ชื่อของ Facebook Group ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน’ เป็นหนึ่งในชื่อที่ผ่านหูผ่านตาหลายครั้งในไทม์ไลน์ ก่อให้เกิดความสงสัยว่าเหตุใดเพื่อนๆ ในโลกโซเชียลมีเดียถึงได้กล่าวถึงชื่อนี้กันอย่างคึกคัก จนได้เข้าไปดูเองถึงพบว่า กลุ่มที่เพิ่งสร้างขึ้นในวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้มีสมาชิกในกลุ่มแล้ว 58,642 คน (ณ ช่วงเวลาที่เขียน) และมีการโพสต์ใหม่ในวันเดียวถึง 2,223 โพสต์
เราไม่รอช้าที่จะติดต่อกับ แซน-ภาวรินทร์ รามัญวงศ์ ผู้ก่อตั้ง Facebook Group ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน’ เพื่อไขข้อข้องใจถึงที่มาที่ไป และคลายข้อสงสัยว่ากลุ่มนี้มีดีอะไรถึงได้คึกคักเบอร์นี้!
แซนเริ่มเล่าให้เราฟังว่า สาเหตุที่ตัดสินใจเปิดกลุ่มนี้ขึ้นมาเพราะรู้สึกว่าง ด้วยแซนเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการมาเยือนแบบไม่ทันตั้งตัวของโควิด-19 ทำให้บริษัททัวร์ที่ทำอยู่ต้องหยุดชั่วคราว รวมไปถึงงานโปรดิวเซอร์อีเวนต์ที่รับเป็นครั้งคราวด้วย เมื่อไม่รู้จะทำอะไร วันๆ จึงนั่งไถ Facebook เล่น และถามตัวเองทุกวันว่า วันนี้จะทำอะไรดี
สิ่งหนึ่งที่เธอเห็นจากการเล่น Facebook ฆ่าเวลา คือเพื่อนหลายคนกำลังเดือดร้อนเพราะโควิด-19 โดยเฉพาะคนที่ทำร้านอาหาร คาเฟ่ต่างๆ ก็ต้องหันมาขายในออนไลน์เพื่อให้ธุรกิจยังเดินต่อไป ขณะเดียวกันก็มีเพื่อนอีกกลุ่มที่กำลังบ่นๆ ใน Facebook ของตัวเองว่าอยากกินโน่นนี่นั่น เลยเป็นไอเดียให้แซนว่า ทำไมไม่นำทั้งสองฝ่ายมาเจอกันเลยจะได้จบๆ ไป
“ด้วยความที่เราเป็นคนมีเพื่อนเยอะ เลยคิดว่าไหนๆ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางแล้วกัน ให้คนซ้ายและขวามาเจอกัน ง่ายดี เพราะฉะนั้นครั้งแรกที่ทำเป็นกลุ่มปิดก็เลยเลือกเชิญเพื่อนที่เรารู้จัก ต่างคณะกันหมดเลย แต่อยู่มหาวิทยาลัยเดียวกันคือธรรมศาสตร์ มารวมกัน เลือกคนที่มีกำลังซื้อกับคนที่มีของขายมารวมกัน เพื่อให้มันเกิดการกระจายรายได้ในกลุ่มคนที่เรารู้จักก่อน แล้วจากนั้นทุกอย่างก็เกิดขึ้นไวมาก”
สำหรับชื่อ ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน’ แซนพูดติดตลกว่า ไม่ได้คิดล่วงหน้าเลย นึกขึ้นได้ก็ตั้งทันที ซึ่งชื่อนี้ก็ดัดแปลงมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ที่ตัวแซนเรียนจบมานั่นเอง
จากคนหลักสิบขยับมาเป็นหลักหมื่น เป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีจำนวนสมาชิกมากขึ้นขนาดนี้ และสินค้าที่มาฝากร้านก็มีตั้งแต่อาหารราคาไม่กี่บาท ไปถึงทองคำ และบ้านหลักล้านก็มี น่าสนใจว่าเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่ถูกหลอก
ดังนั้นก่อนที่จะโพสต์ขายของ คนโพสต์จะต้องระบุว่าตัวเองเป็นใคร เรียนคณะอะไร รุ่นไหน เพื่อยืนยันตัวตนคร่าวๆ ของตัวคนขายเอง หากมีปัญหาขึ้นมาก็สามารถหาข้อมูลเบื้องต้น หรือหาคนที่อยู่ในกลุ่มมายืนยันว่าคนนี้มีตัวตนจริงๆ ใช่ไหม
“ลึกๆ แล้วความเป็นธรรมศาสตร์จะมีสายใยบางๆ ที่รู้ว่าไว้ใจกันได้ เราคิดแบบนั้นจริงๆ นะ กลุ่มนี้ทำให้เกิดการวิน-วินทั้งคนขายและคนซื้อ อุดหนุนใครไม่สบายใจเท่ากับอุดหนุนคนกันเองอีกแล้ว”
แซนยืนยันว่ากลุ่มนี้เปิดรับทุกคนและไม่ได้หวงไอเดียหากใครสนใจจะนำไปทำในมหาวิทยาลัยหรือจังหวัดของตัวเอง แต่อย่างกลุ่ม ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน’ กฎเพียงข้อเดียวที่จะขอคือ อย่าพิมพ์อะไรที่เป็น Negative แม้จะเจอโพสต์ของคนที่ไม่ชอบก็ขอให้ผ่านไปเลย
“เราใช้พลังไปเยอะกับการทำเรื่องที่ทำให้คนอื่นหัวเราะ เราไม่อยากให้เกิดภาพที่ไม่ดีขึ้นในกลุ่ม นั่นไม่ใช่เป้าหมายที่เราจะทำ เราอยากให้เกิดสิ่งดีๆ และความเอื้อเฟื้อแก่กันและกัน”
ตอนนี้นอกจากแซนแล้ว ยังมีเพื่อนๆ คนอื่นอีก 5 คนที่อาสาเข้ามาช่วยดูแลกลุ่ม ซึ่งทุกคนมาด้วยใจ ไม่ได้มีอะไรตอบแทน และตัวแซนเองก็ไม่ได้ตั้ง ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน’ ขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางในการหารายได้ของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม แม้หลังจากนี้หากโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว กลุ่มที่แซนตั้งขึ้นก็จะยังอยู่ต่อไป เมื่อเราถามว่าภาพในอนาคตที่จะได้เห็นคืออะไร แซนตอบว่ายังไม่ได้คิดไปถึงขั้นนั้น สิ่งที่จะทำในทุกวันคือสร้างกราฟแห่งความสุขให้กับคนในกลุ่มให้ไต่เพิ่มขึ้นในทุกวัน
“มีบางคนบอกว่าอยากให้จัดเป็นงานแฟร์เพื่อรวมหลายๆ ร้านที่อยู่ในกลุ่มมาอยู่ที่เดียวกัน ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวที่มีก็ทำได้ ซึ่งถ้าทำจริงก็จะสามารถช่วยเหลือคนที่อยู่ในวงการนี้ได้อีก แต่นั่นก็เป็นเรื่องของอนาคต ใครจะไปรู้วันหนึ่งเราอาจจะจัดในอิมแพ็กเลยก็ได้” แซนกล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า