ปริมาณการปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ผ่านโครงการช่วยเหลือ 2 โครงการ คือ Discount Window และโครงการระดมทุนสำหรับธนาคาร (Bank Term Funding Program: BTFP) ยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ทำสถิติสูงสุดในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า นักวิเคราะห์ชี้ เป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นว่า ระบบธนาคารในสหรัฐฯ ยังคงมีความเปราะบาง
รายงานของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ระบุว่า การกู้ยืมเงินของธนาคารพาณิชย์ผ่านโครงการ Discount Window ซึ่งเป็นแหล่งสินเชื่อฉุกเฉินหลักของ Fed ที่ให้แก่สถาบันการเงิน ลดลงอยู่ที่ 110,200 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 152,900 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสถิติเดิมที่ทำไว้อยู่ที่ 112,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงฤดูใบไม้ร่วงในปี 2008
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความมั่งคั่งจากหุ้นของชาวอเมริกันหายไปกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ จากที่เคยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวหลังวิกฤตโควิด
- ตามคาด ‘Fed’ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% พร้อมส่งสัญญาณปรับขึ้นต่อ หวังคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด
- นักวิเคราะห์ชี้พิษนโยบาย Fed เป็นเหตุทำตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วน
ทั้งนี้ Discount Window เป็นเครื่องมือช่วยเหลือด้านสภาพคล่องสำหรับธนาคารพาณิชย์ของ Fed ที่จะใช้ในช่วงที่เกิดภาวะไร้เสถียรภาพทางการเงิน
ขณะเดียวกัน Fed ยังเปิดเผยด้วยว่า บรรดาธนาคารพาณิชย์ยังได้เพิ่มปริมาณการกู้ยืมเงินจากโครงการระดมทุนสำหรับธนาคาร (Bank Term Funding Program: BTFP) ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยเหลือฉุกเฉินใหม่ที่ Fed เพิ่งเปิดตัวเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.37 หมื่นล้านดอลลาร์ จากสัปดาห์แรกที่มีการเปิดตัวที่ 1.19 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งค่อนข้างน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
สำหรับโครงการระดมทุนสำหรับธนาคาร หรือ Bank Term Funding Program (BTFP) นี้ จะเปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์มีสิทธิ์ขอกู้ยืมโดยให้พันธบัตรหรือตราสารหนี้ใดๆ เป็นตัวค้ำประกัน โดยที่ไม่มีบทลงโทษตามปกติสำหรับสินเชื่อประเภทนี้
นอกจากนี้ Fed ยังรายงานว่า ปริมาณการให้กู้ยืมของธนาคารกลางต่างประเทศผ่านแหล่งซื้อคืน (Repo Facility) เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยตัวเลขสิ้นสุดเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พบว่า แตะ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารกลางรายใหญ่หลายแห่งก็เพิ่งประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เตรียมจะดึงสภาพคล่องของผ่านโครงการ U.S. Dollar Swap Line ตามความจำเป็น
หลังจากเมื่อวันที่ 19 มีนาคม Fed และธนาคารกลางอีก 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกลางแคนาดา (BoC), ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE), ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ), ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศการดำเนินการเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบการเงินโลก ผ่านการทำ U.S. Dollar Swap Line โดยเพิ่มความถี่ในการเข้าถึงจากรายสัปดาห์เป็นรายวัน
ทั้งนี้ Swap Line คือโครงการเพิ่มสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ให้กับธนาคารกลางในประเทศต่างๆ นับเป็นการดำเนินการที่เคยเกิดขึ้นยามเกิดวิกฤตครั้งที่ผ่านๆ มา รวมถึงช่วงที่ Lehman Brothers ล้มละลายเมื่อปี 2008 ด้วย
ปริมาณปล่อยกู้ของ Fed ดังกล่าวทำให้ขนาดงบดุลโดยรวมขยับไปที่ 8.8 ล้านล้านดอลลาร์ จากเดิมที่ 8.7 ล้านล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ก่อนหน้า โดย Fed ยืนยันว่า ปริมาณสินทรัพย์ที่ร่อยหรอลงไปไม่กระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินโดยรวมของ Fed
นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า ปริมาณการปล่อยกู้ผ่านโครงการช่วยเหลือของ Fed ที่อยู่ในระดับสูง เป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นว่า ระบบธนาคารในสหรัฐฯ ยังคงมีความเปราะบาง ที่ธนาคารท้องถิ่นหลายแห่งยังคงต้องรับมือกับการถอนเงินฝากจำนวนมาก หลังจากเกิดปัญหากรณี Silicon Valley Bank และ Signature Bank ล่มสลายในช่วงต้นเดือนมีนาคม
เยลเลนลั่น พร้อมช่วยเหลือฉุกเฉิน เพื่อสร้างเสถียรภาพระบบแบงก์
ขณะเดียวกัน เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงจุดยืนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (23 มีนาคม) ว่าทางการสหรัฐฯ พร้อมจะออกมาตรการช่วยเหลือฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองผู้ฝากเงินเหมือนที่ให้ความช่วยเหลือกับ Silicon Valley Bank และ Signature Bank อีกครั้งในอนาคตหากมีเหตุจำเป็น
ความเห็นดังกล่าวของรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ มีขึ้นในถ้อยแถลงชี้แจงที่เจ้าตัวส่งถึงคณะอนุกรรมการด้านบริการทางการเงินและรัฐบาลทั่วไปของวุฒิสภาสหรัฐฯ ขณะที่กลุ่มวุฒิสมาชิกได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความพยายามของคณะบริหารของสหรัฐฯ ในการปกป้องผู้ฝากเงินและป้องกันการเกิดภาวะแห่ถอนเงิน โดยเยลเลนย้ำชัดว่ามาตรการเข้มงวดที่ทางการได้ดำเนินการไปเป็นไปเพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าเงินฝากของชาวอเมริกันจะปลอดภัย และแน่นอนว่ากระทรวงการคลังพร้อมที่จะดำเนินการเพิ่มเติมตามความจำเป็น
ความเห็นของเยลเลนมีขึ้นท่ามกลางความกังวลของตลาดที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลางในภูมิภาคที่ประสบปัญหาความเชื่อมั่นที่ทำให้ผู้ฝากเงินจำนวนมากแห่ถอนเงิน (Bank Run) จนทำให้ธนาคารนั้นๆ เกิดปัญหาสภาพคล่อง โดยหลายฝ่ายกังขาว่า รัฐบาลกลางพร้อมที่จะสนับสนุนธนาคารเหล่านี้หรือไม่ในกรณีที่เกิดปัญหาซ้ำรอย Silicon Valley Bank และ Signature Bank
ทั้งนี้ เยลเลนยืนยันชัดเจนว่า เป้าหมายของรัฐบาลคือการมุ่งสร้างเสถียรภาพและความเชื่อมั่นให้กับระบบธนาคาร
ถ้อยแถลงครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่วุฒิสมาชิกส่วนหนึ่งมองว่าการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐเอื้อประโยชน์ต่อบรรดาธนาคารขนาดใหญ่ที่เกิดข้อผิดพลาดในการบริหารจัดการเนื่องจากความโลภในการเข้าไปถือสินทรัพย์เสี่ยงมากเกินไป จนกระเทือนต่อระบบธนาคารทั้งระบบ โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็กที่คนแห่ไปถอนเงินออกจำนวนมาก
เยลเลนกล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ อาจเดินหน้ารับประกันเงินฝากทั้งหมดในกรณีที่อาจมีธนาคารล้มเพิ่ม และว่ามาตรการช่วยเหลือแบบเดียวกันนี้อาจมีเหตุผลอันควรให้ต้องดำเนินการ หากว่าสถาบันการเงินที่มีขนาดเล็กกว่าประสบปัญหาคนแห่ถอนเงินที่ก่อความเสี่ยงของการลุกลาม
อย่างไรก็ตาม เยลเลนยืนกรานหนักแน่นว่า กระทรวงการคลังไม่มีทางพิจารณาแผนการใดๆ ที่จะประกันเงินฝากธนาคารสหรัฐฯ ทั้งหมดโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา
อ้างอิง: