×

บาร์เซโลนากับการดึง ‘คันโยกที่ 2’ เพื่อปลดล็อกสโมสรจากหลุมดำทางการเงิน

22.07.2022
  • LOADING...
บาร์เซโลนา

ภาพการเดินทางมาถึงแคมป์ทีมบาร์เซโลนาของ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี และการวาดลวดลายของ ราฟินญา สองสตาร์หน้าใหม่ที่ย้ายมาด้วยค่าตัวรวมกันมากกว่า 100 ล้านยูโร ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเกิดอาการสับสน

 

เพราะก่อนหน้านี้ไม่นาน สิ่งที่ทุกคนรับรู้คือยักษ์ใหญ่แห่งคาตาลันกำลังเสี่ยงที่จะล้มละลายจากการมีหนี้ล้นพ้นตัวมากกว่า 1 พันล้านยูโร แล้วบาร์เซโลนาซื้อสตาร์เหล่านี้มาได้อย่างไร?

 

เรื่องนี้แม้แต่ ยูเลียน นาเกิลส์มันน์ โค้ชบาเยิร์น มิวนิก ที่ต้องยอมปล่อยเลวานดอฟสกีให้กับบาร์ซา ตามความประสงค์ของกองหน้าวัย 34 ปีที่ไม่ต้องการเล่นในบาวาเรียอีกต่อไปถึงกับบอกว่า “สโมสรแห่งเดียวที่ไม่มีเงิน แต่ซื้อนักเตะทุกคนที่พวกเขาอยากได้ ผมไม่รู้ว่าพวกเขาทำได้อย่างไร มันประหลาดมาก เป็นอะไรที่บ้ามาก”

 

อย่างไรก็ดี ภาพหน้าชื่นที่ได้เห็นของทีมบาร์ซาที่กำลังอยู่ในระหว่างการเดินสายทัวร์ที่สหรัฐอเมริกานั้น แฝงเอาไว้ด้วยความอกตรมของผู้บริหารสโมสรที่นำมาโดย โจน ลาปอร์ตา ประธานผู้อาสากลับมากอบกู้สโมสรอีกครั้ง หลังจากที่ โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว บริหารเอาไว้เละเทะจนมีหนี้สินมากกว่าพันล้าน

 

ตลอด 1 ปีเศษที่ผ่านมา ลาปอร์ตาซึ่งเป็นทั้งนักกฎหมายและผู้บริหารที่มีความสามารถสูง ได้พยายามแก้ไขปัญหาให้กับสโมสรทีละเปลาะโดยทำงานร่วมกับ เอดูอาร์ด โรเมอู รองประธานสโมสรฝ่ายการเงิน คนที่ทราบสถานะทางการเงินที่แท้จริงของบาร์ซา ก่อนที่จะออกแผนการระดมทุนครั้งใหญ่

 

แผนการดังกล่าวคือการขายสิ่งที่มีมูลค่าสูงของบาร์ซา 2 อย่าง ได้แก่การขายหุ้นบริษัทลูก Barcelona Licensing & Merchandising (BLM) ที่หวังจะขายไม่เกิน 49% เพื่อแลกกับเงินราว 200-300 ล้านยูโร

 

และอีกสิ่งคือการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ของสโมสรจำนวน 25% หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของรายได้ส่วนนี้ทั้งหมด ในสัญญาระยะเวลา 25 ปี โดยคาดว่าจะทำเงินได้มากกว่า 500 ล้านยูโรด้วยกัน


ทั้งหมดนี้เพื่อหวังปลดเปลื้องสโมสรจากสถานะติดลบทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎ Financial Fair Play ของลาลีกาที่ทำให้ไม่สามารถลงทะเบียนนักฟุตบอลใหม่ได้ เพราะก่อนหน้านี้แม้บาร์ซาจะตกลงเซ็นสัญญากับผู้เล่นหน้าใหม่ได้อย่าง แฟรงค์ เคสซี กองกลางทีมชาติสหรัฐอเมริกา หรือ อันเดรียส คริสเตนเซน กองหลังทีมชาติเดนมาร์ก ที่ย้ายมาแบบไม่มีค่าตัวทั้งคู่ แต่ไม่สามารถลงทะเบียนผู้เล่นได้

 

เรื่องนี้ได้นำไปสู่วันประวัติศาสตร์ของบาร์ซาที่มีการขอความเห็นชอบจากเหล่าสมาชิกของสโมสร หรือ Socios ว่าจะยินยอมให้เดินหน้าตามแผนการนี้หรือไม่ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งผลปรากฏว่าเหล่า Socios เห็นชอบที่จะให้ลาปอร์ตาและผู้บริหารเดินหน้าในแผนการนี้ได้

 

สำหรับ ‘คันโยกทางเศรษฐกิจ’ (Economic Lever) แรกที่ลาปอร์ตาดึงคือการขายลิขสิทธิ์จำนวน 10% เป็นเวลา 25 ปีให้แก่ Sixth Street เพื่อแลกกับเงิน 267 ล้านยูโร ซึ่งทำให้ดูเหมือนสถานการณ์ทางการเงินของสโมสรจะดีขึ้น ดังจะเห็นได้จากข่าวการคว้าตัว ราฟินญา จากลีดส์ ยูไนเต็ด, เลวานดอฟสกี จากบาเยิร์น มิวนิก และมีการตกลงสัญญาใหม่กับ อุสมาน เดมเบเล และ เซร์จี โรเบร์โต

 

ไม่นับในรายของ ฌูลส์ กุนเด กองหลังทีมชาติฝรั่งเศสจากเซบียาที่กำลังแย่งตัวกับเชลซีในเวลานี้ แม้ดูเหมือนสถานการณ์ล่าสุดอาจจะเพลี่ยงพล้ำก็ตาม


แต่ในเบื้องลึกแล้วสถานะทางการเงินของบาร์ซายังไม่พ้นวิกฤต ยังไม่ผ่านเกณฑ์ FFP ของลาลีกา ทำให้ทีมยังต้องการเงินลงทุนจากภายนอกเข้ามาเพื่อทำให้สามารถลงทะเบียนผู้เล่นรายใหม่ได้ ซึ่งนำไปสู่การดึงคันโยกที่ 2 ในวันนี้

 

โดยคันโยกที่ 2 ก็คือการขายลิขสิทธิ์เพิ่มเติมให้แก่ Sixth Street อีก 15% ซึ่งคาดว่าจะได้เงินกลับมาที่ราว 400 ล้านยูโร

 

การดึงคันโยกทั้ง 2 ครั้งนี้ทำให้บาร์ซาจะสามารถลบหนี้ที่มีได้ราว 550 ล้านยูโร ซึ่งจะทำให้สโมสรสามารถเข้าเกณฑ์ของลาลีกาที่เรียกว่ากฎ ‘1-1’ ไม่ใช่กฎ ‘1-3’ เหมือนในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งในกฎ 1-1 จะทำให้สโมสรสามารถใช้เงินทุกยูโรที่เข้ามาได้หมด ไม่ต้องถูกจำกัดดังช่วงก่อน – ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้บาร์ซาไม่สามารถต่อสัญญากับ ลิโอเนล เมสซี นักเตะที่ดีที่สุดของสโมสรได้

 

ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการดึงคันโยกที่ 3 ต่อด้วยการขาย BLM ต่อ โดยตามรายงานจาก SPORT สื่อท้องถิ่นมีการเปิดเผยว่า ลาปอร์ตาและเหล่าผู้บริหารได้เริ่มต้นแผนการไปแล้ว ซึ่งหากคันโยกที่ 3 ถูกดึงจริง อาจจะทำให้สโมสรไม่มีความจำเป็นจะต้องขายสตาร์อย่าง แฟรงกี เดอ ยอง ให้กับทีมที่สนใจอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และเชลซีอีกต่อไป

 

อย่างไรก็ดี การดึงคันโยกทั้งหลายนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการกอบกู้และประคับประคองสโมสรให้ยังมีความสามารถในการแข่งขัน เช่นเดียวกับไม่ต้องประสบปัญหาถูก FFP เหนี่ยวรั้ง โดยนอกจากนี้ยังมีการขอรีไฟแนนซ์จากเจ้าหนี้อย่าง Goldman Sachs การขายชื่อสนามคัมป์นูให้กับ Spotify และการเจรจาขอลดค่าเหนื่อยของผู้เล่นจำนวนมาก

 

เรียกได้ว่าทำอะไรได้ก็ต้องทำ ส่วนผลกระทบในอนาคตนั้นยังไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising