×
SCB Omnibus Fund 2024

Fed คงดอกเบี้ยนโยบาย 0-0.25% พร้อมอัดฉีดเศรษฐกิจเพิ่มหากจำเป็น

06.11.2020
  • LOADING...
Fed คงดอกเบี้ยนโยบาย 0-0.25% พร้อมอัดฉีดเศรษฐกิจเพิ่มหากจำเป็น

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและประเมินภาพรวมเศรษฐกิจว่ายังต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้าน เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed พร้อมใช้มาตรการอัดฉีดเศรษฐกิจเพิ่มหากจำเป็น 

 

วานนี้ (5 พฤศจิกายน) Fed ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0-0.25% ซึ่งเป็นระดับที่เกิดจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างฉุกเฉินเมื่อ 7 เดือนที่แล้ว หรือในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกัน Fed ระบุว่าแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีการฟื้นตัว แต่ก็ยังไม่กลับไปเท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว 

 

“Fed ยังต้องดำเนินการอีกหลายอย่างเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลายคนถามว่านโยบายการเงินใช้ไม่ได้ผลแล้วหรือ คำตอบคือไม่ ผมไม่คิดเช่นนั้น ผมคิดว่า Fed มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะใช้เครื่องมืออันทรงพลังเหล่านี้เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ได้นานเท่าที่จำเป็น” พาวเวลล์กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม สภาคองเกรสและทำเนียบขาวยังคงปิดกั้นในการเจรจาเพื่อเพิ่มความช่วยเหลือทางการคลัง

 

พาวเวลล์กล่าวว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะสั้นยังอยู่กับความไม่แน่นอนจากผลการเลือกตั้งที่จะเกี่ยวพันกับนโยบายการคลังว่าจะสามารถใช้นโยบายคลังได้ราบรื่นเพียงใด กรณีที่ โจ ไบเดน ได้เป็นประธานาธิบดีและกุมเสียงข้างมากในสภาล่าง แต่สภาสูงเป็นของรีพับลิกัน ซึ่งการคานอำนาจระหว่างกันจะมีผลต่อการตัดสินใจในการระดมทุนของรัฐบาลและการขยายโครงการฉุกเฉินของ Fed โดยขณะนี้ Fed เริ่มพิจารณาว่าจำเป็นต้องขยายกรอบเวลาการใช้วงเงินสินเชื่อฉุกเฉินต่างๆ หรือไม่ จากกำหนดเดิมคือวันที่ 31 ธันวาคม 2020

 

โดย Fed จะซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์ต่อเดือนต่อไป และจะใช้เครื่องมือและโปรแกรมอื่นๆ ตามความจำเป็น ขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจมีวิวัฒนาการอย่างไร

 

“โครงการซื้อพันธบัตรที่มีอยู่ของ Fed ได้รับการถกเถียงกันในการประชุมที่เพิ่งสรุป และได้รับการพิจารณาว่าจะให้การสนับสนุนทางเศรษฐกิจในปริมาณที่เหมาะสม” พาวเวลล์กล่าว

 

ทั้งนี้ Fed ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ระบุว่าคณะกรรมการได้ปรับมุมมองเกี่ยวกับสภาวะทางการเงินครั้งล่าสุด (5 พฤศจิกายน) ว่า ‘ยังคงผ่อนคลาย’ ซึ่งตรงข้ามกับการประเมินของเดือนกันยายนที่ว่า ‘ดีขึ้นแล้ว’ โดยในไตรมาส 3/20 นั้น GDP ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเพิ่มขึ้นที่อัตรา 33.1% หลังจากหดตัว 31.4% ในช่วงก่อนหน้า 

 

ในแถลงการณ์ระบุว่าคณะกรรมการ FOMC พยายามหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และพยายามหนุนอัตราเงินเฟ้อให้เคลื่อนไหวที่ระดับ 2% เป็นระยะเวลาที่นานขึ้น ทั้งนี้ จากการที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวต่ำกว่าเป้าหมายของ Fed อย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการจึงตั้งเป้าหมายที่จะให้อัตราเงินเฟ้อดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 2% ในบางช่วงเวลา เพื่อให้อัตราเฉลี่ยของเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 2% และให้ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวอยู่ที่ระดับ 2% โดยคณะกรรมการจะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

 

นอกจากนี้ ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้านี้ Fed จะเพิ่มการถือครองหลักทรัพย์ของกระทรวงการคลังและหน่วยงานด้านที่อยู่อาศัย รวมถึงหลักทรัพย์ด้านการพาณิชย์ที่มีหนี้จำนองค้ำประกันอย่างน้อยเท่ากับอัตราในปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนให้ตลาดต่างๆ ดำเนินการต่อไปได้อย่างราบรื่น และช่วยสนับสนุนภาวะด้านการเงินให้เป็นไปในลักษณะที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้จะช่วยให้สินเชื่อไหลเวียนไปสู่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ

 

ส่วนในการประเมินแนวทางที่เหมาะสมของนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการจะยังคงจับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า ขณะเดียวกันคณะกรรมการจะเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้ Fed ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่างๆ ของคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการจะประเมินข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงข้อมูลด้านสาธารณสุข ภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงพิจารณาความคืบหน้าทางการเงินและสถานการณ์ในต่างประเทศ

 

สำหรับกรรมการ Fed ผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของ FOMC ในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed, จอห์น ซี. วิลเลียมส์ รองประธาน Fed, มิเชล ดับเบิลยู. โบวแมน, ลาเอล เบรนาร์ด, ริชาร์ด เอช. คลาริดา, แมรี ซี. ดาลีย์, แพทริก ฮาร์เกอร์, โรเบิร์ต เอส. แคปแลน, ลอเร็ตตา เจ. เมสเตอร์ และแรนดัล เค. ควอร์เลส

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising