×

เมื่อ Fed ย้ำ แต่นักลงทุนเมิน ราคาทองคำมีโอกาสไปต่ออย่างไร?

07.07.2023
  • LOADING...
ราคาทองคำ

นับตั้งแต่หลังการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลายฝ่ายได้ปรับคาดการณ์ต่อแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed โดยข้อมูลจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ให้น้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนกรกฎาคม และจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับดังกล่าวจนถึงสิ้นปี ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม 2024 

 

ความแตกต่างของคาดการณ์ในช่วงก่อนและหลังการประชุม Fed เดือนมิถุนายน คือการคาดการณ์ถึงการปรับทิศทางนโยบายการเงินของ Fed หรือการเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยในช่วงก่อนการประชุมนั้น นักลงทุนส่วนใหญ่ให้น้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ Fed จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2023 ซึ่งสอดคล้องกับคาดการณ์ของนักวิเคราะห์หลายสำนักที่ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงเวลาดังกล่าว 

 

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาตามตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในรายงานประมาณการภาวะเศรษฐกิจล่าสุดของ Fed จะพบว่า ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 5.6% หรือตามกรอบ 5.50-5.75% ซึ่งหมายถึง Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งภายในปีนี้ นับว่าเป็นการส่งสัญญาณต่อการดำเนินนโยบายการเงินที่แข็งกร้าวเป็นอย่างมาก แต่กระนั้น ดูเหมือนว่านักลงทุนจะยังคงไม่ปักใจเชื่อ สะท้อนถึงมุมมองที่ว่า Fed อาจจะไม่ปรับขึ้นตามตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าว 

 

Fed ย้ำขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง คาดเงินเฟ้อยังค้างตัวสูง 

การให้ถ้อยแถลงของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed นับตั้งแต่การแถลงผลการประชุม จนถึงการกล่าวในงานการเสวนาว่าด้วยเสถียรภาพทางการเงินที่ประเทศสเปน ในวันที่ 29 มิถุนายน ก็ยังคงย้ำถึงความเป็นไปได้ที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะส่งให้ระดับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดอยู่ที่ 5.6% ตามรายงานประมาณการที่ออกมาล่าสุด 

 

ทั้งนี้ จากการให้ถ้อยแถลงของพาวเวลล์ระบุถึงความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ Fed ส่วนใหญ่ที่เชื่อว่าการเพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินนโยบายการเงินด้วยนั้นมีความเหมาะสมและจำเป็น เนื่องด้วยการบรรลุเป้าหมายด้านเงินเฟ้อยังคงต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดด้วยระยะเวลาที่ยาวนานเพียงพอ สอดคล้องกับความเห็นของพาวเวลล์ที่ว่า เขาไม่คิดว่าตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐฯ​ จะกลับเข้าสู่เป้าหมายของ Fed ได้ในระยะอันใกล้ 

 

นักลงทุนเมิน จากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ​ เสี่ยงถดถอย 

อย่างไรก็ตาม แม้พาวเวลล์จะออกมาส่งสัญญาณที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามวาระต่างๆ แต่นักลงทุนก็ยังคงไม่ปักใจเชื่อว่า Fed จะสามารถเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เช่นนั้น สะท้อนผ่านข้อมูลจาก FedWatch Tool ของ CME Group ที่บ่งชี้ว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ให้น้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีกเพียง 1 ครั้ง ในการประชุมเดือนกรกฎาคมมากกว่าที่จะมีการปรับขึ้นอีก 2 ครั้ง ซึ่งเท่ากับว่านักลงทุนให้ความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยของ Fed จะอยู่ที่เพียง 5.4% 

 

ทั้งนี้ นักลงทุนมีมุมมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ​ อาจเผชิญกับภาวะถดถอย สะท้อนผ่านหนึ่งตัวชี้วัดอย่างความผกผันของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร หรือ Inverted Yield Curve ของสหรัฐฯ โดยทาง Bloomberg ได้เปิดเผยผลสำรวจตลาดในรอบกลางปี (Mid-Year Markets Live Pulse Survey) ที่พบว่า ราว 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามนั้นคาดการณ์ว่า เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ​ จะคงเกิดการผกผันดังกล่าวไปจนถึงปี 2024 ซึ่งบ่งชี้ถึงมุมมองเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อนึ่ง หากการผกผันของเส้นอัตราผลตอบแทนยังคงดำเนินไปจนถึงเดือนเมษายน 2024 ตรงนี้จะกลายเป็นช่วงการผกผันของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ 

 

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเบื้องหลังที่ทำให้ตลาดยังคงมีความกังวลต่อการเกิดภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ คือคาดการณ์ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยระดับสูงของ Fed โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมาทำให้ครัวเรือนและภาคธุรกิจต้องเผชิญกับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ส่งผลต่อกำลังซื้อหรือความสามารถในการหารายได้และกำไรที่ลดลง 

 

ขณะเดียวกัน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นนอกจากจะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นแล้ว ยังมีผลให้ราคาสินทรัพย์ชนิดอื่นมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะราคาสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น พันธบัตร และหุ้นสามัญ ซึ่งเท่ากับความมั่งคั่งของผู้ครอบครองสินทรัพย์เหล่านี้จะมีความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น 

 

ด้วยเหตุนี้เอง เจ้าหน้าที่ Fed จึงได้แสดงถึงความกังวลต่อประเด็นภาวะสินเชื่อตึงตัว เนื่องด้วยธนาคารมีการเพิ่มมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อให้สูงขึ้น เพราะการที่มูลค่าความมั่งคั่งของผู้คนหรือภาคธุรกิจมีความผันผวนเพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลให้ความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้น ธนาคารจึงต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น 

 

ข้อมูลจากผลสำรวจแนวโน้มและภาวะสินเชื่อของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Senior Loan Officer Opinion Survey (SLOOS) บ่งชี้ว่า ธนาคารส่วนใหญ่ที่ทำแบบสำรวจเลือกปล่อยสินเชื่ออย่างเข้มงวดมากขึ้น ทั้งต่อภาคธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ 

 

ภาพ: MacroMicro 

 

ทั้งนี้ Moody’s Investors Service สถาบันการจัดอันดับเครดิตระดับโลก รายงานว่า อัตราการผิดนัดชำระหนี้ในบริษัทเอกชนสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น โดยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่หน่วยงานวิจัยของ Fed (FedResearch) ได้รายงานว่า ท่ามกลางช่วงระยะเวลาที่ Fed ดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด โดยในรอบนี้ (2022-ปัจจุบัน) บริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงกว่าในช่วงทศวรรษ 1970 

 

อย่างไรก็ดี แนวโน้มภาวะสินเชื่อตึงตัวของสหรัฐฯ ถูกซ้ำเติมจากการล้มลงของธนาคาร 3 แห่งในช่วงที่ผ่านมา ยอดเงินฝากในระบบที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรงนี้ยิ่งกดดันให้ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยกู้เพิ่มมากขึ้น เนื่องด้วยแหล่งเงินทุนในการปล่อยกู้ที่มีแนวโน้มจำกัดมากยิ่งขึ้น สถานการณ์ข้างต้นส่งผลต่อความเสี่ยงของการหดตัวลงของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งมีแนวโน้มจะกลับมาสร้างความเสียหายให้กับภาคธนาคารในสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก

 

แนวโน้มภาวะสินเชื่อตึงตัวดังกล่าวอาจทำให้เกิดการชะลอตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนในระยะข้างหน้า ซึ่งมีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งนี้ การส่งสัญญาณที่เข้มงวดของ Fed ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันราคาทองคำให้ปรับตัวลง เนื่องด้วยทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำจึงเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย 

 

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็นับเป็นปัจจัยบวกต่อการปรับขึ้นของราคาทองคำ ดังนั้น จึงแนะนำให้ติดตามข้อมูลทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยหากข้อมูลที่ออกมาเพิ่มความเป็นไปได้ต่อการเกิดภาวะถดถอยดังกล่าว ราคาทองคำก็มีโอกาสจะปรับตัวขึ้นต่อไปได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X