×

มองปรากฏการณ์ ‘ลัทธิพระบิดา’ สะท้อนปัญหาสังคมไทยผ่านสายตานักวิชาการศาสนา

12.05.2022
  • LOADING...
ลัทธิพระบิดา

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าสำนักข่าวทั้งทีวีและออนไลน์ รวมถึงผู้คนในโซเซียลมีเดียจำนวนมาก ต่างกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญกรณีที่หมอปลานำทีมเจ้าหน้าที่เข้าบุกค้นสำนักและบุกจับฤาษีท่านหนึ่งที่เรียกตนเองว่าเป็น ‘พระบิดาของศาสนาทุกศาสนา’ เพราะได้รับการร้องเรียนมาว่าลัทธินี้มีลักษณะพฤติกรรมความเชื่อแปลกๆ 

 

แต่ปัญหาที่ผู้เขียนติดใจมันมีอยู่ว่า ในข่าวจำนวนมากมักจะใช้คำว่า ‘ลัทธิเพี้ยน’ หรือ ‘ลัทธิพิสดาร’ ผู้เขียนรู้สึกมีปัญหากับคำนี้พอสมควร เพราะถ้าเราจะกล่าวถึงคำว่า ‘เพี้ยน’ หรือถามถึงความหมายของคำว่าเพี้ยน ในทางกลับกัน แสดงว่าจะต้องมีสิ่งที่ ‘ปกติ’ หรือ ‘สิ่งที่ไม่เพี้ยน ไม่พิสดาร’ ใช่หรือไม่? 

 

คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วอะไรที่ไม่พิสดารและไม่เพี้ยน? ในทางความเชื่อ ใครเป็นผู้กำหนดความไม่ผิดและไม่เพี้ยนนั้น ใช่หมอปลาจริงๆ หรือ แล้วบทบาทของหมอปลาสะท้อนภาพปัญหาความเชื่อและศาสนาในสังคมไทยอย่างไรบ้าง ผู้เขียนจะอธิบายให้ฟัง

 

ว่าด้วยความเชื่อเกี่ยวกับฤาษี ผีบุญ ที่ยังหลงเหลือ

ผู้เขียนขอเริ่มต้นที่ลัทธิความเชื่อเกี่ยวกับฤาษีก่อน จริงๆ ความเชื่อหรือลัทธินี้อีกมุมมองหนึ่งจะเป็นความเชื่อที่คล้ายๆ กับ ‘ลัทธิตนบุญ’ หรือ ‘ผีบุญ’ ที่เคยรู้จักหรือเคยได้ยินกันมาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ความเชื่อเหล่านี้ยังคงหลงเหลือและปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เพราะเป็นความเชื่อดั้งเดิม อย่างในกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ หรือที่รู้จักกันในชื่อชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ก็ยังคงนับถือฤาษีกันอยู่จนถึงปัจจุบัน และเอาเข้าจริงก็เป็นปกติที่ความเชื่อเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ที่ความมั่นคงในชีวิตของคนในสังคมสั่นคลอน

 

หากย้อนกลับไปมองในประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สมัยใหม่ของสังคมไทยนั้น หรือแม้กระทั่งในสภาวะสงครามอย่างสงครามโลก ที่สภาวะเหล่านี้ทำให้ผู้คนในสังคมต้องหาที่พึ่งพาทางจิตใจ เพื่อเสริมสร้างความหวังในการดำเนินชีวิต ในยุคนั้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือปรากฏกลุ่มผู้ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจรัฐ และถูกกล่าวว่าเป็นกลุ่มกบฏผีบุญเกิดขึ้นมากมาย หรือแม้กระทั่งในภาคเหนือก็มีกรณีพญาปราบหรือกรณีกบฏเงี้ยวเกิดขึ้น

 

หรือในงานศึกษาของ อ.ทานาเบะ นักวิชาการชาวญี่ปุ่น ที่ศึกษาศาสนาและความเชื่อในสังคมไทยคนสำคัญคนหนึ่ง ก็ได้ศึกษา ‘ลัทธินุ่งเหลืองห่มดำ’ ที่เรียกตนเองว่า ‘พระพ่อปัน’ ที่เกิดขึ้นในช่วงการเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีความพยายามจะสถาปนาสิ่งที่เรียกว่าชุมชนศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาเพื่อต่อรองกับอำนาจรัฐ เนื่องจากรัฐพยายามจะขยายอำนาจเข้าไปในพื้นที่ชุมชนหรือไปทำลายผลประโยชน์บางอย่างของชาวบ้านหรือชุมชนในพื้นที่นั้นๆ

 

ว่าด้วยคำว่า ‘เพี้ยน’ ผ่านมุมมองความเชื่อของรัฐ 

กลับมาที่คำว่าเพี้ยน คำถามก็คือ ถ้าเป็นเช่นนี้ลัทธินุ่งเหลืองห่มดำเพี้ยนหรือไม่ คำตอบก็คือไม่เพี้ยนในความเชื่อของชาวบ้าน แต่กลับเพี้ยนในมุมมองความเชื่อของรัฐ หากกล่าวเช่นนี้หมายความว่า ความเชื่อเป็นสิ่งที่ไม่มีคำว่าเพี้ยน หากเราไม่มีมาตรฐานความเชื่อที่เป็นแบบอย่างหรือต้นแบบที่เราอยากให้เป็น

 

กรณีคำว่าเพี้ยนส่งผลต่อการเกิดกรณีข้อพิพาทระหว่างครูบาศรีวิชัยกับรัฐไทยด้วย จากเอกสารที่ศึกษาประวัติครูบาศรีวิชัยในช่วงที่มีข้อพิพาทกับรัฐไทย จะเห็นว่ามีเอกสารจากสมเด็จพระสังฆราชในสมัยนั้นระบุอย่างชัดเจนว่า ครูบาศรีวิชัยไม่ได้ผิด เพียงแค่มีวัตรปฏิบัติที่เข้าใจผิด หรือก็ในทำนองความหมายเดียวกับคำว่าเพี้ยน ครูบาศรีวิชัยเลยถูกกักตัวอยู่กรุงเทพฯ หรือพูดง่ายๆ เป็นภาษาปัจจุบันก็คือ ถูกปรับทัศนคติใหม่ให้เข้าใจว่าสิ่งที่สมเด็จพระสังฆราชมองว่า ‘ถูกต้องจริงๆ’ นั้นคืออะไร เป็นเวลากว่าหนึ่งปี

 

ซึ่งความถูกต้องจริงๆ ในความหมายของสมเด็จพระสังฆราชที่กล่าวถึงครูบาศรีวิชัยนั้นหมายถึง ความถูกต้องที่รัฐไทยได้สถาปนาอำนาจเหนือความเชื่อทางศาสนาอื่นๆ ที่หลากหลาย ในพื้นที่เขตแดนที่เรียกว่าประเทศไทยหรือสยาม ณ ตอนนั้น

 

มองลัทธิพระบิดาผ่านความเพี้ยนและความเชื่อ

กลับมาสู่ลัทธิพระบิดา เอาเข้าจริงแล้วผู้เขียนคิดว่าหากมองในแง่ของความเชื่อ ลัทธิพระบิดาอาจดูเหมือนเพี้ยน แต่ไม่ได้ผิดอะไรเลยในแง่ของความเชื่อ เพราะฉะนั้นเป็นสิทธิเสรีภาพทางความเชื่อของคน ทั้งเจ้าลัทธิและสาวก หรือผู้นับถือศรัทธา เอาเข้าจริงหากพูดแบบสุดๆ หากเขาหรือใครจะกินขี้แล้วมองว่าเป็นยา สิ่งเหล่านั้นก็เป็นสิทธิและเสรีภาพในทางความเชื่อของตนเองหรือของเขา

 

หากจะกล่าวถึงความผิดก็ควรจะเป็นความผิดในแง่ที่ความเชื่อของลัทธิบางอย่างไปมีผลหรือมีความผิดในแง่ของกฎหมายทางโลก เช่นเดียวกับลัทธิฆ่าตัวตายในประเทศญี่ปุ่น ที่ไม่เพียงแค่ประกาศให้สาวกตัวเองฆ่าตัวตาเพราะเชื่อว่าจะได้อยู่ในภพภูมิที่ดี แต่กลายเป็นว่าเจ้าลัทธิและเหล่าสาวกลัทธินี้กลับพยายามฆ่าคนอื่นด้วย ด้วยการรมแก๊สพิษในรถไฟฟ้า ถ้าเป็นเช่นนี้อันนี้เรียกว่าผิด เพราะได้กระทำความผิดในทางโลกที่ไม่ได้เกี่ยวกับแค่ความเชื่อของตนเอง แต่ผลกระทบต่อชีวิตของผู้อื่น

 

หากจะกล่าวถึงเรื่องการกินสิ่งปฏิกูลหรืออะไรก็ตาม แล้วคิดหรือเชื่อว่าสิ่งคือยารักษาตามความเชื่อของลัทธิพระบิดา สิ่งที่เราหรือแม้กระทั่งตัวหมอปลาเองพึงกระทำได้มากที่สุดคือ การเตือนเขาเหล่านั้นด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ส่วนเขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อนั้นเป็นสิทธิและเสรีภาพของเขา หมอปลาหรือใครก็ตาม แม้กระทั่งอำนาจรัฐเอง ไม่ควรแม้กระทั่งที่จะนำกองกำลังหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ไปปิด ไปจับเขา เพียงเพราะความเชื่อของเขาแตกต่างจากความเชื่อของเรา (เว้นแต่มีเรื่องผิดกฎหมายดังที่กล่าวไปข้างต้น)

 

หากจะกลับมาที่กรณีของหมอชื่อดัง จะเห็นได้ว่าหลายคนเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ว่าเริ่มจะใช้กรอบของความถูกต้องบางประการของตนเองที่มีอยู่แล้วไปไล่ชี้หรือตรวจสอบคนอื่น ว่าสิ่งที่คนอื่นเขาเชื่อนั้นผิด เพี้ยน ไม่ถูกต้อง เพื่อที่จะสถาปนาสิ่งที่ตัวเองเชื่อ สิ่งที่ตัวเองเข้าใจ สิ่งที่ตัวเองรับรู้ ว่านั่นคือความถูกต้องและดีงามเหนือกว่าความเชื่อของคนอื่นๆ อันนี้คือปัญหาสำคัญในแง่ของบทบาท ที่อาจไม่ต่างจากอำนาจรัฐที่พยายามไล่กดปราบความเชื่ออื่นๆ ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์หรือแม้แต่ในปัจจุบันเลย

 

ว่าด้วยลัทธิพระบิดากับภาพสะท้อนสังคมไทย

กลับมาสู่ลัทธิพระบิดา คำถามคือ ลัทธิเหล่านี้หรือความเชื่อนี้เกิดขึ้นและฟังก์ชันกับคนหรือทำให้คนเชื่อถือศรัทธาได้อย่างไร 

 

คำตอบง่ายๆ ก็คือ เพราะสังคมไทยทุกวันนี้หรือแม้กระทั่งการบริหารงานของรัฐอาจไม่สามารถที่จะสร้างความเชื่อมั่น ความหวัง หรือความมั่นคงในชีวิตให้กับประชาชนได้ หลายคนถึงบอกว่า ‘วอนหลวงพ่อรวย’ อาจจะรวยกว่าวอนผู้มีอำนาจเสียอีก 

 

เมื่อรัฐหรือสังคมไม่สามารถสร้างความมั่นคง ความหวัง และอนาคตให้กับประชาชนได้ สิ่งที่จะมาตอบสนองหรือมาสร้างความหวังหรืออนาคตให้กับประชาชนได้ก็คือ ‘ความเชื่อและลัทธิพิธีต่างๆ’ ที่มันเกิดขึ้น อย่างกรณีของลัทธิพระบิดาก็เช่นกัน เราจะเห็นว่าสาวกหลายคนของลัทธิพระบิดาก็เชื่อว่า มีบางสิ่งบางอย่างที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์มากพอที่จะสามารถเยียวยาหรือสร้างความรู้สึกมั่นคงให้กับจิตใจของผู้คนเหล่านั้นได้ เราจึงเห็นในข่าวว่ามีกลุ่มลูกศิษย์หรือสาวกคอยไล่ด่าหรือตำหนิหมอปลาอยู่ตลอดเวลาว่าทำไมถึงทำกับเขาเช่นนี้ และถามว่าสิ่งที่เขาเชื่อมันผิดอะไร

 

หากให้กล่าวสรุปอย่างสั้นๆ ผู้เขียนมองว่าประเด็นสำคัญเลยก็คือ การเกิดขึ้นของลัทธิพระบิดา 

 

ประการแรกคือ เกิดขึ้นจากความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับตนบุญหรือผีบุญที่เชื่อว่าจะสามารถสร้างอนาคตที่ดีให้กับคนได้ ประการต่อมาคือ สังคมที่เป็นอยู่ รัฐบาลที่มีอยู่ ไม่สามารถหรือไม่มีความสามารถใดๆ เลยในการสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับประชาชน จนทำให้ประชาชนจะต้องไปหาที่พึ่งทางความหวังในรูปแบบความเชื่อ 

 

และสุดท้าย สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะกล่าวมากที่สุดคือ ความเชื่อไม่ใช่เรื่องที่ผิด ความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งจะผิด จะเพี้ยน หรือจะพิสดารได้นั้น หมายความว่าคุณกำลังเอาความถูกต้องในแบบที่คุณเข้าใจ ในแบบที่คุณคิด ในแบบที่คุณถูกปลูกฝัง เข้าไปกำหนดความเชื่อของคนอื่นว่าความเชื่อของเขานั้นผิด อันนี้คือสิ่งที่อันตรายและไม่เป็นไปตามหลักการสิทธิและเสรีภาพทางศาสนา ซึ่งอยู่ภายใต้หลักการเดียวกับหลักการสิทธิและเสรีภาพทางประชาธิปไตย 

 

ดังนั้นเรื่องของความเชื่อ ใครจะเชื่อหรือใครจะไม่เชื่อ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสิทธิและเป็นเสรีภาพของเขา เราไม่มีอำนาจและไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะนำกองกำลังหรืออำนาจศาลเตี้ยเข้ากำจัดหรือกำหนดกฎเกณฑ์ความเชื่อคนอื่นๆ เพราะความเชื่อนั้นไม่ได้มีเพียงแค่หนึ่งเดียว แต่ความเชื่อนั้นมีความหลากหลาย เราควรเคารพซึ่งความเชื่ออันหลากหลายของกันและกัน 

 

อ้างอิง: 

  • ชิเกฮารุ ทานาเบ, นุ่งเหลือง นุ่งดำ ตำนานของผู้นำชาวนาแห่งล้านนาไทย, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, 2529.
  • โสภา ชานะมูล,  ครูบาศรีวิชัย ตนบุญ แห่งล้านนา (พ.ศ 2421-2481), วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2535.
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising