×

Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามคาด 0.75% พร้อมส่งสัญญาณขึ้นต่อลากยาวถึงปีหน้า

22.09.2022
  • LOADING...

ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed อนุมัติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาดอีก 0.75% ทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นมาสู่ระดับ 3.00-3.25% นับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระดับดังกล่าวเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน พร้อมกับระบุว่า อัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 4.4% ในช่วงสิ้นปีนี้ และเพิ่มเป็น 4.6% ในสิ้นปี 2023 ก่อนที่จะชะลอตัวลงสู่ระดับ 3.9% ในปี 2024

 

มติที่ประชุมของคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ อนุมัติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาดอีก 0.75% ทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นมาสู่ระดับ 3.00-3.25% นับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระดับดังกล่าวเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่เข้มงวดที่สุดของ Fed นับตั้งแต่กำหนดให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็นเครื่องมือสำคัญด้านนโยบายการเงินในปี 1990


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ขณะเดียวกัน Fed ยังได้เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ที่ระบุว่าจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2024 โดย Fed คาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีดังกล่าว และอีก 4 ครั้งในปี 2025 ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับตัวลงสู่ระดับ 2.9%

 

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวว่า ทาง Fed คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 4.4% ในช่วงสิ้นปีนี้ และแตะ 4.6% ในสิ้นปี 2023 ก่อนที่จะชะลอตัวลงสู่ระดับ 3.9% ในปี 2024 และทรงตัวที่ 3.9% ในปี 2025 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ที่ 2.5%

 

สำหรับในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Fed คาดว่าจะแตะระดับ 4.5% ในสิ้นปีนี้ และจะชะลอตัวสู่ระดับ 3.1% ในปี 2023, 2.3% ในปี 2024 และ 2.1% ในปี 2025

 

ขณะที่อัตราว่างงานจะแตะระดับ 3.8% ในสิ้นปีนี้ และเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.4% ทั้งในปี 2023-2024 ก่อนที่จะชะลอตัวลงสู่ระดับ 4.3% ในปี 2025 ขณะที่อัตราว่างงานระยะยาวอยู่ที่ 4.0%

 

ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ Fed คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีการขยายตัวเพียง 0.2% ในสิ้นปีนี้ และดีดตัวสู่ระดับ 1.2% ในปีหน้า

 

ด้านสถานีโทรทัศน์ CNN รายงานรวบรวมความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมใจออกมาให้คำแนะนำถึงประชาชนชาวอเมริกันทั้งหลายในการเตรียมพร้อมตั้งรับในยุคอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นว่าต้องจัดการอย่างไร โดย Greg McBride หัวหน้านักวิเคราะห์ทางการเงินของ Bankrate.com กล่าวว่า ดอกเบี้ยบัตรเครดิตสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1995 ขณะที่ดอกเบี้ยจำนองบ้านสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008

 

อย่างไรก็ตาม McBride ชี้ว่า แม้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะกระทบต่องบประมาณครัวเรือนให้มีความตึงเครียดมากขึ้น แต่หากมองในแง่บวก ช่วงเวลานี้ก็เป็นจังหวะที่ดีที่จะทำเงินให้งอกเงยจากบัญชีเงินออม บอนด์ และบัตรเงินฝาก (Certificates of Deposit)

 

ผู้เชี่ยวชาญแนะว่า ในยุคดอกเบี้ยขาขึ้นควรลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นผ่านบัตรเครดิต เพราะลูกหนี้ต้องแบกรับภาระหนี้ที่สูงขึ้นโดยไม่จำเป็น ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตเฉลี่ยอยู่ที่ 18.16% เพิ่มขึ้นจาก 16.3% เมื่อต้นปี ส่วนใครที่มีหนี้บัตรเครดิตอยู่ก็แนะให้เร่งใช้หนี้ให้หมดภายในช่วง 12-21 เดือน ก่อนที่อัตราดอกเบี้ยจะขยับขึ้นมากไปกว่านี้

 

สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน ในกรณีที่ใกล้จะซื้อบ้านหรือรีไฟแนนซ์บ้าน ให้เลือกล็อกอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ระดับต่ำสุดที่มีให้เลือกโดยเร็วที่สุด ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านคงที่ 30 ปี เฉลี่ยที่ 6.02% ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 กันยายน เพิ่มขึ้นจาก 5.89% โดยมากกว่าสองเท่าของช่วงกลางเดือนกันยายนของปีที่แล้ว (2.86%) และสูงกว่าระดับต้นปีที่ 3.22% อย่างเห็นได้ชัด

 

ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นก็เป็นโอกาสในการลงทุนเช่นกัน โดยผู้เชี่ยวชาญแนะให้มองหาบัญชีเงินฝากและเลือกลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น 6 เดือน ส่วนใครที่พอมีกำลังซื้อและแบกรับความเสี่ยงได้ก็ให้ลองพิจารณาในหุ้น โดยเฉพาะหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากภาวะเงินเฟ้ออย่างธนาคารและสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ถ้าจะลงทุนในหุ้นก็ต้องพิจารณาถึงสถานการณ์แวดล้อมที่เกิดขึ้น เช่น ความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ด้วย

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising