×

บาทมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อ หลัง Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยชัด กรุงไทยมองแนวต้านใหม่ที่ 35.75 บาทต่อดอลลาร์

29.06.2023
  • LOADING...
Fed

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.60 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นหลังจากวันก่อนหน้าอ่อนค่ามากกว่า 0.30 สตางค์ จนทะลุแนวต้าน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ จากการแข็งค่าของดอลลาร์หลัง Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย และโฟลวธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว รวมถึงโฟลวซื้อเงินดอลลาร์/สกุลเงินต่างประเทศในช่วงปลายเดือนจากบรรดาผู้นำเข้าและบริษัทข้ามชาติ (MNCs) 

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 35.50-35.65 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ) ก่อนที่จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้างตามการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลงต่อเนื่องของราคาทองคำ

 

ขณะที่ในตลาดเงิน มุมมองของผู้เล่นเริ่มปรับเพิ่มโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในการประชุมเดือนกรกฎาคมและกันยายน หลังประธาน Fed ยังคงเน้นย้ำจุดยืนเดือนหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ได้หนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 102.5-103.1 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) 

 

ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าตลาดการเงินโดยรวมจะไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก อีกทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปีของสหรัฐฯ ก็ทยอยปรับตัวลดลง แต่การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนสิงหาคม) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นเหนือโซน 1,920-1,925 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะย่อลงใกล้ระดับ 1,915 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลวธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา

 

โดยในวันนี้ประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ส่วนด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial & Continuing Jobless Claims)

 

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เชื่อว่าโมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ หลังเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุแนวต้าน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ (อ่อนค่ามากกว่าคาด) ในวันก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทแม้ว่าจะทะลุแนวต้านที่เราประเมินไว้ต้นสัปดาห์ แต่หากไม่มีแรงเทขายสินทรัพย์ไทยที่รุนแรง เงินบาทก็อาจจะไม่ได้อ่อนค่าต่อไปมากนัก โดยเราประเมินแนวต้านใหม่แถว 35.75 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้กรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.75 บาทต่อดอลลาร์

 

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงที่ตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน เพราะหากยอดดังกล่าวปรับตัวขึ้นมากกว่าคาด สะท้อนตลาดแรงงานในสหรัฐฯ ที่ชะลอลง ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่มั่นใจว่า Fed จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ชัดเจน ทำให้เงินดอลลาร์มีโอกาสย่อตัวลงได้บ้าง ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมกับการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปีของสหรัฐฯ และการรีบาวด์ขึ้นทดสอบโซนแนวต้านระยะสั้นของราคาทองคำได้

 

อนึ่ง ธนาคารได้ประเมินจุดกลับตัวของเงินบาทโดยใช้การประเมิน FVT (Fundamental, Valuation and Technical) พบว่า จุดกลับตัวมาเป็นฝั่งแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจเกิดขึ้นใกล้ระดับ 35.85-36.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงแย่ลงที่ชัดเจน และเงินบาทก็ยังคงได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่วนในเชิง Valuation ค่าเงินบาทในโซน 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ก็ถือว่าอยู่ในระดับ Undervalued พอสมควร และสัญญาณเชิงเทคนิคัลก็เริ่มสะท้อนโอกาสในการกลับตัวมากขึ้น 

 

อย่างไรก็ดี มองว่าหากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซน 36.00 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ ก็อาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากกว่าระดับ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งในเชิง Valuation เงินบาทจะอยู่ในระดับที่ Undervalued มาก

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X