×

จับตา Fed ลดดอกเบี้ยครั้งแรกรอบ 4 ปี ไทยจ่อรับอานิสงส์มากกว่าประเทศ EM อื่นๆ?

18.09.2024
  • LOADING...
Fed

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FOMC) ในวันที่ 17-18 กันยายนนี้ นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 5.00-5.25% แม้ว่าตลาดจะเดิมพันแรง โดยมองว่า Fed อาจลดดอกเบี้ยถึง 0.50% ก็ตาม

 

หลังจากก่อนหน้านี้ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ส่งสัญญาณในการประชุม Jackson Hole ว่า ถึงเวลาลดดอกเบี้ยแล้ว ท่ามกลางตัวเลขเงินเฟ้อที่มีทิศทางชะลอลงสู่เป้าหมาย ประกอบกับตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณอ่อนแรงลง

 

ธนาคารกรุงไทยและซีไอเอ็มบีไทยมองตรงกันว่า การกลับทิศดอกเบี้ยของ Fed ครั้งนี้จะทำให้ไทยได้รับอานิสงส์จากกระแสเงินทุน (Fund Flow) ที่ไหลกลับเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ (EM) โดยเฉพาะตลาดบอนด์ และอาจทำให้บาทอยู่ในทิศทางแข็งค่าต่อไปตลอดรอบการลดดอกเบี้ยนี้

 

สำหรับผลต่อทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจำกัด เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้แสดงท่าทีว่าให้น้ำหนักจากปัจจัยในประเทศเป็นหลักมาโดยตลอด ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยปัจจุบันก็ไม่ได้สูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ กระนั้นผู้เชี่ยวชาญมองว่า กนง. มีโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้อยู่ดี

 

โลกกำลังเข้าสู่ยุคดอกเบี้ยขาลง แล้วดอกเบี้ยไทยจะลงได้แค่ไหน?

 

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยเมื่อวันที่ 13 กันยายนว่า ภาพรวมทั่วโลกปัจจุบันค่อนข้างชัดเจนว่าธนาคารกลางต่างๆ พยายามจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง รวมถึงธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่ลดไปก่อนหน้านี้ สะท้อนว่าหลายประเทศอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาลง

 

สำหรับการประชุม FOMC ในวันที่ 17-18 กันยายนี้ ดร.กอบศักดิ์ คาดว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยลงมาที่ 0.25% และลดอีก 1 ครั้งภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอดูท่าทีของคณะกรรมการอีกที เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาล่าสุดบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อพื้นฐานยังไม่ได้ลงมาเท่าที่คาด

 

ดร.กอบศักดิ์ มองดอกเบี้ยไทยอาจลงได้ไม่เยอะ

 

ส่วนทิศทางดอกเบี้ยนโยบายประเทศไทย ดร.กอบศักดิ์ มองว่าอาจลงได้ไม่เยอะ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยไม่ได้สู้กับเงินเฟ้ออย่างหลายประเทศ แต่เป็นการปรับให้สอดรับกับ Neutral Rate มากกว่า

 

“บริบทของประเทศไทยและต่างประเทศมีความแตกต่างกันอยู่ ตัวอย่างเช่น เมื่อ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปอยู่ในระดับสูงเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ และขึ้นไปสูงกว่า 5% เนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงมาก จึงต้องแช่ดอกเบี้ยที่ระดับสูงไว้นาน ขณะที่ไทยแทบจะไม่ได้สู้กับเงินเฟ้อเลย แต่ไทยเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปที่ค่า Neutral Rate

 

“ต้องให้ ธปท. กลับไปลองพิจารณาดูว่าเป็นอย่างไร แต่สำหรับผม คิดว่า Neutral Rate ไม่มีจุดที่ชัดเจนว่าจะต้องอยู่ที่จุดไหน ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ 2.5% ด้วยซ้ำไป ต่อให้ถามเหล่านักเศรษฐศาสตร์เองก็ให้คำตอบว่า 2-2.5% เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องที่ก้ำกึ่ง”

 

ดร.กอบศักดิ์ ระบุอีกว่า หาก ธปท. ต้องการผลักดันเศรษฐกิจ ก็สามารถดำเนินการ (ลดดอกเบี้ย) ได้ แต่คงได้ไม่เยอะ เนื่องจาก ธปท. ปรับขึ้นมาที่ 2.5% จากก่อนเกิดโรคโควิดที่ 1.75% หมายความว่าปรับขึ้นมาแค่ 0.75% เท่านั้น ทำให้โอกาสจะปรับดอกเบี้ยลงก็ไม่เยอะ ได้แค่ 1-2 ครั้ง

 

อย่างไรก็ดี “ต้องลองให้ทาง ธปท. ไปศึกษา เพราะอย่างที่ได้กล่าวไว้ คือ Neutral Rate ไม่ได้อยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจ” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

 

กรุงไทยมอง Fed ลด 0.50% ดีกว่า เพื่อลดความผันผวนในตลาด

 

สงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH เมื่อวันที่ 16 กันยายน โดยระบุว่า ปัจจุบันตลาดมองว่ามีโอกาสมากกว่า 62% ที่ Fed จะลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 17-18 กันยายนนี้ พร้อมทั้งประเมินว่า การลดดอกเบี้ยของ Fed รอบนี้ กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจะไหลมาไทย ทำให้ได้ประโยชน์มากกว่า EM บางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย

 

ทั้งนี้ปัจจุบันตลาดเดิมพันไปที่ 2 ฉากทัศน์หลักๆ ได้แก่ การปรับลดดอกเบี้ย 0.25% และ 0.50% อย่างไรก็ดี สงวนมองว่า Fed ควรลดอัตราดอกเบี้ยไปเลย 0.50% ในสัปดาห์นี้ เพื่อลดความผันผวนในตลาด

 

“ผมมองว่า Fed ควรจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ไปเลย พร้อมสื่อสารให้ชัดเจนว่า Fed ไม่ได้เห็นสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) แต่เป็นการลดในจังหวะที่ตัวเลขต่างๆ สนับสนุนให้ Fed ลดดอกเบี้ยมาพักใหญ่แล้ว และต่อจากนี้ก็อาจไม่มีความจำเป็นต้องลดมากขนาดนี้แล้ว โดยหลังจากนี้อาจลดครั้งละ 0.25% ไปเรื่อยๆ” สงวนกล่าว

 

แต่หากลดดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้เพียง 0.25% ความไม่แน่นอนก็จะคาราคาซังต่อไป ตลาดก็จะเกิดคำถามและความไม่แน่นอนอีกว่า ในการประชุมนัดต่อไปในเดือนพฤศจิกายน Fed ควรจะลด 0.25% หรือ 0.50% แต่หากลด 0.50% ในสัปดาห์นี้ ตลาดก็จะมองว่าในการประชุมครั้งเดือนพฤศจิกายน Fed จะลด 0.25% จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาที่ตลาดผันผวนมากเนื่องจากความไม่แน่นอนแบบนี้

 

ซีไอเอ็มบีไทยฟันธง Fed ลดดอกเบี้ยเพียง 0.25% เหตุสหรัฐฯ จ่อ Soft Landing

 

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH โดยประเมินว่า ในการประชุม FOMC สัปดาห์นี้น่าจะมีมติลดดอกเบี้ยลง 0.25% เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่น่าจะถดถอย และน่าจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Soft Landing) ได้

 

“ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลัง Soft Landing เห็นได้จากเงินเฟ้อ การจ้างงาน และตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังสามารถเติบโตได้อยู่ จึงมองว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาแรงด้วยการปรับลด 0.50% ในครั้งแรกเลย นอกจากนี้แม้ทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับตัวย่อลงแล้ว แต่ Fed อาจต้องระมัดระวังว่าเงินเฟ้ออาจปรับตัวขึ้นมาอีกได้” ดร.อมรเทพ กล่าว

 

ดร.อมรเทพ ยังระบุว่า ปัจจุบันตลาดประเมินว่า Fed มีโอกาสจะลดดอกเบี้ย 0.25% และ 0.50% ในรอบนี้ แต่การปรับลดดอกเบี้ยอย่างแรงตั้งแต่ครั้งแรกมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีคือ Fed จะสามารถชะลอผลกระทบทางเศรษฐกิจ และเป็นการเสริมสภาพคล่องให้เศรษฐกิจได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ดี ข้อเสียคือ อาจทำให้นักลงทุนตกใจว่า Fed กำลังเห็นอะไรบางอย่างที่นักลงทุนไม่เห็นหรือไม่

 

บาทจะแข็งเท่าไรหาก Fed ลดดอกเบี้ย

 

สงวนมองว่า รอบ (Cycle) การลดดอกเบี้ยของ Fed ครั้งนี้น่าจะเป็นรอบใหญ่ เพราะฉะนั้นตลอดเส้นทางการลดดอกเบี้ยรอบนี้ก็จะเป็นแรงกดดันต่อดอลลาร์สหรัฐต่อเนื่อง โดยหลังจากการประชุม FOMC รอบนี้ บาทมีโอกาสแตะ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่น่าจะถึง 32 บาท อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีบาทมีโอกาสแตะ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ในไตรมาส 4

 

“บาทมีโอกาสจะ Consolidate ได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากการเคลื่อนไหวของเงินบาทช่วงนี้แสดงให้เห็นว่าตลาดก็น่าจะ Price In ไปแล้วว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ย 0.50% กว่า 60% จึงไม่น่าจะเกิดภาวะช็อกหรือเซอร์ไพรส์มากนักหลังจบการประชุม”

 

สอดคล้องกับ ดร.อมรเทพ ที่มองว่า “ถึงแม้ Fed จะปรับลดดอกเบี้ยที่ 0.50% ในวันที่ 18 กันยายนนี้ อาจทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้อีกเล็กน้อย แต่ไม่คิดว่าจะแข็งไปจนถึงระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากตลาดรับรู้ข่าวไปมากแล้ว และตลาดยังคงรอดูพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการค้าโลกในปีหน้า”

 

กรุงไทยมอง Fed ลดดอกเบี้ย ไทยจ่อรับอานิสงส์มากกว่า EM อื่นๆ

 

สงวนมองว่า การลดดอกเบี้ยของ Fed รอบนี้ ไทยจะได้รับอานิสงส์แน่นอน เนื่องจากก่อนหน้านี้เราถูก Underweight มากเป็นพิเศษ พอเวลาดอกเบี้ยกลับข้าง นักลงทุนก็อาจต้องกลับมา Catch Up

 

“แม้ปัจจัยพื้นฐานไม่ได้เปลี่ยนนัก แต่ไทยจะได้อานิสงส์จากกระแสเงินทุน โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปเงินบาทก็จะได้ประโยชน์ และอาจได้ประโยชน์มากกว่าหลายๆ สกุลที่ถูก Overweight อยู่ ตัวอย่างเช่น อินโดนีเซียที่ถูก Overweight อยู่แล้ว นักลงทุนไม่รู้จะเพิ่มน้ำอย่างไรแล้ว อาจเพิ่มได้อีกนิดหน่อยเฉพาะสินทรัพย์สกุลเงินบาท” สงวนกล่าว

 

ตลาดหุ้น-ตลาดบอนด์ ลุ้นพลิกเป็น Net Buy?

 

สำหรับตลาดหุ้น สงวนมองว่า ไม่น่าพลิกกลับมาซื้อสุทธิ (Net Buy) ได้ในปีนี้ แต่ปีหน้ายังมีลุ้น ขณะที่ตลาดบอนด์โอกาสที่ทั้งปีจะเป็น Net Buy ยังมีสูง

 

ขณะที่ ดร.อมรเทพ มองว่า หลังการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed Fund Flow น่าจะไหลกลับเข้ามาทั้งตลาดบอนด์และตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะตลาดบอนด์ สำหรับตลาดหุ้นไม่น่าเห็นการไหลที่หวือหวา นักลงทุนอาจรอเห็นภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มากกว่านี้ รวมไปถึงผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไทย

 

ทั้งนี้ตามข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี กระแสเงินลงทุนต่างประเทศ (Non-resident Net Flows) ยังติดลบ 10,465 ล้านบาท แต่ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (กรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน) ก็เป็น Net Buy มาตลอด ขณะที่ YTD (ถึงวันที่ 17 กันยายน) ต่างชาติ Net Sell หุ้นไทย 99,843.40 ล้านบาท

 

Fed จ่อลด แล้ว ธปท. ลดเมื่อไร

 

ดร.อมรเทพ กล่าวว่า ไม่ว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยลงที่ 0.25% หรือ 0.50% ธปท. ก็มีโอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่แข็งค่าอาจทำให้ความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยเปราะบางลง​ เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับที่ต่ำ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้า ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจทำให้ ธปท. ปรับลดดอกเบี้ย

 

กระนั้นหาก Fed ตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยที่ 0.50% ก็อาจยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย

 

นอกจากนี้ ดร.อมรเทพ ยังมองว่า อีกสาเหตุที่ทำให้ ธปท. ยังไม่ลดดอกเบี้ย คือยังรอดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐว่าจะออกมาในรูปแบบใด หรือจะทำให้เกิดเงินเฟ้อมากแค่ไหน โดยหากยังไม่มีการกระตุ้นในขนาดใหญ่ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้ ธปท. ลดดอกเบี้ยได้เช่นกัน

 

ขณะที่สงวนกล่าวว่า ที่ผ่านมาทั้งในแถลงการณ์ (Statement) และการให้สัมภาษณ์ ธปท. ไม่เคยระบุว่า การลดดอกเบี้ยของต่างประเทศจะเป็นปัจจัยในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมทั้งยืนยันว่า ยังคงพิจารณาปัจจัยในประเทศเป็นหลัก

 

ส่วนแรงกดดันจากฝั่งรัฐบาลไม่น่ามีน้ำหนักต่อการตัดสินใจของ ธปท. เห็นได้จากยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีแรงกดดันค่อนข้างมากไปแล้ว

 

อย่างไรก็ดี สงวนมองว่า ต้องจับตาดูว่าอาจมีการกล่าวถึงปัจจัยต่างประเทศในการประชุม กนง. ในครั้งต่อไป ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 16 ตุลาคมนี้หรือไม่

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising