×

Fedspeak เราต้องฟังใครพูดบ้าง?

30.06.2021
  • LOADING...
Fedspeak เราต้องฟังใครพูดบ้าง?

เดือนที่แล้วผมเขียนถึงประเด็นตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตัวเลขที่ตลาดการเงินโลกโดยเฉพาะตลาดพันธบัตรได้ให้ความสำคัญในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากจะเป็นตัวเลขสำคัญเลขหนึ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (US Federal Reserve: Fed) ใช้ในการประการตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบาย และอีกประเด็นที่คุยกันคือ การสื่อสารจาก Fed ในรูปของผลการประชุม รายละเอียดการประชุม หรือการให้สัมภาษณ์ของคณะกรรมการ FOMC (Federal Open Market Committee) จะเป็นสิ่งที่ตลาดให้ความสำคัญมากในระยะข้างหน้า 

 

โดยหลายท่านคงทราบดีแล้วว่าจากการประชุม Fed เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แม้ Fed จะไม่ได้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้ (ทราบกันดีอยู่แล้วว่าอย่างไร Fed ก็คงดอกเบี้ยรอบนี้) แต่สัญญาณที่ตลาดการเงินโลกติดตามคือ Fed ส่งออกมาผ่านการปรับคาดการณ์ 2021-2023 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต อย่างไร และเมื่อผลออกมาว่า Fed มองเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Private Consumption Expenditure inflation) ที่เป็นตัวเลขหลักที่ Fed ใช้ดูเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมากในปีนี้ ทำให้แม้ที่ผ่านมา Fed จะบอกตลาดมาตลอดว่าเงินเฟ้อเร่งตัวเป็นเรื่องชั่วคราว (Transitory) 

 

แต่มารอบนี้ สิ่งที่ Fed สะท้อนท่าทีอย่างชัดเจนคือการปรับ Dot Plot ซึ่งคือการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต โดยก่อนหน้านี้ในการประชุมเดือนมีนาคม Fed บอกกับเราว่าดอกเบี้ยจะเริ่มถูกปรับขึ้นในปี 2024 แต่มาในการประชุมเดือนมิถุนายนกลับบอกว่าดอกเบี้ยจะขึ้นในปี 2023 ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่มาเร็วและมากกว่าคาด 

 

นอกจากนี้หลังจากการประชุมไม่กี่วัน มีสมาชิก FOMC ท่านหนึ่งคือ เจมส์ บูลลาร์ด ให้สัมภาษณ์ว่าด้วยความเร็วของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แบบนี้ เขาเชื่อว่า Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยได้ในปี 2022 ซึ่งเร็วกว่าที่ FOMC บอกไว้เสียอีก ซึ่งในวันนั้นเองตลาดหุ้น S&P 500 ของสหรัฐฯ ได้ปิดลดลงถึง -1.3% อย่างไรก็ตามในอีกไม่กี่วันต่อมาก็มีสมาชิก FOMC ท่านอื่นๆ ออกมาปลอบตลาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยคงไม่ได้ทำได้เร็วนัก เช่น จอห์น วิลเลียมส์ ก็ออกมาพูดว่าแม้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะดูชัดเจนขึ้นมาก แต่คงยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับการถอนแรงสนับสนุนด้านนโยบายการเงิน รวมถึง เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed เองก็มีการแถลงกับสภาคองเกรส ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีทิศทางที่ชัดเจนขึ้นต่อเนื่องแต่ยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในตลาดแรงงาน และยังมีความเสี่ยงเรื่องการกลับมาระบาดและการชะลอตัวลงของความเร็วในการฉีดวัคซีน 

 

คำถามคือแล้วเราควรฟังใครดี? 

 

ตอบสั้นๆ ก่อนเลยว่า ในช่วงที่ Fed กำลังจะปรับนโยบาย รวมถึงตลาดค่อนข้างอ่อนไหว คำให้สัมภาษณ์ของสมาชิก FOMC ทุกท่านมีน้ำหนักที่ตลาดต้องฟัง เพียงแต่น้ำหนักของแต่ละท่านไม่เท่ากัน โดยจากโครงสร้างของคณะกรรมการ FOMC ที่มีทั้งหมดได้สูงสุดถึง 19 ท่าน ประกอบไปด้วย Board of Governors ทั้งหมด 7 ท่าน (แต่ในปัจจุบันมีทั้งหมด 6 ท่านทำให้ FOMC ตอนนี้มีทั้งหมด 18 ท่าน) และ Presidents of Federal Reserve Bank (ประธาน Fed สาขาต่างๆ) ทั้งหมด 12 ท่าน ซึ่งมาจาก Federal Reserve Bank ทั้ง 12 สาขาทั่วสหรัฐฯ โดย FOMC ที่ในปัจจุบันมีทั้งหมด 18 ท่าน มีสิทธิ์ที่จะร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายในอนาคต รวมถึงการให้ประมาณการอัตราดอกเบี้ยในอนาคตที่แสดงออกมาเป็น Dot Plot (ทำให้ในช่วงปีนี้ถ้าหากเรานับ Dot Plot ในแต่ละปีจะเห็นปีละ 18 ดอต) 

 

แต่ไม่ใช่ FOMC ทั้งหมดจะมีสิทธิ์โหวตในการประชุมเพื่อตัดสินเกี่ยวกับนโยบายการเงินของ FOMC ในแต่ละครั้งจะมีสมาชิกที่มีสิทธิ์โหวต หรือที่เรามักได้ยินว่า Voting Member ได้เพียง 12 ท่าน ประกอบไปด้วย Board of Governors ทั้งหมด 7 ท่าน (แต่ในปัจจุบันมีทั้งหมด 6 ท่าน) ร่วมกับ President of the Federal Reserve Bank of New York ส่วนที่เหลือ 4 ท่านจะมาจาก President of the Federal Reserve Bank สาขาต่างๆ ที่เหลืออีก 11 สาขา (โดย 4 ท่านดังกล่าวจะมีเทอมการโหวต 1 ปี และมีการหมุนเวียนให้ President จากสาขาอื่นๆ ที่เหลือเข้ามาเป็น Voting Member โดยมีการประกาศว่าใครจะเป็น Voting Member ในปีไหนบ้างล่วงหน้า 3 ปีในเว็บไชต์ของธนาคารกลางของสหรัฐฯ) 

 

ปกติแนวคิด มุมมอง การให้สัมภาษณ์ของ Voting Member จะถูกติดตามและให้น้ำหนักค่อนข้างมากจากตลาด แต่อย่างที่ทราบกันว่าปีนี้ไม่ใช่ปีปกติ เพราะเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่งจะฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด (น่าเสียดายที่เศรษฐกิจไทยปีนี้คงใช้คำว่าฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นัก) ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ตลาดก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าปีนี้ก็คงยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนอะไร แต่การปรับเปลี่ยนนโยบายสำคัญทั้งเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และลดการเข้าซื้อพันธบัตรของ Fed (QE Taper) จะเกิดขึ้นในช่วงปี 2022-23 ดังนั้นตลาดเลยไม่ได้ให้ความสำคัญการให้สัมภาษณ์ของเฉพาะ Voting Member ในปีนี้ แต่รวมถึง Voting Member ที่จะกำลังหมุนเวียนมาเข้ามาในปี 2022 และ 2023 อีกด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณีการให้สัมภาษณ์ของ เจมส์ บูลลาร์ด ประธาน Fed สาขาเซนต์หลุยส์ ที่ไม่ได้เป็น Voting Member ในปีนี้แต่จะหมุนเวียนมาเป็นในปี 2022 

 

นอกจากจะดูว่าเป็น Voting Member แล้ว อีกประเด็นที่ตลาดให้ความสำคัญคือท่าทีของ Voting Member ว่าแต่ละท่านอยู่ในกลุ่มที่เน้นการเติบโตของเศรษฐกิจ (Dovish ไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย แม้ความเสี่ยงเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น เพื่ออยากให้ดอกเบี้ยต่ำ ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ) หรือเน้นรักษาเสถียรภาพด้านราคา (Hawkish รีบปรับขึ้นดอกเบี้ย เมื่อเห็นความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงขึ้น และ/หรือเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านการเงินด้วย) รวมถึงท่าทีของท่านเหล่านั้นเปลี่ยนไปหรือไม่เมื่อเห็นตัวเลขเศรษฐกิจหลักล่าสุด กลับมาที่ตัวอย่างของ เจมส์ บูลลาร์ด อีกรอบ ปกติตลาดจะประเมินว่าบูลลาร์ดเป็นกลุ่ม Dovish แต่พอแกออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัวได้เร็ว และดอกเบี้ยขึ้นได้ในปี 2022 ตลาดก็เลยยิ่งกังวลว่าขนาดคนที่ Dovish ยังขนาดนี้แล้ว Voting Member ท่านอื่นจะขนาดไหน 

 

โดยสรุปแล้วในช่วงที่เหลือของปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ดี แม้ในด้านของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจรวมถึงอัตราเงินเฟ้ออาจผ่านจุดเติบโตสูงสุด แต่ก็สะท้อนถึงการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องและรวดเร็ว Fed น่าจะเริ่มมีการปรับเปลี่ยนแนวนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงสื่อสารการทำ QE Tapering โดยในมุมมองของ SCBS CIO เราประเมินว่า Fed จะส่งสัญญาณแบบค่อยเป็นค่อยไปในการทำ QE Taper ในช่วงปลายไตรมาส 3/21 และขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกปี 2023 โดย Fedspeak จะเป็นอีเวนต์สำคัญอย่างหนึ่งที่ตลาดให้ความสำคัญ และสร้างความผันผวนในตลาดการเงินโลกได้ แต่เราเชื่อว่าโดยรวมแล้ว FOMC แต่ละท่านจะออกมาแสดงความคิดเห็นของตัวเองเพื่อให้ตลาดค่อยๆ ปรับตัว หรือที่เรียกว่า ‘การนวดตลาด’ ซึ่งแม้ตลาดจะมีความผันผวนในช่วงนี้ แต่ก็จะยังน้อยกว่าในกรณีที่ออกมาพูดครั้งเดียวแล้วตลาดตกใจจนเกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ขนาดใหญ่ 

 

2021-23 Federal Open Market Committee (FOMC) และมุมมองของ SCBS CIO 

ที่มา: การวิเคราะห์โดย SCBS CIO จากข้อมูล US Federal Reserve จนถึงเดือนมิถุนายน 2021

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X