×

กูรูแนะจับตานโยบายการเงิน Fed หลังช็อกตลาดจ่อลดขนาดงบดุล ชี้หากเริ่มทำจริงอาจกดดัชนีทั่วโลกดิ่ง 5%

06.01.2022
  • LOADING...
Fed

ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวสู่แดนลบ หลังจากมีข้อมูลใหม่ในเชิง Hawkish ออกมาจาก FOMC Minutes เมื่อวันที่ 5 มกราคม ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่า Fed อาจดําเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดในปีนี้มากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งค่อนข้างอ่อนไหวต่อการปรับขึ้นของบอนด์ยีลด์ 

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า ปัจจัยใหญ่ที่สุดจากการเผยแพร่รายงานการประชุม FOMC รอบล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มกราคม ก็คือการถกเถียงกันในคณะกรรมการเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการลดขนาดงบดุล (Balance Sheet) ของ Fed เร็วกว่ากําหนด และเร็วกว่า Cycle ก่อนหน้านี้ที่ Fed มีการ Reinvest ในส่วนของตราสารที่ครบกําหนดอายุต่อไปเรื่อยๆ หลังจากการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกไปแล้วเป็นเวลานานเกือบ 2 ปี 

 

นอกจากนั้นกรรมการบางส่วนยังพูดถึงอัตราเร่งของการลดขนาดงบดุลในรอบนี้ว่าอาจจะเร็วกว่ารอบก่อนที่เริ่มต้นที่เดือนละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากบริบทที่แตกต่างกันออกไป หลังความเสี่ยงเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูงจากปัญหา Supply Chain Disruption ที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้งจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน 

 

ณัฐชาตกล่าวว่า ปัจจัยนี้ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในตลาดและไม่ได้อยู่ในสมมติฐานการลงทุนของฝ่ายวิจัย ซึ่งเดิมเชื่อว่าในปีนี้ Fed จะมีแต่เพียงการเข้มงวดนโยบายการเงินผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น 

 

ทั้งนี้ หากการลดขนาดงบดุลเกิดขึ้นจริงในปีนี้ ผลกระทบที่สําคัญคือจะทําให้สภาพคล่องทั่วโลกลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจเป็นการบ่งชี้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในปีนี้อาจมีความ Aggressive กว่าที่ตลาดคาดไว้ ทั้งในส่วนของ Timing การขึ้นครั้งแรกที่ตลาดคาดไว้ในเดือนพฤษภาคม และในส่วนของจํานวนครั้งทั้งหมดในปีนี้ที่ตลาดมองไว้ 3 ครั้ง ส่งผลให้บอนด์ยีลด์จะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งรุ่นสั้นและรุ่นยาว ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ดีเท่าไรสําหรับตลาดหุ้น เนื่องจากถูกกระทบจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และความน่าสนใจที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์อื่น

 

สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า จากรายงานการประชุม FOMC ที่มีท่าทีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด และนำไปสู่การทำ Quantitative Tightening (QT) นั้น ตลาดหุ้นมักจะตอบรับเชิงลบในช่วงที่มีกระแสข่าวหรือท่าทีต่างๆ ของ Fed ออกมา และเมื่อ Fed เริ่มดำเนินการจริงแล้ว ตลาดจะสามารถปรับตัวได้ในที่สุด 

 

อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการปรับลดขนาดงบดุลจริง จะเป็นการเปิด Downside Risk ของตลาดหุ้น และอาจฉุดตลาดหุ้นทั่วโลกให้ปรับลดลงราว 5% โดยในปี 2017 ที่ Fed ปรับลดขนาดงบดุลนั้น สภาพคล่องในตลาดลดเหลือ 3.8 ล้านล้านดอลลาร์ จากเดิมที่ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ และค่า P/E ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ที่ 15-18 เท่า จากที่เคยซื้อขายอยู่ที่ 18-20 เท่า อย่างไรก็ตาม ในปี 2017 มีปัจจัยเรื่อง Trade War เข้ามาเกี่ยวด้วย จึงประเมินได้ยากว่าผลกระทบต่อตลาดหุ้นที่เกิดจากการดำเนินนโยบายของ Fed นั้นคือเท่าไร

 

“จากท่าทีล่าสุดของ Fed ดูเหมือนจะมีความเป็นไปได้ที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed และการลดขนาดงบดุลจะเกิดขึ้นในปีเดียวกัน ซึ่งต่างจากรอบก่อนที่ Fed ลดขนาดงบดุลหลังจากปรับขี้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ปี แต่ส่วนตัวประเมินความเป็นไปได้นี้เพียง 10% เท่านั้น”

 

ปิยะภัทร์ ภัทรภูวดล นักกลยุทธ์การลงทุน บล.หยวนต้า กล่าวว่า การส่งสัญญาณดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของ Fed ครั้งนี้ ค่อนข้างสร้างความประหลาดใจกับตลาด และประเมินว่าในปีนี้มีความเป็นไปได้ที่ Fed จะลดขนาดงบดุลหลังจากที่เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในพฤษภาคม-มิถุนายน 

 

สำหรับการตอบรับของตลาดหุ้นนั้น คาดว่าตลาดหุ้นจะตอบรับเชิงลบต่อปัจจัยเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วง 3 เดือนก่อนปรับขึ้นจริง และเมื่อมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้วตลาดหุ้นจะคลายความกังวลและปรับขึ้นต่อได้ แต่มากน้อยเพียงใดต้องขึ้นอยู่กับทิศทางเศรษฐกิจโดยรวมด้วย 

 

“ในรอบที่แล้วที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2015 ช่วง 6 เดือนก่อนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริง ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลง แต่ยิ่งเมื่อเข้าใกล้การปรับขึ้นดอกเบี้ย ตลาดกลับค่อยๆ ฟื้นตัว และเมื่อผ่านช่วงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ตลาดหุ้นก็ไปต่อได้ โดยตลาด DM จะรับผลกระทบน้อยกว่าตลาด  EM ในทุกช่วงเวลา” 

 

ด้านไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า ยังคงมีมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยในปี 2565 ว่าเป็นขาขึ้น แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเกิดขึ้น และนโบบายการเงินของ Fed เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มกราคม Fed เปิดเผยรายงานการประชุมเดือนธันวาคม ส่งสัญญาณว่าอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมนี้ รวมถึงการทำ Quantitative Tightening (QT) หลังขึ้นดอกเบี้ย 

 

ทั้งนี้ ประเมินปัจจัยเรื่อง Fed เป็นปัจจัยระยะสั้น เนื่องด้วยตลาดหุ้นไทยยังคง Outperform กว่าตลาดหุ้นอื่นในอาเซียน เงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ปีนี้ก็ยังไม่มีความจำเป็นที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะต้องขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงยังมีจุดขายจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากเปิดประเทศ จากฐานที่ต่ำในปีก่อน

 

“แม้ Fed จะดึงสภาพคล่องออกโดยการทำ QT และลดขนาดงบดุล แต่สภาพคล่องในสหรัฐฯ มีค่อนข้างสูง อยู่ที่ราว 8 ล้านล้านดอลลาร์ จึงเชื่อว่าการทำ QT และลดขนาดงบดุลจะไม่ส่งผลต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ มาก แต่อาจจะมีเม็ดเงินไหลออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ บ้าง ซึ่งก็เป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นไทย เพราะปี 2022 ตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยบวกที่จะหนุนให้ตลาด Outperform อยู่มาก” 

 


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X