×

ศูนย์ทนายฯ เผย เดือนกุมภาพันธ์ถูกดำเนินคดีการเมืองเพิ่ม 91 ราย รวม 7 เดือน 382 ราย 223 คดี เป็นเยาวชน 13 ราย

โดย THE STANDARD TEAM
04.03.2021
  • LOADING...
เดือนกุมภาพันธ์ถูกดำเนินคดีการเมือง

วันนี้ (4 มีนาคม) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่รายงานสถานการณ์การดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่ายังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระบุว่าในเดือนกุมภาพันธ์เริ่มมีการนัดหมายชุมนุมสาธารณะของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนหลายครั้งมากขึ้น หลังจากในช่วงเดือนมกราคมกิจกรรมการชุมนุมลดน้อยลงไป เนื่องจากการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศไทยอีกครั้งตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม

 

ขณะที่สถิติการดำเนินคดีในภาพรวมจากการรวบรวมของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ ‘เยาวชนปลดแอก’ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 รวมเวลา 7 เดือนเศษ มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 382 คน ในจำนวน 223 คดี ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 13 ราย 

 

เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2564 เท่ากับมีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 91 คน ในจำนวน 40 คดี โดยแกนนำและผู้ชุมนุมที่มีบทบาททางการเมืองยังถูกกล่าวหาดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

 

สำหรับสถิติการดำเนินคดีแยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

 

  1. ข้อหา ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์’ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 60 ราย ในจำนวน 47 คดี

 

  1. ข้อหา ‘ยุยงปลุกปั่น’ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 99 ราย ในจำนวน 22 คดี

 

  1. ข้อหา ‘มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวาย’ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 152 ราย ใน 25 คดี

 

  1. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 301 ราย ในจำนวน 118 คดี  แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครจำนวน 23 คดี และคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 95 คดี

 

  1. ข้อหาตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 84 ราย ในจำนวน 57 คดี

 

ในจำนวนคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ทั้งหมดยังพบว่า มีการแจ้งข้อกล่าวหาทับซ้อนไปพร้อมกับ พ.ร.บ. ชุมนุม จำนวน 32 คดี ทั้งที่ตามมาตรา 3 (6) ของ พ.ร.บ. การชุมนุม กำหนดให้กฎหมายไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

 

จากจำนวนคดี 223 คดีดังกล่าว มีจำนวน 35 คดีที่สิ้นสุดไปแล้ว เพราะผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจหรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีเพียงอัตราโทษปรับ เช่น ข้อหาตาม พ.ร.บ. ความสะอาด, ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ หรือข้อหากีดขวางการจราจร เป็นต้น ขณะที่คดีส่วนใหญ่ยังอยู่ในชั้นสอบสวน และเริ่มมีคดีที่ทยอยถูกสั่งฟ้องต่อศาลมากขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม: https://tlhr2014.com/archives/26506

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising