×

‘เฟด’ ส่งสัญญาณลด QE เผยที่ประชุมเริ่มเสนอแตะเบรกภายในปีนี้ หลังประเมินเศรษฐกิจฟื้นตามคาด

19.08.2021
  • LOADING...
FED

สรุปรายงานการประชุมของคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ประจำเดือนกรกฎาคมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ระบุชัดว่า ที่ประชุมเห็นชอบที่จะให้เริ่มมีการลดปริมาณการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐรายเดือนมูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2021 นี้ พร้อมย้ำชัดว่า การลดปริมาณซื้อคืนไม่มีความเชี่อมโยงเกี่ยวข้องใดๆ กับความเป็นไปได้ในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีสมาชิกคณะกรรมการ FOMC บางส่วนที่ต้องการจะรอจนถึงต้นปี 2022 จึงค่อยพิจารณาแตะเบรกนโยบาย QE

 

แถลงการณ์ของผลการประชุมเฟด (Minutes) ระบุว่า ความเห็นของทางคณะกรรมการส่วนใหญ่มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวไปในทิศทางที่คาดหวังไว้ ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อและการเติบโตของตลาดงาน ทำให้เป็นเรื่องที่เหมาะสมที่จะลดปริมาณซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐภายในปีนี้

 

ในส่วนของประเด็นเงินเฟ้อ ส่วนใหญ่มองว่าอัตราเงินเฟ้อระดับสูงที่กำลังกดดันเศรษฐกิจอยู่ในช่วงเวลานี้เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว และมีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อปัญหาห่วงโซ่อุปทานได้รับการแก้ไข ขณะที่อุปสงค์กลับคืนสู่ระดับปกติก่อนเกิดโรคโควิดระบาด ขณะเดียวกันก็มองว่าการระบาดของสายพันธุ์เดลตาอาจเตะถ่วงการเปิดเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบของสหรัฐฯ

 

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะเปิดเผยรายงานผลการประชุมเฟด เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนช่วงก่อนเกิดวิกฤตการระบาดของโรคโควิดได้ เนื่องจากวิกฤตดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไปอย่างถาวร ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเฟดที่จะต้องจับตามองการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม พร้อมยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลง เช่นกรณี การทำงานทางไกล และการทำงานจากที่บ้าน ที่นำไปสู่การเดินหน้าลงทุนเทคโนโลยีการสื่อสารทางไกล และเทคโนโลยีจักรกลต่างๆ เพื่อลดการสัมผัส

 

ด้านความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเมื่อวานนี้ (18 สิงหาคม) เนื่องจากความเห็นเกี่ยวกับการลดปริมาณ QE ส่งผลให้ตลาดปิดลบเล็กน้อย กระนั้นเมื่อมองในภาพรวมปีนี้จนถึงปัจจุบัน ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ต่างขยับปรับขึ้นมาอยู่ที่ระหว่าง 14-18% แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งประเมินว่า หากพิจารณาจากประวัติความเคลื่อนไหวของตลาดช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ตลาดมักจะมีการปรับฐานครั้งใหญ่ จนทำให้เกิดภาวะตลาดล่มอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นในปี 1929, 1987, 2008 และล่าสุดปี 2018

 

โดยปัจจัยที่ทำให้นักวิเคราะห์กังวลว่าตลาดอาจมีการปรับฐานครั้งใหญ่ เป็นผลมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิดสายพันธุ์เดลตา แรงกดดันจากความร้อนแรงของเงินเฟ้อที่ไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนลงในระยะเวลาอันใกล้นี้ และปัญหาความขัดแย้งวุ่นวายในอัฟกานิสถาน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X