มติการประชุมของคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า โดย Fed ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ชะลอตัวลงที่ 0.25%
ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินมีมติเป็นเอกฉันท์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2007
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 8 ติดต่อกัน นับตั้งแต่ที่ Fed เริ่มบังคับใช้นโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม ปี 2022
แถลงการณ์ของ Fed ระบุว่า แม้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อแสดงให้เห็นสัญญาณชะลอตัวลง แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ Fed มีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นช่วงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยไม่มีการส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือการสิ้นสุดวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด
Fed ย้ำว่า ยังคงจำเป็นต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เมื่อพิจารณาจากปัจจัยความเสี่ยงและปัจจัยท้าทายที่จะส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในตลาดเศรษฐกิจโลก เช่น สงครามขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน
อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของ Fed ส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบต่อไปอาจจะอยู่ที่ 0.25%
ในส่วนของการคาดการณ์การเติบทางเศรษฐกิจ Fed ยังคงตัวเลขคาดการณ์การเติบโตเดิมไว้ พร้อมย้ำว่าเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ ยังเติบโตพอประมาณ ขณะที่ตลาดแรงงานน่าจะยังคงแข็งแกร่ง
ตลาดหุ้น ‘ปิดบวก’ หลังผันผวนตลอดวัน
ด้านสถานการณ์ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเมื่อวานนี้ (1 กุมภาพันธ์) ปิดตลาดปรับตัวในแดนบวก ท่ามกลางการซื้อขายที่ค่อนข้างผันผวนตลอดวัน หลัง Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพื่อจัดการกับเงินเฟ้อที่แม้จะชะลอตัวลง แต่ก็ยังคงถือว่าอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าเงินเฟ้อ 2% ที่ Fed กำหนดไว้
ทั้งนี้ ดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.92 จุด หรือ 0.02% ปิดที่ 34,092.96 จุด, ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 42.61 จุด หรือ 1.05% ปิดที่ 4,119.21 จุด และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 231.77 จุด หรือ 2.00% ปิดที่ 11,816.32 จุด
ความเคลื่อนไหวของตลาดวอลล์สตรีทดังกล่าวถือเป็นการปรับขึ้นแตะระดับที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ฤดูร้อน
การที่ตลาดเคลื่อนไหวในแดนบวกเป็นผลจากการที่ท่าทีของ Fed เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า โดย เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ย้ำชัดว่า Fed จะยังคงจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อจัดการเงินเฟ้อ และขณะนี้ยังคงเร็วเกินไปที่ Fed จะประกาศชัยชนะในการจัดการเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตาม การที่พาวเวลล์แสดงความเห็นว่าเป็นครั้งแรกที่กระบวนการจัดการทลายเงินเฟ้อได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ทำให้ตลาดวอลล์สตรีทมองเห็นความเป็นไปได้ในอนาคตที่จะมีการยุติการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกต่อไป
ก่อนหน้านี้นักลงทุนส่วนใหญ่ในวอลล์สตรีทหวังว่าอัตราเงินเฟ้อที่เย็นลงตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนหมายความว่า Fed อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเล็กน้อยก่อนที่จะหยุดชั่วคราว และจากนั้นอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2023 โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสามารถบรรเทาแรงกดดันต่อเศรษฐกิจและต้นทุนการลงทุน
สำหรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจในขณะนี้มีแนวโน้มจะมุ่งไปในทางใดทางหนึ่งในสองทาง คือ ภาวะถดถอยที่ค่อนข้างสั้นและตื้น หรือภาวะถดถอยที่ยืดเยื้อและรุนแรง ซึ่งการช่วยให้ความหวังที่ภาวะถดถอยจะไม่รุนแรงช่วยให้ตลาดหุ้นโดยรวมตลอดเดือนมกราคมที่ผ่านมาสามารถปิดตลาดเพิ่มขึ้น และเริ่มต้นปี 2023 ด้วยความแข็งแกร่งได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รวมมุมมองเซียน หลังราคา Bitcoin เคลื่อนไหวผิดคาดในปี 2022
- หายนะจากการล่มสลายของ FTX อาจเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมคริปโตใน 3 มิติ
- ไขข้อข้องใจ ทำไมเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2023?
อ้างอิง: