ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) เปิดเผยว่า ปริมาณเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 17.35 ล้านล้านดอลลาร์ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากที่หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ปริมาณเงินฝากปรับตัวลดลงสู่ระดับ 17.31 ล้านล้านดอลลาร์ เนื่องจากความกังวลในภาคการเงินการธนาคาร หลังเกิดกรณีธนาคารขนาดใหญ่ที่สุด 2 แห่งล่ม จนสั่นคลอนเสถียรภาพและความเชื่อมั่นของภาคการเงินการธนาคารในหมู่ผู้ฝากเงินครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินในปี 2008
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ปริมาณเงินฝากที่เพิ่มขึ้นครั้งนี้นับเป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม หรือตั้งแต่เกิดกรณี Silicon Valley Bank และ Signature Bank ที่ล่มไป และเข้าไปอยู่ภายใต้หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลกลางซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้รับประกันเงินฝากทั้งหมดของธนาคารทั้งสองแห่ง
ทั้งนี้ปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นทั้งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุด 25 แห่งตามขนาดสินทรัพย์ และธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยธนาคารขนาดเล็กถือเป็นธนาคารที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการไหลออกของเงินฝากไปยังสถาบันขนาดใหญ่ ด้วยความกังวลว่ายอดเงินฝากใดๆ ที่เกิน 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐต่อวงเงินประกันของรัฐบาลกลางอาจตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะสูญหายไป
ในขณะเดียวกันการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจและผู้บริโภคของภาคธนาคารยังคงทรงตัวด้วยยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 12.07 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อช่วงใกล้สิ้นเดือน โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตั้งแต่หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ในขณะที่สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์และอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยและสำหรับสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับสินเชื่อธุรกิจ ต่างก็ลดลงเล็กน้อย แต่ถูกชดเชยด้วยการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อผู้บริโภค นำโดยยอดการใช้จ่ายจากบัตรเครดิต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความมั่งคั่งจากหุ้นของชาวอเมริกันหายไปกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ จากที่เคยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวหลังวิกฤตโควิด
- ตามคาด ‘Fed’ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% พร้อมส่งสัญญาณปรับขึ้นต่อ หวังคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด
- นักวิเคราะห์ชี้พิษนโยบาย Fed เป็นเหตุทำตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วน
อ้างอิง: