×

บาทแข็งค่าหลัง Fed ส่งซิกอาจไม่ขึ้นดอกเบี้ยต่อ จับตาการเมืองไทยกระทบ Fund Flow ต่างชาติ คาดกรอบสัปดาห์นี้ที่ 34.00-34.60 บาทต่อดอลลาร์

22.05.2023
  • LOADING...
Fed

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 34.28 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 34.39 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมานั้น (19 พฤษภาคม) เงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าใกล้โซน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์และแรงซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ก่อนจะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังประธาน Fed ออกมาระบุว่า Fed อาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยมาก ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มกลับมากังวลความคืบหน้าการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย ประเมินแนวโน้มของค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า นอกเหนือจากทิศทางเงินดอลลาร์และราคาทองคำแล้ว ความไม่แน่นอนของการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง อาจส่งผลกระทบต่อ Fund Flow นักลงทุนต่างชาติได้ โดยคาดว่านักลงทุนต่างชาติจะยังไม่รีบกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยในระยะสั้น ซึ่งในเชิง Technical โซนแนวต้านจะอยู่ที่โซน 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์ และเส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน แถว 34.20 บาทต่อดอลลาร์ จะกลายมาเป็นโซนแนวรับในระยะสั้นนี้

 

อย่างไรก็ดี หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นหลุดเส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน ก็มีโอกาสเห็นการแข็งค่ากลับไปทดสอบโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้ง โดยมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 34.00-34.60 บาทต่อดอลลาร์

 

ในส่วนเงินของดอลลาร์มองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์อาจเริ่มแผ่วลง หลังตลาดเริ่มมองว่า Fed อาจไม่เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ขณะเดียวกัน ความกังวลปัญหาเพดานหนี้ก็เริ่มกลับมาอีกครั้ง จากการเจรจาขยายเพดานหนี้ที่ยังไม่แน่นอน อย่างไรก็ดี หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อได้

 

พูนระบุว่า ในสัปดาห์นี้มีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจหลายตัวที่ควรจับตา เช่น รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ และรายงานดัชนี PMI ของบรรดาเศรษฐกิจหลัก นอกจากนี้ควรติดตามการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ พร้อมรอติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลผสมของไทย

 

ทั้งนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (S&P Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนพฤษภาคม โดยตลาดคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงได้แรงหนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ โดยดัชนี PMI ภาคการบริการอาจอยู่ที่ระดับ 52.5 จุด (ดัชนีสูงกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ซึ่งภาคการบริการของสหรัฐฯ ก็ยังคงได้รับอานิสงส์จากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและตึงตัวอยู่ สะท้อนผ่านยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและต่อเนื่อง (Initial and Continual Jobless Claims) ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำหรือไม่ได้เพิ่มขึ้นชัดเจน

 

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ Fed ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed รวมถึงรายงานการประชุม FOMC ล่าสุด และรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนเมษายน ซึ่งผู้เล่นในตลาดมองว่าอาจอยู่ที่ระดับ 4.3% (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE อาจทรงตัวที่ระดับ 4.6%) โดยหากอัตราเงินเฟ้อ PCE ออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเพิ่มโอกาสที่ Fed จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมเดือนมิถุนายนได้ 

 

ขณะเดียวกัน ปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ โดยผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามความคืบหน้าของการเจรจาขยายเพดานหนี้ (Debt Ceiling) อย่างใกล้ชิด

 

ส่วนฝั่งยุโรป ตลาดมองว่าเศรษฐกิจยูโรโซนอาจเริ่มเผชิญผลกระทบจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาจยังคงหดตัวต่อเนื่อง ชี้จากดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนพฤษภาคมที่ระดับ 46 จุด อย่างไรก็ดี การขยายตัวของภาคการบริการซึ่งสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการที่ระดับ 55.5 จุด จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยประคองเศรษฐกิจยูโรโซน 

 

เช่นเดียวกันกับในฝั่งอังกฤษ การขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ (ดัชนี PMI ภาคการบริการ อาจอยู่ที่ระดับ 55.5 จุด) ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจอังกฤษเช่นกัน อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของอังกฤษในเดือนเมษายน อาจยังคงอยู่ที่ระดับสูงถึง 8.1% แม้ว่าจะเป็นการชะลอลงจากระดับ 10.1% ในเดือนก่อนหน้า แต่อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงดังกล่าวอาจหนุนให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจนแตะระดับ 4.75% ได้ในปีนี้

 

สำหรับฝั่งเอเชีย ตลาดคาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ดีขึ้น หนุนโดยการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการในเดือนพฤษภาคมที่ระดับ 55.7 จุด ขณะที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นอาจยังคงหดตัวต่อเนื่อง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจต่ำกว่าระดับ 50 จุด ในส่วนของนโยบายการเงิน ตลาดคาดว่า ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +25bps สู่ระดับ 5.50% หลังเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับสูง 

 

ขณะที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) และธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.50% และ 5.75% หลังอัตราเงินเฟ้อของทั้งเกาหลีใต้และอินโดนีเซียชะลอลงต่อเนื่อง และที่สำคัญสำหรับ BI ค่าเงินรูเปียห์ (IDR) ก็มีเสถียรภาพมากขึ้นหลังการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงก่อนหน้า

 

สำหรับฝั่งไทย ตลาดประเมินว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าอาจส่งผลให้ยอดการส่งออก (Exports) เดือนเมษายน หดตัวต่อเนื่อง -2.2%y/y อย่างไรก็ดี ยอดการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจฝั่งเอเชีย ทว่าแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักอย่าง สหรัฐฯ และยุโรปก็อาจเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกของไทยได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X