ภาวะการเคลื่อนย้ายการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์จากทองคำไปสู่นํ้ามันกำลังเริ่มต้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม หนทางการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนนี้ยังไม่ชัดเจนนัก เพราะต้องจับตาสัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และการฟื้นตัวของจีนหลังจากภาวะโควิด
อัตราส่วนระหว่างน้ำมันและทองคำ (Oil-Gold Ratio) ซึ่งเป็นอัตราส่วนราคา Spot ของทองคำแท่งหารด้วยฟิวเจอร์สน้ำมัน West Texas Intermediate (WTI) ได้ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่กลางปี 2022 และพุ่งสูงขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากวิกฤตการณ์ธนาคาร ทำให้ทองคำกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจในฐานะ ‘หลุมหลบภัย (Safe Haven)’
ครั้งสุดท้ายที่อัตราส่วนนี้มีการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง ต้องย้อนกลับไปในปี 2020 เมื่อโควิดได้กลืนกินเศรษฐกิจโลก และผลักดันให้ทองคำเป็นสิ่งที่หลายคนแสวงหา ในทางกลับกันก็ส่งผลให้น้ำมันดิ่งลงเหว แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ยังไม่ชัดเจนว่าจะซํ้ารอยจากช่วงวิกฤตโควิดหรือไม่
เมื่อใดที่ Fed หยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย เมื่อนั้นจะเป็นจุดชี้ชะตาสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์หลักทั้งสองชนิดนี้ การพยายามคาดการณ์จังหวะของจุดกลับตัว นำไปสู่การเคลื่อนไหวที่สวนทางกันในช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยน้ำมันและสินทรัพย์เสี่ยงพุ่งขึ้นจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐฯ ในขณะที่ทองคำปรับตัวลง
นอกจากนี้ จีนกำลังทำให้การตัดสินใจลงทุนยากไปอีกขั้น เมื่อการฟื้นตัวหลังจากการปิดประเทศยังไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า ความต้องการจากผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดกำลังเริ่มต้นขึ้นในบางส่วน
ขณะเดียวกันการประกาศลดการผลิตนํ้ามันจากกลุ่มประเทศ OPEC เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาได้หยุดความร้อนแรงของการปรับตัวของอัตราส่วนชั่วคราว และตัวเลขการเดินทางทางอากาศช่วงสัปดาห์ทองในต้นเดือนพฤษภาคม จะเป็นอีกสัญญาณสำคัญที่ต้องจับตามองสำหรับการฟื้นตัวของจีน
นักวิเคราะห์มองว่า ราคานํ้ามันจะขยับสูงขึ้นต่อจากนี้ โดยหวังว่ายอดซื้อที่เพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นในจีนจะช่วยชดเชยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่แย่ลงในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม มุมมองดังกล่าวอาจถูกปัดลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังค้นพบว่า เงินทุนจากกองทุนซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนที่ใหญ่ที่สุด 4 แห่งกำลังไหลออกจากนํ้ามัน 5 สัปดาห์ติดต่อกัน
ข่าวร้ายของนํ้ามันมักเป็นข่าวดีของทองคำ เพราะในทางกลับกัน เงินทุนกำลังไหลเข้าสู่กองทุนทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง SPDR Gold Shares ETF ซึ่งมีกระแสไหลเข้าที่แข็งแกร่งนับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทั้งการฟื้นตัวที่น่าผิดหวังของจีนและโอกาสในการเผชิญกับเพดานหนี้ที่ไม่มั่นคงของสหรัฐฯ กำลังสนับสนุนให้ทองคำกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าแก่นักลงทุนอีกครั้ง
เคลวิน หว่อง นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสของ Oanda Asia Pacific ระบุว่า ในบริบททางเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่ซบเซา ทองคำมีแนวโน้มที่จะไปได้ดี
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้นักลงทุนต่างเผชิญกับกระแสข่าวขนาดใหญ่และการเผยแพร่ข้อมูลที่ขัดแย้งกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความมั่งคั่งจากหุ้นของชาวอเมริกันหายไปกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ จากที่เคยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวหลังวิกฤตโควิด
- ตามคาด ‘Fed’ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% พร้อมส่งสัญญาณปรับขึ้นต่อ หวังคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด
- นักวิเคราะห์ชี้พิษนโยบาย Fed เป็นเหตุทำตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วน
อ้างอิง: