ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เมื่อคืนที่ผ่านมา ทำให้ Fed Fund Rate ขยับขึ้นสู่ระดับ 5-5.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 และถือเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 10 ภายในระยะเวลาราว 1 ปี ของ Fed โดยการประชุมในครั้งนี้ Fed ยังส่งสัญญาณว่าการขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้อาจจะสิ้นสุดลงแล้ว
การปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยสวนทางกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดต่ำลงเกือบทุกช่วงอายุ
ระหว่างแถลงผลการประชุม เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ระบุว่า การตัดสินใจว่าจะยุติรอบการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ยังไม่ได้เกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของ Fed ได้มีการตัดทอนประโยคที่พูดถึงการดำเนินนโยบายแบบตึงตัวเพิ่มเติมตามความเหมาะสมในอนาคตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ซึ่งเคยมีอยู่ในแถลงการณ์ครั้งก่อนๆ ออกไป
ท่าทีดังกล่าวของ Fed ทำให้ตลาดตีความว่า คณะกรรมการของ Fed มีความกังวลต่อผลของนโยบายการเงินที่จะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและวิกฤตในภาคธนาคาร โดยในแถลงการณ์ของ Fed ได้มีการพูดถึงภาวะทางเครดิตที่จะตึงตัวขึ้นสำหรับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ซึ่งอาจส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อด้วย
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์ของ Fed เคยออกมาเตือนว่า ปัญหาในภาคการธนาคารที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยแบบตื้นๆ และการปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก อย่างไรก็ดี Fed ยังคงย้ำจุดยืนที่จะให้ความสำคัญกับการควบคุมเงินเฟ้อให้กลับลงสู่กรอบเป้าหมายเป็นลำดับแรก
“เงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลงนับตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา แต่แรงกดดันเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง และกระบวนการที่จะทำให้มันกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% ยังต้องใช้เวลาอีกมาก” พาวเวลล์กล่าว
ข้อมูลล่าสุดของ Fed บ่งชี้ว่า แม้ภาพรวมเงินเฟ้อของสหรัฐฯ รวมถึงราคาอาหารและพลังงานจะชะลอตัวลง แต่อัตราเงินเฟ้อบางกลุ่ม เช่น ราคาที่อยู่อาศัย และค่ารักษาพยาบาลยังคงมีความหนืด ทำให้ Fed ยังไม่อาจวางใจได้
อย่างไรก็ดี ผู้แทนฝั่งพรรคเดโมแครตหลายรายได้ออกมาเรียกร้องให้ Fed ยุติการขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจที่ไตรมาสแรกที่ผ่านมาขยายตัวได้เพียง 1.1%
ขณะเดียวกัน ยังมีความเสี่ยงที่ธนาคารขนาดกลางจะเกิดปัญหาตามมา โดยตลาดคาดการณ์ว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอาจบีบบังคับให้ Fed ต้องปรับลดดอกเบี้ยในภายหลัง
“แถลงการณ์ล่าสุดของ Fed สะท้อนชัดเจนว่า การตัดสินใจในระยะข้างหน้าของ Fed จะขึ้นอยู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจ Fed ต้องการมอนิเตอร์ผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่จะมีต่อเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจ การตัดสินใจของ Fed จึงยังมีความเป็นไปได้ในทุกทิศทาง” ควินซี ครอสบี นักวิเคราะห์จาก LPL Research กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความมั่งคั่งจากหุ้นของชาวอเมริกันหายไปกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ จากที่เคยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวหลังวิกฤตโควิด
- ตามคาด ‘Fed’ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% พร้อมส่งสัญญาณปรับขึ้นต่อ หวังคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด
- นักวิเคราะห์ชี้พิษนโยบาย Fed เป็นเหตุทำตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วน
อ้างอิง: