ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา (13 กันยายน) ปรับตัวลดลงรุนแรงหลังจากที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ ส่งผลให้ดัชนี Dow Jones ดิ่งลงหนักถึง 1,276.37 จุด หรือ 3.94% ปิดที่ 31,104.97 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลง 172.72 จุด หรือ 4.32% ปิดที่ 3,932.69 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 632.84 จุด หรือ 5.16% ปิดที่ 11,633.57 จุด
สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานว่า มีหุ้นบริษัท 5 ตัวเท่านั้นในดัชนี S&P 500 ที่สามารถรอดมายืนในแดนบวกได้ ขณะที่หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีเจ็บค่อนข้างหนัก โดยหุ้น Meta บริษัทแม่ของ Facebook ร่วงถึง 9.4% ส่วน Nvidia ผู้ผลิตชิปดิ่งแรงถึง 9.5%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไมเคิล เบอร์รี เตือนการล่มสลายครั้งประวัติศาสตร์กำลังจะเกิดขึ้น โดยมีต้นตอจากตลาดคริปโต
- 8 หุ้นเนื้อทอง เซียนหุ้น รุมตอม ร่วมลงทุนติดอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่
- ผู้บริหาร Bitkub Blockchain แจงชัด ไม่รู้เรื่องดีล SCB พร้อมยืนยันความบริสุทธิ์ใจซื้อเหรียญ KUB ย้ำถือลงทุนยาว
ทั้งนี้ การร่วงลงเมื่อวานนี้เพียงวันเดียว ได้ลบล้างปริมาณหุ้นที่ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบทั้งหมดในช่วงหลายวันที่ผ่านมา และดึงดัชนี S&P 500 กลับไปสู่ ณ วันที่ 6 กันยายน ที่ปิดต่ำสุดที่ 3,908 จุด และทำให้ผู้ค้าบางคนมองย้อนกลับไปในช่วงกลางเดือนมิถุนายนเมื่อดัชนีลดลงต่ำกว่า 3,700 จุด
นอกจากนี้การเทขายยังเกิดขึ้นอย่างหนักในหุ้นที่มีการเติบโตสูงของตลาด โดยหุ้นของ Cloudflare ลดลงมากกว่า 10% ในขณะที่ Unity Software ลดลงประมาณ 13.4% หุ้น Carvana ผู้ค้าปลีกรถยนต์ส่งตรงถึงผู้บริโภคลดลง 12.9%
Matt Peron ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Janus Henderson Investors กล่าวว่า รายงานดัชนี CPI มีผลเสียต่อตลาดตราสารทุนอย่างชัดเจน ซึ่งตัวเลขที่ร้อนแรงกว่าที่คาดไว้ย่อมหมายความว่า ตลาดจะได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ผ่านการขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 8.3% แม้จะลดลงจากระดับ 8.5% ในเดือนกรกฎาคม แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่ 8% และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ายังคงเพิ่มขึ้นราว 0.1%
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมการคำนวณราคาน้ำมันและอาหารของเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 6.3% สูงกว่าระดับคาดการณ์ของตลาดที่ 6% โดยเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงปรับขึ้นจากเดือนก่อนหน้าถึง 0.6%
นอกจากตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงร้อนแรงแล้ว ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีก็ดิ่งลงแรงเช่นกัน โดยราคา Bitcoin ล่าสุดในเช้าวันนี้ (14 กันยายน) ณ เวลา 07.30 น. ปรับลดลงไปกว่า 2,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นการลดลงราว 9.06% มาเคลื่อนไหวอยู่ที่บริเวณ 20,202 ดอลลาร์
การร่วงลงอย่างรุนแรงของสินทรัพย์การลงทุนต่างๆ ทำให้ตลาดเข้าสู่โหมดปิดรับความเสี่ยง ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน ยูโร และสกุลเงินอื่นๆ ซึ่งนับเป็นการแข็งค่าเกินความคาดหมายของนักวิเคราะห์
รายงานระบุว่า ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ซึ่งติดตามค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้น 1.5% ที่ 109.85 ถือเป็นการเพิ่มขึ้นภายในหนึ่งวันที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 แต่ยังคงต่ำกว่าจุดสูงสุดในรอบ 20 ปี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่ 110.79
ทั้งนี้ ค่าเงินยูโร ปอนด์ และเยน อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว โดยค่าเงินยูโรลดลง 1.5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่ 0.9973 หลังจากแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบหนึ่งเดือนที่ 1.0198 ดอลลาร์ ในช่วงก่อนหน้า
ขณะที่เมื่อเทียบกับเงินเยน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 1.2% ที่ 144.51 โดยก่อนหน้านี้ค่าเงินของญี่ปุ่นได้รับการสนับสนุนจากความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่ที่ส่งสัญญาณว่ารัฐบาลอาจดำเนินการเพื่อตอบโต้การอ่อนค่าของเงินเยนที่มากเกินไป
ส่วนราคาน้ำมันเมื่อวานนี้ (13 กันยายน) ปรับตัวร่วงลงเกือบ 1% โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส งวดส่งมอบเดือนตุลาคม ลดลง 47 เซนต์ ปิดที่ 87.13 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน ลดลง 83 เซนต์ ปิดที่ 93.17 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
Morgan Stanley ระบุว่า แนวโน้มโครงสร้างของตลาดน้ำมันยังคงตึงตัวอยู่ แต่สถานการณ์ในตอนนี้ถูกชดเชยด้วยปริมาณดีมานด์ในตลาดที่ลดลง
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ปริมาณสำรองปิโตรเลียมเชิงกลยุทธ์ของสหรัฐฯ (SPR) ลดลง 8.4 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 434.1 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 1984 โดยนักวิเคราะห์ของ Bloomberg คาดว่า สหรัฐฯ อาจเริ่มเติม SPR เมื่อราคาน้ำมันดิบร่วงต่ำกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 2 ปี ขยับเพิ่มขึ้นมากกว่า 17 จุด เป็น 3.748% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2007 ท่ามกลางความคาดหวังของนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดที่มองว่า Fed จำเป็นจะต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อต่อไป
ในขณะเดียวกัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้น 6 จุด แตะระดับ 3.42% ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี เพิ่มขึ้นเกือบตลอดทั้งวัน ก่อนที่จะร่วงลง 2 จุด แตะ 3.492%
Rob Dent นักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระกล่าวว่า สถานการณ์ทั้งหมดไม่ใช่ข่าวดีสำหรับ Fed เลย โดย Fed จำเป็นต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังรอบคอบมากขึ้น เพราะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ให้ผลลัพธ์แบบที่คาดหวังไว้
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/markets/europe/dollar-steadies-eyes-turn-us-inflation-data-2022-09-13/
- https://www.reuters.com/business/energy/oil-prices-edge-higher-worries-over-tighter-supply-2022-09-13/
- https://www.cnbc.com/2022/09/13/bond-yields-dip-following-news-of-lower-inflation-expectations.html
- https://www.cnbc.com/2022/09/12/stock-futures-are-higher-as-wall-street-awaits-key-inflation-report-.html
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP