- ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ที่ประเทศไทยใช้รักษาโควิด-19 มีชื่อการค้าว่า ‘Avigan’ คิดค้นโดยบริษัทโตยามะเคมิคอล บริษัทลูกของฟูจิฟิล์ม ประเทศญี่ปุ่น เดิมใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ และได้รับการขึ้นทะเบียนในญี่ปุ่นเมื่อปี 2557
- ยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสในขั้นตอนของการจำลองสารพันธุกรรม (เหมือนต่อเลโก้ แต่ไวรัสไปหยิบชิ้นส่วนของยามาต่อแทน) โดยยับยั้งเอนไซม์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรส (RNA polymerase) คล้ายยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ที่ใช้ในสหรัฐฯ
- แต่ปัจจุบันโควิด-19 ยังไม่มียาต้านไวรัสที่เฉพาะเจาะจง (ต่างจากโรคไข้หวัดใหญ่/ไวรัสเอชไอวีที่มียาต้านไวรัสเฉพาะ และลงท้ายด้วย -เวียร์ เหมือนกัน)
- ขนาดยาในผู้ใหญ่: วันแรก ครั้งละ 9 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ส่วนวันถัดมาครั้งละ 4 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ผู้ป่วยต้องรับประทานยาอย่างน้อย 5 วัน ดังนั้นผู้ป่วย 1 รายจึงใช้ยาอย่างน้อย 50 เม็ด ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงต้องรับประทานยา 10 วัน (90 เม็ด)
- แนวทางของกรมการแพทย์ ฉบับ 6 พฤษภาคม 2564: แนะนำให้ยาฟาวิพิราเวียร์เร็วที่สุด นาน 5-10 วัน ขึ้นกับอาการตามความเหมาะสม ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือผู้ป่วยที่มีปอดบวม ซึ่งคือผู้ป่วยตั้งแต่ระดับ ‘สีเหลือง’ ขึ้นไป
- วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า มีแนวคิดจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลสนามทุกราย ถึงแม้จะจัดเป็นกลุ่ม ‘สีเขียว’ ก็ตาม โดยอ้างว่าจะทำให้เชื้อไม่ลงปอด
- แต่มีแพทย์หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย ผู้ว่าฯ จึงประชุมหารือกับคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ประธานคณะทำงานสร้างความเข้มแข็งของประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.) ในวันที่ 5 พฤษภาคม ได้ข้อสรุปว่า กทม. จะจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ในผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ‘บางส่วน’ เช่น ผู้ป่วยที่ตรวจพบปริมาณไวรัสในร่างกายสูง (Ct <23) โดยอยู่ภายใต้การเก็บข้อมูลศึกษาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
- วันที่ 6 พฤษภาคม สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ของแพทย์เฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อได้ออกคำชี้แจงเรื่องการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ว่า
- ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการและไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ไม่ได้รับยาต้านไวรัสใดๆ ก็หายเป็นปกติได้
- การศึกษาในญี่ปุ่น ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยได้รับยาทันที เทียบกับรอไป 6 วันแล้วจึงให้ยา ไม่พบผู้ป่วยที่เป็นหนักขึ้นและหายได้ทุกราย
- การให้ยาโดยไม่มีความจำเป็นจะเป็นแรงกดดันให้ ‘เชื้อดื้อยา’ ได้ง่ายขึ้นในอนาคต และอาจเป็นปัญหาในการรักษาตามมา
- ในขณะนี้ควรสงวนยานี้ไว้สำหรับผู้ป่วยที่น่าจะมีประโยชน์สูงสุด ตามแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 (ของกรมการแพทย์)
- หากมีการจัดการที่คล่องตัวเพื่อให้ ‘ผู้ป่วยที่จำเป็น’ ให้ได้ยาตามเวลาที่เหมาะสมก็จะเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
- ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้จัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ 50,000 เม็ด และได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี อีก 50,000 เม็ด รวมเป็น 100,000 เม็ด ซึ่งถ้าสงวนไว้ใช้กับผู้ป่วย ‘สีแดง’ จะได้ประมาณ 1,100 ราย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- Pharmacologic Treatments for Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2764727
- เพจกรุงเทพมหานคร โดยสำนักประชาสัมพันธ์, กรมการแพทย์, สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย