ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ส่งสัญญาณชัดเจนว่าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อไปในอนาคต หลังจากที่ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกตคือแม้ว่าจะลดดอกเบี้ย แต่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กลับเคลื่อนไหวสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงผลตอบแทนระยะยาว
ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งถือเป็น Benchmark สำหรับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล พุ่งขึ้นประมาณ 0.17% นับตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) เมื่อวันที่ 17-18 กันยายน ซึ่งถือเป็นการพลิกตัวกลับของผลตอบแทน หลังจากที่ลดลงอย่างรวดเร็วตลอดเดือนกันยายน
ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดพันธบัตรกำลังมองว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นเพียงการชดเชยให้กับตลาด ที่ก่อนหน้านี้คาดหวังการผ่อนคลายนโยบายของ Fed มากเกินไป
ตลาดได้คาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่เจ้าหน้าที่ Fed ได้ประมาณการไว้ในการประชุมล่าสุด แม้ว่า Fed จะลดดอกเบี้ยไปแล้ว 0.5% เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เจ้าหน้าที่ Fed คาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยอีก 0.5% ภายในสิ้นปี และอีก 1% ภายในสิ้นปี 2025 ในทางตรงกันข้ามตลาดคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยอีก 2% เลยทีเดียว ตามข้อมูลจาก FedWatch ของ CME Group
แม้ว่าพันธบัตรอายุยาวกว่า เช่น พันธบัตรอายุ 10 ปี จะมีอัตราผลตอบแทนพุ่งสูงขึ้น แต่พันธบัตรอายุสั้นกว่า รวมถึงพันธบัตรอายุ 2 ปี กลับไม่ได้มีการเคลื่อนไหวมากนักความแตกต่างระหว่างพันธบัตรอายุ 10 ปี และ 2 ปีนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 12 Basis Points นับตั้งแต่การประชุมของ Fed การเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกเรียกว่า Bear Steepener ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่มขึ้น โดยพันธบัตรอายุยาวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าพันธบัตรอายุสั้น
การเคลื่อนไหวดังกล่าวจะสอดคล้องกับตลาดพันธบัตรที่คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นในอนาคต นี่อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญตลาดพันธบัตรบางคนตีความแถลงการณ์ของเจ้าหน้าที่ Fed ที่ว่าขณะนี้ Fed จะมุ่งเน้นมากขึ้นไปที่ตลาดแรงงานที่อ่อนแอ และยอมรับว่าพวกเขายินดีที่จะยอมทนต่อภาวะเงินเฟ้อที่สูงกว่าปกติเล็กน้อย
Fed ตั้งเป้าอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ 2% และยังไม่มีตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจใดๆ ที่บ่งบอกว่า Fed บรรลุเป้าหมายแล้ว โดยในวันศุกร์นี้นักลงทุนจะจับตามองรายงานดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) อย่างใกล้ชิด
ผู้กำหนดนโยบายยืนยันว่า พวกเขาจะคุมเงินเฟ้อไม่ให้พลิกกลับสูงขึ้นเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเมื่อ Fed ผ่อนปรนนโยบายเร็วเกินไป แต่ตลาดมองว่า Fed ให้ความสำคัญกับตลาดแรงงานมากกว่า และเน้นที่การไม่ผลักดันเศรษฐกิจให้สู่ภาวะชะลอตัวหรือถดถอยโดยไม่จำเป็น อันเกิดจากการใช้นโยบายรัดเข็มขัดมากเกินไปต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นทำให้การขาดดุลงบประมาณในปีนี้ทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรก แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะช่วยลดภาระทางการเงินได้ แต่ผู้ซื้อพันธบัตรอายุยาวอาจกลัวที่จะลงทุนในสถานการณ์ทางการคลังที่การขาดดุลกำลังเข้าใกล้ 7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งสิ่งนี้แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นเลยในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัว
ทางด้าน Tom Garretson นักกลยุทธ์อาวุโสด้านตราสารหนี้จาก RBC Wealth Management แสดงความเห็นว่า Fed อาจไม่เสร็จสิ้นกับวงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ โดย Fed อาจลดดอกเบี้ยต่ออีกอย่างน้อย 0.5% ในปีนี้
อ้างอิง: