความดี ยอมอโหสิกรรม หรือได้รับบุญกุศลที่คนอื่นทำไปให้ รวมไปถึงการพ่ายแพ้ให้แก่หมอผีที่ล้วนแต่เป็นผู้ชาย และด้วยวิธีคิดดังกล่าว การออกแบบผีให้เป็นเพศหญิงจึงดูเป็นมิติที่นักเขียนหรือผู้กำกับละครสามารถเล่นหรือออกแบบตัวละครให้มีความซับซ้อนทางอารมณ์ และผู้ชมเองก็ต่างเชื่อและเข้าใจ (รวมถึงเห็นใจในหลายๆ ครั้ง) ตัวละครผีผู้หญิงเหล่านั้นด้วยกรอบความคิดทางเพศเช่นกัน

 

แต่ในประวัติศาสตร์ละครไทยที่ผ่านๆ มาก็ไม่ใช่ทั้งหมดเสียทีเดียวที่ผีเพศแม่จะถูกนำเสนอด้วยกรอบความคิดดังกล่าว และเราได้รวบรวมผีผู้หญิงบางส่วนที่ไม่ได้มาแค่หลอกให้กลัว แต่ภูมิหลังและรูปแบบพลังงานของพวกเธอก็มีความรุนแรงและนำเสนอประเด็นทางสังคมบางอย่างที่ชัดเจนและน่าจดจำ

 

 

คุณปี๋: เพื่อนหญิงพลังหญิงที่น่ายกย่อง

ย้อนกลับไปในปี 2536 คนไทยได้รู้จักกับ ปิลันธา หรือคุณปี๋ (รับบทโดย ดา-ชฎาพร รัตนากร) จากละคร ศีรษะมาร ละครที่ว่าด้วยเรื่องของผีผู้หญิงคอขาดที่มีพลังจิตและต้องกินเลือดเป็นอาหาร! แต่ประเด็นมันไม่ได้อยู่ตรงความน่ากลัวขั้นสุดของหัวที่ลอยไปลอยมาได้อย่างอิสระ เพราะสิ่งที่น่าชื่นชมที่สุดในละครไทยเรื่องนี้คือตัวละครผู้หญิงที่เป็นดังตัวแทนของมนุษย์คนหนึ่งที่อยากจะมีชีวิตรอดและอยากเอาชนะความตาย แต่ในการอยู่รอดของเธอเองก็ต้องแลกมาซึ่งการทำร้ายคนอื่นๆ และคาแรกเตอร์ของตัวละครที่ค่อนข้างหัวสมัยใหม่ในยุคนั้น ทั้งเปรี้ยวด้วยจริตการแต่งตัว ขับรถซิ่ง (จนตาย) หรืออยากจะแย่งผู้ชายของคนอื่นมาด้วยพลังจิต ต้องยอมรับว่าคุณปี๋เป็นผีผู้หญิงที่น่าสนใจและน่าจดจำที่สุดคนหนึ่งของวงการละครบ้านเรา ก่อนที่เธอจะเหลือแต่สมองและกลายเป็นคอมพิวเตอร์ในที่สุด เป็นบทสรุปเดิมๆ เมื่อพูดถึงการให้ตัวละครที่ไม่ปฏิบัติตัวเช่นผู้หญิงในกรอบความคิดดั้งเดิมหรือประพฤติตัวตามครรลองสังคมพบจุดจบที่ไม่สู้ดี – ไหนลองหาผ้าพันคอสักผืนมาพันคอสักหน่อย

 

 

ผีอีแพง: อิฉันมันคนยากไร้

ความต่ำต้อยของบ่าวไพร่ในยุคก่อนเลิกทาสนั้น คุณก็น่าจะรู้ดีว่ามันแย่แค่ไหนที่ตีค่ามนุษย์ด้วยเงินทอง ซื้อขาย และพาไปเป็นบ่าวในเรือน อย่างเช่น บัวแปง หรืออีแพง ในละครเรื่อง บ่วง เด็กสาวในเรือนเบี้ยที่เติบโตมาในฐานะบ่าวที่เก็บกดและถูกกดขี่ แถมยังอุตส่าห์มีความเชื่อแบบสุดใจว่าตนเองเป็นลูกของคุณหลวงในเรือน เจียมตัวหน่อยย่ะหล่อน! ด้วยพื้นหลังของครอบครัวและสังคมที่เธอเติบโตมา ดังนั้นการที่เธอได้พบปะกับคุณหลวงอันเป็นเสมือนน้ำทิพย์หยดเดียวที่ชโลมหัวใจ อันเป็นเหตุให้เธอต้องการและโหยหาความรักจากคุณหลวง

 

 

จริงๆ แล้วความต้องการที่แท้จริงของเธอไม่ใช่ความรักทั้งหมด แต่เป็นการที่จะได้เลื่อนสถานะทางสังคมขึ้นไปเพื่อหลุดพ้นจากบ่วงที่ชื่อว่าไพร่ให้หมดจด แต่ก็อย่างที่ทราบกันว่าเธอต้องใช้มนต์ดำต่างๆ เพื่อให้คุณหลวงหลงรัก และท้ายที่สุดเธอก็ถูกลงโทษจนกลายเป็นความแค้นข้ามภพข้ามชาติ

 

สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดของเรื่องนี้คือการแสดงของ หมู-พิมพ์ผกา เสียงสมบุญ ในวันที่เธอรับบทเป็น บัวแปง ในปี 2535 กับการมีฉากที่ผีบัวแปงไปนั่งอยู่บนขื่อ เปรียบกลายๆ เหมือนการเอาสถานะไพร่ขึ้นไปเหยียบหัวผู้คนชั้นสูงในเวลานั้น และแน่นอนว่ามันน่ากลัวมาก!

 

 

คุณนายลั่นทม: มาอยู่ด้วยกันแบบคนกับผี

หากนับว่าผีผู้หญิงที่มีความคิดแบบโพสต์โมเดิร์น ก้าวข้ามทุกความเป็นจริงไปได้ เราต้องยอมรับว่าตัวละครของ คุณนายลั่นทม ในละครเรื่อง สุสานคนเป็น นั้นนับเป็นหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ด้วยเรื่องราวของลั่นทมที่ถูกวางแผนลอบฆ่าจากสามีและภรรยาน้อยจนทำให้เธอกลายเป็นศพที่ยังรู้สึก โดยอ้างอิงจากโรคทางการแพทย์อย่าง Locked-in Syndrome (LIS) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มีอาการช็อก สลบ ไม่สามารถเคลื่อนไหวตนเองได้ แต่ประสาทยังรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ได้ยินเสียงคนพูดเหมือนคนปกติทั่วไป หากแต่ร่างกายเป็นอัมพาต ไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวหรือขยับเขยื้อนร่างกายได้เท่านั้น เธอจึงตัดสินใจเก็บร่างของตัวเองไว้ในโลงแก้วแล้วออกตามหลอกหลอนสามีและภรรยาน้อยอยู่ร่ำไป

 

แต่สิ่งที่เราตื่นเต้นที่สุดในความเฮี้ยนคือเธอต้องการที่จะให้สามีกลับมาอยู่ด้วยกันแบบคนกับผีก็ได้! ซึ่งเจ้าความคิดดังกล่าวนี้นับเป็นการพยายามลบล้างวิถีชีวิตดั้งเดิมของมนุษย์ไปทั้งหมด และแน่นอนว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่ผีจะอยู่ร่วมกับคนอย่างปกติสุข ซึ่งเรายังจะได้เห็นลักษณะนี้ในละครอย่าง เรือนกาหลง หรือ แม่นาคพระโขนง ที่ตัวละครผีต่างต้องการที่จะอยู่กับคนที่เธอรักก็เท่านั้น – โรแมนติกที่สุด!

 

 

ดารายัณ: เมื่อยังหายใจ ฉันทำอะไรไม่ได้เลย

ยังมีผีผู้หญิงอีกหลายคนที่เรารู้สึกเห็นใจในการกระทำของเธอ เพราะถึงแม้เธอจะอาฆาตแค้น ฆ่าคนตาย แต่ก็ทำไปด้วยเหตุผลที่เหมาะสม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรากำลังพูดถึงการต่อสู้ของผู้หญิงที่ไม่สามารถทัดทานโลกที่ชายเป็นใหญ่ได้ อย่างเช่น อุบล จากเรื่อง พิษสวาท หญิงที่ถูกสามีฟันคอให้ตายเพื่อเป็นวิญญาณเฝ้าสมบัติของชาติ หรือ ดารายัณ หญิงที่โดนล่อลวงให้บอกความลับบางอย่าง ก่อนจะตายอย่างทรมานด้วยความหวัง รอให้ชายที่รักกลับมาหา พวกเธอน่าสงสารมาก หากคุณเคยดูละครสองเรื่องนี้จะรู้ว่าพวกเธอต่างก็ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อตัวเองในท้ายที่สุด

 

แต่การต่อสู้ที่ว่าของพวกเธอกลับไม่ได้เกิดขึ้นในขณะที่ยังมีลมหายใจ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ดารายัณหรือคุณอุบลเท่านั้น แต่เรายังหมายถึงผีผู้หญิงอีกมากมายจากหลายๆ เรื่องที่กำลังเรียกร้องสิทธิ์อะไรบางอย่างโดยเลือกใช้พื้นที่หลังความตายเป็นเสมือนตัวแทนอำนาจของพวกเธออย่าง ริลณี ใน นางชฎา หรือ เจ้าสีเกด ใน สาปภูษา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วพวกเธอไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เลยในชีวิตจริงขณะที่ยังมีลมหายใจ และถึงผู้หญิงจะเป็นเสมือนช้างเท้าหลังในบริบทสังคมเดิม แต่แท้จริงแล้วภาพของผีผู้หญิงในละครไทยในหลายๆ เรื่องคือการต่อสู้เพื่อพื้นที่ทางสังคมของพวกเธอ เพื่อให้ผู้ชมได้เข้าใจและปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อผู้หญิงไปโดยสิ้นเชิงที่ไม่ใช่แค่อาฆาตแค้นและริษยาอย่างไร้เหตุผล

 

ว่าแต่คุณกลัวผีผู้หญิงคนใดมากที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X