ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เตรียมจัดการประชุมแบบปิด นัดเร่งด่วน วันนี้ (3 ตุลาคม) คาดพิจารณาเกี่ยวกับดอกเบี้ยล่วงหน้า และดอกเบี้ย Discount Rate ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญออกโรงเตือนว่า ทิศทางนโยบายของ Fed ในปัจจุบันที่นำมาใช้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเข้าสู่ภาวะผันผวนในแดนลบอย่างรุนแรง จนทำให้การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติทางสถิติในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ กลายเป็นเรื่องธรรมดา
ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ระบุว่า การประชุมแบบปิดของสภาผู้ว่าการแห่งระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ (Board of Governors of the Federal Reserve System) ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นเวลา 11.30 น. ในวันที่ 3 ตุลาคมนี้ ที่สำนักงานของสภาผู้ว่าการในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นการจัดขึ้นตามขั้นตอนเร่งด่วน ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย 261b.7
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความมั่งคั่งจากหุ้นของชาวอเมริกันหายไปกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ จากที่เคยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวหลังวิกฤตโควิด
- Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามคาด 0.75% พร้อมส่งสัญญาณขึ้นต่อลากยาวถึงปีหน้า
- นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เงินเฟ้อ ทั่วโลกผ่านจุดพีค แต่จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนโควิด
โดยหนึ่งในประเด็นที่ Fed เตรียมพิจารณาวันนี้ คืออัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า (Advance Rate) และอัตราดอกเบี้ย Discount Rate ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ Fed เรียกเก็บจากธนาคารที่ต้องการสภาพคล่องแต่ไม่สามารถหากู้ยืมจากตลาดเงินได้
ทั้งนี้ ยามเกิดวิกฤตและตลาดเงินมีปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ธนาคารไม่สามารถกู้เงินจากตลาดเงินได้ตามปกติ Fed จึงลดอัตราดอกเบี้ย Discount Rate ลง
ในทางตรงกันข้าม หาก Fed ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย Discount Rate ถือเป็นการส่งสัญญาณให้ธนาคารลดการพึ่งพา Fed และให้หันไปกู้ยืมกันเองผ่านตลาดเงิน ซึ่งดอกเบี้ยต่ำกว่า เพื่อให้กลไกตลาดเงินค่อยๆ ปรับเข้าสู่ภาวะปกติ
ชี้พิษนโยบาย Fed เป็นเหตุทำตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วน
ขณะที่สถานีโทรทัศน์ CNBC เปิดเผยรายงานความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญที่ออกมาระบุว่า ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ พยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อ จนส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น พันธบัตรและหุ้นตกต่ำ บรรดานักลงทุนต่างก็เกิดความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นว่านโยบายดังกล่าวของธนาคารกลางจะส่งผลที่ไม่คาดคิดและอาจเกิดผลร้ายตามมา
โดยทิศทางนโยบายของ Fed ในปัจจุบันที่นำมาใช้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเข้าสู่ภาวะผันผวนในแดนลบอย่างรุนแรง จนทำให้การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติทางสถิติในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ กลายเป็นเรื่องธรรมดา
เบนจามิน ดันน์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารความเสี่ยงของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท Alpha Theory Advisors ระบุว่า Fed กำลังทำลายกฎเกณฑ์ต่างๆ และไม่มีอะไรในประวัติศาสตร์ที่สามารถชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดทุกวันนี้ได้ บรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนได้เห็นค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานหลายอย่างเคลื่อนไหวในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น ค่าเงินโครนาสวีเดน ราคาน้ำมัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การเคลื่อนไหวที่ดีต่อสุขภาพเศรษฐกิจ
ด้าน มาร์ก คอนเนอร์ส อดีตหัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาความเสี่ยงระดับโลกของ Credit Suisse กล่าวว่า ความผันผวนที่เพิ่มขึ้นในสิ่งที่ควรจะเป็นหนึ่งในตราสารหนี้ที่ปลอดภัยที่สุดในโลกอาจขัดขวางการไหลเวียนของระบบการเงินโดยสถานการณ์ดังกล่าว อาจบีบให้ Fed ต้องหันไปสนับสนุนตลาดพันธบัตร ซึ่งหมายความว่า Fed มีแนวโน้มที่จะต้องระงับโครงการ Quantitative Tightening ก่อนกำหนด
ขณะที่ ไมเคิล วิลสัน หัวหน้านักกลยุทธ์หุ้นของ Morgan Stanley ออกโรงเตือนว่า การแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์มักจะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินหรือวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง พร้อมยกตัวอย่างช่วงที่ค่าเงินเคยแข็งค่าสูงสุดในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ซึ่งทำให้เกิดฟองสบู่แตกในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หรือกรณีวิกฤตการเงินซับไพรม์ในปี 2008 และวิกฤตหนี้สาธารณะในปี 2012
นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งสรุปว่า เมื่อใดก็ตามที่เงินดอลลาร์แข็งค่ามากเกินไป เมื่อนั้นก็ให้ทำใจเตรียมรับมือกับคลื่นยักษ์สึนามิที่จะตามมาได้เลย
นอกจากนี้ ความกังวลอีกประการหนึ่งในช่วงที่ตลาดผันผวนหนักอย่างมากก็คือ การที่บรรดาผู้จัดการสินทรัพย์ กองทุนป้องกันความเสี่ยง และผู้เล่นอื่นๆ ที่อาจได้รับ Leverage หรือเปิดรับความเสี่ยงที่ไม่ฉลาดมากเกินไป จนส่งผลต่อการซื้อหลักประกันและการบังคับชำระบัญชีที่จะทำให้ตลาดผันผวนหนักกว่าเดิมได้
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายสำนัก รวมถึง ปีเตอร์ บูควาร์ จาก Bleakley Financial Group สรุปว่า ปัญหาทั้งหมดนี้คือนโยบายของ Fed เองที่สร้างความเปราะบางและความคลาดเคลื่อนให้กับตลาด แต่ที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่านั้นก็คือ หลายประเทศกำลังพึ่งพานโยบายของ Fed ในการจัดการกับความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน สิ่งที่นักวิเคราะห์กังวลอีกอย่างก็คือเวลานี้มีหลายความเป็นไปได้ของปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายของ Fed มากมายจนนักลงทุนไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นจากตรงไหน และต้องไปต่อได้อย่างไร
อ้างอิง:
- https://www.federalreserve.gov/aboutthefed/boardmeetings/20221003closed.htm
- https://www.cnbc.com/2022/10/01/the-fed-is-breaking-things-heres-what-has-wall-street-on-edge-as-risks-rise-around-the-world.html
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP