×

Fed มติเอกฉันท์ ‘คง’ ดอกเบี้ยนโยบายตามคาด มองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นต่อเนื่อง ไม่ห่วงเงินเฟ้อเริ่มขยับ

29.04.2021
  • LOADING...
Fed มติเอกฉันท์ ‘คง’ ดอกเบี้ยนโยบายตามคาด มองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นต่อเนื่อง ไม่ห่วงเงินเฟ้อเริ่มขยับ

คณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เช่นเดิมที่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมระหว่างวันที่ 27-28 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในตลาดคาดการณ์กันไว้


โดยแถลงการณ์ของ Fed ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง เพราะได้แรงหนุนจากสถานการณ์การฉีดวัคซีนภายในประเทศ ทำให้ความเสี่ยงเรื่องโควิด-19 ลดลง ซึ่งจากเดือนที่แล้วที่ Fed ระบุว่าไวรัสเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ ในการประชุมเมื่อวานนี้ (28 เมษายน) Fed กล่าวเพียงว่ายังมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจเพราะการระบาดอยู่

 

แม้ความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ Fed วางใจได้ โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่า Fed ต้องการหลักฐานการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก่อนที่จะดำเนินการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ ซึ่งรวมถึงการปรับนโยบายผ่อนคลายทางการเงินที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันให้เข้มงวดรัดกุมมากขึ้น

 

แถลงการณ์ของ Fed ระบุว่า เศรษฐกิจยังคงเผชิญความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่ง Fed จะใช้เครื่องมือทุกอย่างในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพื่อให้มีการจ้างงานเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพของราคา

 

นอกจากจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไปแล้ว Fed จะยังคงซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างน้อย 120,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน โดย Fed จะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ วงเงิน 80,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในวงเงิน 40,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งหมดเพื่อช่วยให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวอยู่ในระดับต่ำต่อไป

ในส่วนของตัวเลขเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจนหลายฝ่ายวิตกกังวล Fed มองว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มขึ้นชั่วคราวเท่านั้น โดย เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed กล่าวระหว่างการแถลงข่าวอย่างชัดเจนว่า Fed ไม่รีบร้อนที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และสิ่งสำคัญที่ Fed ต้องเห็นก่อนเปลี่ยนแปลงนโยบายก็คือการที่เศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ โดยเฉพาะตลาดจ้างงานเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางบวกและยั่งยืนมั่นคงมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาบ่งชี้ถึงแนวโน้มการขยายตัวในทางบวก ทั้งตัวเลขการจ้างงานที่กระเตื้องขึ้น เช่นเดียวกับตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าเริ่มจับสัญญาณที่เอื้อต่อการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งและยั่งยืนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง จำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น และชาวอเมริกันนำเงินช่วยเหลือที่ได้จากรัฐมาใช้จ่ายมากกว่าเก็บออม

 

ในเดือนมีนาคม บรรดาผู้ประกอบการได้เพิ่มตำแหน่งงานมากขึ้นเกือบ 1 ล้านตำแหน่ง ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนเมษายนก็พุ่งทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้วที่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ


ส่วนข้อซักถามที่ว่า ตลาดงานมากแค่ไหนถึงจะเพียงพอที่จะบ่งชี้ได้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ฟื้นตัวหลุดจากภาวะซบเซาแล้ว ประธาน Fed กล่าวว่า ตั้งเป้าไว้ที่การเห็นชาวอเมริกันประมาณ 4 ล้านคนที่ต้องตกงานตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้วมีงานทำและใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข

 

ขณะเดียวกัน แม้ว่า Fed จะไม่กังวลเรื่องเงินเฟ้อ แต่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งก็อดเตือนไม่ได้ว่า นโยายกระตุ้นเศรษฐกิจ บวกกับแผนปฏิรูปภาษีและแผนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของประธานาธิบดีไบเดน จะกดดันให้บริษัททั้งหลายต้องหาทางชดเชยรายได้ที่หายไปด้วยการขึ้นราคาสินค้าและบริการ จนกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าสถานการณ์ดังกล่าวเสี่ยงทำให้เกิดขึ้นภาวะ Wage Price Spiral ขึ้น

 

โดย Wage Price Spiral เป็นผลจากการที่ราคาสินค้าได้ปรับขึ้นอย่างมากจนลูกจ้างบริษัทหันมาต่อรองกับนายจ้างเพื่อขอขึ้นเงินเดือน/ค่าจ้าง โดยที่อัตราค่าจ้างที่เรียกร้องนั้นเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ณ เวลานั้นๆ เพื่อให้ครอบคลุมถึงภาระภาษีที่เกิดขึ้นด้วย เมื่อต้องแบกรับภาระที่ต้องจ่ายเงินเดือนให้พนักงานมากขึ้น ทางผู้ผลิตจึงต้องปรับราคาสินค้าขึ้นด้วย เกิดเป็นวงจรที่เงินเดือนไล่ตามราคาและราคาไล่ตามเงินเดือน วนเป็นลูป (Spiral) เช่นนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งสหรัฐฯ เคยเผชิญกับสภาวการณ์ดังกล่าวมาแล้วในช่วงปี 1960 และ 1970

 

ทั้งนี้คณะกรรมการ Fed ยังได้ปรับเพิ่มแนวโน้มการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปีนี้ ว่าจะสามารถขยายตัวได้ที่ 6.5% และคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจาก 18% มาอยู่ที่ 2.4%

 

ด้านความเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นคืนที่ผ่านมา ตลาดวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ ปิดตลาดปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยดัชนี S&P 500 ลดลง 0.08% มาอยู่ที่ 4,183.18 จุด ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ลดลง 164 จุด ปิดที่ 33,820.38 จุด และดัชนีแนสแด็ก คอมโพสิต ลดลง 0.28% มาอยู่ที่ 14,051.03 โดยนักลงทุนยังคงเฝ้ารอดูผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้ของบริษัทชั้นนำหลายแห่ง

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

อ้างอิง:

 


ไม่พลาดข่าวไฮไลต์ประจำวัน มาเป็นเพื่อนกับ THE STANDARD WEALTH ในไลน์ คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X