×

Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ดันดอกเบี้ยนโยบายสูงสุดรอบ 14 ปี ด้านหุ้นสหรัฐฯ รูดหนัก หลังเจอโรมลั่นอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดไว้

03.11.2022
  • LOADING...
fed-usa

วานนี้ (2 พฤศจิกายน) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ตามที่นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในเวลานี้ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 3.75-4% ถือเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2008 หรือสูงที่สุดในรอบ 14 ปี 

 

การปรับขึ้นดังกล่าวนับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 6 ในปีนี้ และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน หลังจากปรับขึ้น 0.75% ในเดือนมิถุนายน, กรกฎาคม และกันยายน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ขณะเดียวกัน Fed ระบุว่า ยังคงมีความจำเป็นที่ Fed ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อซึ่งยังคงพุ่งขึ้นรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี 

 

แม้ท่าทีของ Fed จะยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า Fed ยังคงมุ่งมั่นที่จะกำราบอัตราเงินเฟ้อให้อยู่หมัดหลังจากที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี แต่ Fed ยังใช้โอกาสนี้ส่งสัญญาณให้นักลงทุนในตลาดรับทราบชัดเจนทั่วหน้ากันว่า การประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของ Fed ครั้งต่อไปในเดือนธันวาคม Fed จะพิจารณาถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจขณะที่ทำการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 

 

ท่าทีดังกล่าวของ Fed สะท้อนได้ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัดส่วนที่น้อยลง ซึ่ง Fed เชื่อว่าเพียงพอที่จะรองรับนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ Fed ที่มีการประกาศใช้มาจนถึงปัจจุบัน 

 

ถ้อยแถลงของ Fed เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ยังระบุว่า ทางคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของ Fed ได้คาดการณ์ว่า การปรับขึ้นเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยที่กำลังดำเนินการอยู่จะมีความเหมาะสมเพื่อให้บรรลุจุดยืนนโยบายการเงินที่มีความเข้มงวดเพียงพอที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับสู่ระดับ 2% ซึ่งในการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตนั้น Fed จะพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบด้าน โดยรวมถึงการคุมเข้มสะสมของนโยบายการเงิน, ความล่าช้าที่นโยบายการเงินส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและการเงิน

 

ทั้งนี้ นโยบายการเงินหมายถึงชุดเครื่องมือที่ธนาคารกลางของประเทศใช้เพื่อควบคุมปริมาณเงินโดยรวมในประเทศ ซึ่งรวมถึงการใช้กลยุทธ์ต่างๆ เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ย

 

นักวิเคราะห์มองว่า ท่าทีล่าสุดของ Fed ต่อแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไป แสดงให้เห็นว่า Fed รับฟังเสียงของตลาดที่กังวลว่าการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องอาจเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม และทำให้เกิดภาวะถดถอยได้

 

Fed ระบุว่า การเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.75% อย่างต่อเนื่องเป็นไปเพื่อให้ทันกับอัตราเงินเฟ้อที่วิ่งมากกว่า 3 เท่าของเป้าหมาย 2% และ Fed กำลังเข้าสู่ขั้นตอนที่เหมาะสมในการปรับอัตราดอกเบี้ย 

 

นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมายังถือเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่อดีตประธาน Fed, พอล โวลเกอร์ ในนโบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อสู้เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อในปี 1970 และ 1980

 

อย่างไรก็ตาม Fed ย้ำว่า แนวโน้มที่ปัจจัยเสี่ยงของเงินเฟ้อยังคงมีอยู่ ดังนั้น Fed จึงมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต 

 

ในส่วนของมุมมมองเศรษฐกิจ Fed มองว่าโดยรวมแล้วเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถขยายตัวเติบโตได้ปานกลางไม่หวือหวา ขณะที่ตลาดงานยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง และอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ 

 

ด้าน เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวชัดเจนว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในเวลานี้ Fed น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปแต่ด้วยขนาดที่เล็กลง โดยย้ำว่าเวลามาถึงแล้ว และน่าจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ลดลงได้เร็วที่สุดในเดือนธันวาคม อย่างไรก็ตาม พาวเวลล์ย้ำชัดว่า แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ  

 

ขณะที่ Derek Tang นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทพยากรณ์ LH Meyer กล่าวว่า ถ้อยแถลงของ Fed ครั้งนี้ค่อนข้างน่าประหลาดใจ เพราะมีความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการทิศทางและขนาดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งโดยส่วนตัว Tang มองว่า Fed จะสงวนท่าทีจนกว่าจะถึงเดือนธันวาคม ขึ้นอยู่กับว่า สถานการณ์โดยรวมในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างไร 

 

ความเห็นของ Tang สอดคล้องกับนักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งที่ออกมาแสดงความเห็นว่า การขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายของ Fed และการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปในเดือนธันวาคมจะอยู่ที่ 0.50%

 

หุ้นสหรัฐฯ ร่วงทั้งกระดาน หวั่นท่าที Fed เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ

สำนักข่าว AP รายงานว่า บรรยากาศโดยรวมของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเมื่อวานนี้ (2 พฤศจิกายน) ปิดตลาดร่วงลงสู่แดนลบทั้งกระดาน หลัง Fed ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออีก 0.75% และแม้จะส่งสัญญาณว่าอาจจะลดขนาดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินในเดือนธันวาคม แต่ท่าทีของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ที่ยังคงยืนยันว่า Fed ยังจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ ทำให้หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

 

โดย Dow Jones Industrial Average ปิดตลาดปรับตัวลดลง 505.44 จุด หรือ 1.55% ปิดที่ 32,147.76 จุด ส่วนดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลง 96.41 จุด หรือ 2.50% ปิดที่ 3,759.69 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 366.05 จุด หรือ 3.36 % ปิดที่ 10,524.80 จุด

 

ทั้งนี้ ในช่วงแรกนั้น ตลาดหุ้นนิวยอร์กดีดตัวขึ้น หลังจากคณะกรรมการ Fed มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อีกทั้งส่งสัญญาณว่าจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนครั้งถัดไปในเดือนถันวาคม 

 

แต่ตลาดร่วงลงในเวลาต่อมา หลัง เจอโรม พาวเวลล์ แถลงข่าวภายหลังการประชุมว่า ภารกิจการต่อสู้กับเงินเฟ้อของ Fed ยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่สูงมากและข้อมูลที่ Fed ได้รับนับตั้งแต่การประชุมครั้งที่แล้วยังบ่งชี้ว่า Fed อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งโดยส่วนตัว พาวเวลล์มองว่าขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงการยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก่อนยืนยันว่า Fed จะใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

 

ยิ่งไปกว่านั้น บรรยากาศการลงทุนยังสั่นคลอน จากความเห็นของพาวเวลล์ที่ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีโอกาสที่จะหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยในช่วงเวลาที่ Fed ปรับขึ้นอัตราเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่โอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือ Soft Landing นั้น มีน้อยลง เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อชะลอตัวอย่างเชื่องช้า

 

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังมีขึ้น หลังจากที่ทางการสหรัฐฯ เพิ่งจะเปิดเผยข้อมูลตลาดงานที่ปรับตัวแข็งแกร่ง โดยมีการเปิดรับสมัครงานเพิ่มขึ้นถึง 10.7 ล้านตำแหน่งในเดือนกันยายน สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดกาณ์กันไว้ก่อนหน้าว่าจะอยู่ที่ 9.85 ล้านตำแหน่ง 

 

อย่างไรก็ตาม บรรดานักลงทุนกำลังจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนตุลาคมของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ (4 พฤศจิกายน) ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 205,000 ตำแหน่งในเดือนตุลาคม หลังจากเพิ่มขึ้น 263,000 ตำแหน่งในเดือนกันยายนที่ผ่านมา 

 

ในส่วนของความเคลื่อนไหวของตลาดเมื่อวานนี้ หุ้นที่มีการปรับตัวร่วงหนักสุดก็คือหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย โดยหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีนำโดย หุ้น Meta ที่ร่วงหนักสุด 4.89% ตามด้วย หุ้น Amazon ดิ่งลง 4.82% หุ้น Netflix ร่วงลง 4.80% หุ้น Tesla ลดลง 5.64% และหุ้น Alphabet ลง 3.87%

 

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเมื่อวานนี้ ขยับปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง อานิสงส์จากข้อมูลคลังปิโตรเลียมที่ลดลงในสหรัฐฯ เนื่องจากบรรดาโรงกลั่นต่างเร่งยกระดับการผลิต ก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว

 

ทั้งนี้ สัญญาณน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 1.63 ดอลลาร์ ปิดที่ 90.00 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านน้ำมันดิบเบรนต์ งวดส่งมอบเดือนมกราคม เพิ่มขึ้น 1.51 ดอลลาร์ ปิดที่ 96.16 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

โดยรายงานของสถาบันปิโตรเลียมแห่งอเมริกา บ่งชี้ถึงสัญญาณในแง่บวกเพิ่มเติมในด้านอุปสงค์ หลังพบคลังน้ำมันดิบสำรองลดลงราว 6.5 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ตุลาคม ส่วนสต๊อกเบนซินก็ลดลง 2.6 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่พวกนักวิเคราะห์คาดหมายไว้ว่าจะลดลง 1.4 ล้านบาร์เรล

 

ด้านราคาทองคำ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ปิดตลาดในแดนบวกเล็กน้อย ราคาทองคำโคเม็กซ์ งวดส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 30 เซนต์ ปิดที่ 1,650.00 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยตลาดทองคำปิดก่อนเสร็จสิ้นการประชุม Fed แต่หลังจากแถลงการณ์ Fed การซื้อขายทองคำในกระดานอิเล็กทรอนิกส์ ราคาทองคำพุ่งทะยาน ตามหลังการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed  

 

ทั้งนี้ ผลการสำรวจของ Reuters ประเมินว่าราคาทองคำในปีหน้าจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ และมีราคาเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันขึ้นไปอยู่ที่ 1,712.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หลัง Fed ส่งสัญญาณความเป็นไปได้ที่จะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า ช่วยให้นักลงทุนหันมาสนในทองคำมากขึ้น 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising