×

สัมภาษณ์ฉบับเต็มของ ‘ฟอร์ด-กุลวิทย์ เลาสุขศรี’ กับชีวิตที่เกิดมาเพื่อขับเคลื่อนวงการแฟชั่นไทยอย่างไม่รู้จบ

19.09.2020
  • LOADING...

แม้ประเทศไทยจะยังถูกมองว่าเป็นประเทศโลกที่สามและกำลังพัฒนา แต่หากมองในบริบทของอุตสาหกรรมแฟชั่น เราได้ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วจนหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกันก็สู้ไม่ได้

 

เราได้เห็นดาราคนดัง ไม่ว่าจะเป็น ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์ หรือ ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่ ถูกรับเลือกให้เป็น Friend of the Brand ของแบรนด์ระดับโลกอย่าง Louis Vuitton และ Gucci 

 

เราได้เห็นประเทศไทยมีแฟชั่นวีกเป็นของตัวเองอย่าง Elle Fashion Week ตั้งแต่ปี 1999 ซึ่งช่วยแจ้งเกิดหลายแบรนด์จนนับไม่ถ้วน และมาวันนี้สามารถขยายกิจการไปวางขายทั่วโลก

 

และนอกเหนือจากแบรนด์ลักชัวรีไฮเอนด์ราคาหลักแสน เราก็ยังได้เห็นผลผลิตสินค้าแฟชั่นจากภูมิปัญญาท้องถิ่นทั่วประเทศที่ช่วยสร้างรายได้และสืบทอดวัฒนธรรมงานฝีมือของคนไทยได้อย่างสง่างาม 

 

แต่ทั้งหมดนี้คงจะไม่เกิดขึ้นในประเทศ หากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องของผู้ชายที่ชื่อ ฟอร์ด-กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารของนิตยสาร Vogue ประเทศไทย และ 1 ใน 500 ผู้ทรงอิทธิพลสุดของอุตสาหกรรมแฟชั่นจากการจัดอันดับของเว็บไซต์ Business of Fashion ซึ่งมาในปีที่ 23 ของการทำงานในแวดวงนิตยสารแฟชั่น แม้เขาจะเจอความท้าทายมากมายเพราะคนหันไปบริโภคสื่อออนไลน์เสียส่วนใหญ่ แต่ ฟอร์ด กุลวิทย์ ก็ยังคงแสดงศักยภาพอย่างเต็มเปี่ยมและเดินหน้าต่อไปอย่างแข็งแรง

 

ล่าสุดสำหรับซีรีส์แฟชั่นใหม่ของ THE STANDARD POP ชื่อ FASHION UNFOLD เราได้เลือก ฟอร์ด-กุลวิทย์ เลาสุขศรี มาเป็นคนแรกที่อยากพูดคุยด้วย เพราะเชื่อว่าเขาคือตัวแปรสำคัญที่สามารถสะท้อนการเปลี่ยนแปลงมากมายของวงการแฟชั่นไทยในทุกภาคส่วน และมาพร้อมทัศนคติที่หลายคนสามารถนำไปปรับใช้ได้ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมอะไรก็ตาม

 

 

รู้สึกอย่างไรตอนคนเรียกเราว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลสุดของวงการแฟชั่นไทย

มันเป็นความคิดของคนอื่น ถ้าเขาพูดว่าเราสำคัญที่สุด ก็แสดงว่าเราคงทำหน้าที่ของเราประสบความสำเร็จ หรือว่าเราทำบางสิ่งบางอย่างสำเร็จ ทำให้คนยกย่องเราถึงขนาดนั้น แต่พี่ก็ไม่สามารถที่จะไปบังคับความคิดของคนอื่นได้ 

 

อยากให้พี่ฟอร์ดเล่าถึงวงการแฟชั่นไทยในยุคก่อนที่โซเชียลมีเดียจะเข้ามา Disrupt วงการ

พี่ฟอร์ดกลับมาเมืองไทยและได้ทำงานแฟชั่นจริงๆ จังๆ กับนิตยสารในปี 1997 เริ่มต้นจากการที่ไปรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการแฟชั่นกับนิตยสาร Elle ซึ่งตอนนั้นวงการแฟชั่นค่อนข้างอยู่ในช่วงเวลาที่พลิกการทำธุรกิจแฟชั่นในเมืองไทย ถือว่าเป็นยุคทองวงการแฟชั่นในประเทศไทยก็ว่าได้ เม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่ในธุรกิจแฟชั่นไทยตอนนั้นเยอะมาก เนื่องจากหลายแบรนด์เริ่มใช้เงินทำมาร์เก็ตติ้งเองในประเทศไทย จากประเทศที่ผลิตสินค้าแฟชั่นอย่างเดียว กลายเป็นประเทศที่เขามาใช้เงินในการทำการตลาด เลยมีเงินหมุนเวียนอยู่ในธุรกิจนี้เยอะมาก 

 

 

การเป็นบรรณาธิการในยุคนี้มีความยากง่ายอย่างไร

ช่วงที่ธุรกิจแฟชั่นถูกปรับเปลี่ยนเพราะโซเชียลมีเดีย เราก็หวั่นใจพอสมควร เพราะเอาเข้าจริงเป็นคนยุคเก่า เริ่มต้นจากการทำนิตยสาร กลิ่นของกระดาษ สีต่างๆ เราเกิดมาจากตรงนั้น แต่พอมาถึงยุคนี้ กับการทำนิตยสาร สิ่งสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรบรรณาธิการถึงจะยังพูดภาษาเดียวกันกับคนอ่าน ทำอย่างไรถึงจะไม่แก่ตามไปกับคนอ่านของเรา เพราะสิ่งที่กลัวมากที่สุดคือกลัวว่าตัวเองจะไม่เข้าถึงคนอ่าน สิ่งที่มันเกิดขึ้นเมื่อ 8-9 ปีที่แล้ว ที่กำลังเปลี่ยนถ่ายจากหน้านิตยสารอย่างเดียวมาเป็นระบบดิจิทัล ตอนที่ดิจิทัลเข้ามามีส่วนขับเคลื่อนแฟชั่นในไทย ตอนแรกๆ รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งใหม่ที่ต้องเรียนรู้ แต่โชคดีที่ชอบเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา 

 

พี่ฟอร์ดได้มีเวลาทำใจกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ไหม

ไม่มีเวลาทำใจ ถ้าเรามีเวลามานั่งทำใจคือเราอยู่ท้ายแถวแล้ว เราต้องวิ่งไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่สามารถวิ่งไปคนเดียวได้ การทำนิตยสารพี่ฟอร์ดไม่เทกเครดิตคนเดียว มันเห็นแก่ตัว มันคือทีมงาน เราคนเดียวไม่สามารถสร้างนิตยสารเล่มหนึ่งขึ้นมาได้ มันมีพนักงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการทำนิตยสารเล่มหนึ่ง ต้องเครดิตทีมงานทุกครั้งเวลามีคนบอกว่าเล่มนี้ดีหรือรูปเล่มอันนี้สวย บทความดี เป็นเครดิตทีมงานทั้งสิ้น เราต้องจับมือทีมงานทุกคนวิ่งไปพร้อมกัน และที่สำคัญทีมงานทั้งหมดต้องวิ่งไปในเพซที่เท่าๆ กับเรา ถ้าเขาวิ่งไม่ทันเรา เขาก็ต้องตกรุ่น

 

พี่ฟอร์ดกลัวเรื่องอนาคตไหม เพราะบทบาทของนิตยสารแฟชั่นก็ถูกท้าทายตลอดเวลา

จนวันนี้ก็ไม่กลัว ไม่เคยกลัวอะไรเลย เพราะปัญหามีไว้แก้ ใช้คำนี้กับทุกๆ คนอยู่ตลอดเวลา เราต้องลับสมองอยู่ตลอดเวลา เราไม่สามารถอยู่บนหิ้งได้ตลอดเวลา ถ้าหยุดเดิน หยุดคิด หยุดเรียนรู้เมื่อไร ด้วยสปีดของดิจิทัล เราไม่ทันเขาแน่

 

 

อยากให้พี่ฟอร์ดเล่าถึงโมเมนต์แรกที่รู้ว่าจะมาเป็นบรรณาธิการ Vogue 

พี่ไม่ได้ผ่านการสัมภาษณ์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่มารู้ทีหลังว่ามีการว่าจ้างบริษัทให้มาทำ Market Research ในเมืองไทย เข้าใจว่าการที่บริษัทนั้นไปพูดคุยกับแบรนด์ต่างๆ ที่มีออฟฟิศอยู่ในเมืองไทย ชื่อพี่ฟอร์ดจะเป็นชื่อแรกที่เขาพูดถึงทุกครั้ง ทาง Conde Nast เขาก็เลยติดต่อมาว่าสนใจไหม จุดเริ่มต้นของการทาบทามมาเป็นบรรณาธิการนิตยสารนี้มีเท่านั้นเอง ง่ายมาก

 

พี่ฟอร์ดรู้สึกอย่างไรตอนรู้ว่าเป็นบรรณาธิการบริหารผู้ชายคนแรกของ Vogue

มันไม่ใช่บรรณาธิการผู้ชายคนแรก เป็นสิ่งที่ทุกคนพูดถึงอยู่ตลอดเวลา มันผิดและขี้เกียจแก้ มีบรรณาธิการผู้ชายก่อนหน้าพี่ฟอร์ด มีบ้าง แต่ไม่ได้มีมากเหมือนตอนนี้ 

 

พี่ฟอร์ดมองว่าตัวเองเป็นหัวหน้าแบบไหน

ต้องถามคนอื่น แต่จำได้ว่าตอนที่เราอยู่นิตยสารเก่า บอกเลยว่าเราจะไปเปิดนิตยสารเล่มใหม่ นิตยสารนั้นคือ Vogue มีใครอยากไปกับเราบ้าง เขามากับเราหมดเลยนะ ไม่รู้ว่ามาเพราะมันเป็น Vogue หรือเพราะพี่ฟอร์ดเป็นแม่ทัพ 

 

 

 

ทุกวันนี้ยังมีความเข้าใจว่าวงการแฟชั่นฟุ่มเฟือย ทำไมคนยังคิดแบบนี้อยู่

ในความจริงแล้วถ้าเราวัดกันด้วยเม็ดเงินจริงๆ ที่หมุนเวียนอยู่ในวงการแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศ ดีไซเนอร์ไทย หรือการส่งออกธุรกิจแฟชั่น มันมหาศาลมาก แต่ก็ไม่สามารถไปหยุดให้คนอื่นคิดได้ หรือเขาอาจจะประสบกับอะไรบางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่ามันตื้น

 

ตอนพี่ฟอร์ดเห็นหน้าแผงหนังสือทุกวันนี้ พี่รู้สึกอย่างไร

ก็ใจหายนะ นิตยสารบางหัวที่เคยใช้เป็นแรงบันดาลใจในวัยเด็ก หรือที่เราเห็นแล้วเราอยากไปทำงานด้วยตอนนี้ไม่มีอยู่แล้ว เราก็ต้องมาดูจากข้อผิดพลาดต่างๆ แล้วนำมาแก้ไข มาทำเป็นนโยบายในการทำนิตยสารของเราให้ดีที่สุด 

 

2-3 ปีที่ผ่านมา หลายคนชอบพูดว่า ‘สื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย’ เราได้ยินประโยคนี้แล้วรู้สึกอย่างไร

เราต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่เขาพูดก่อน คนที่พูดเขาอาจไม่เข้าใจหน้าที่ของการทำนิตยสาร เพราะมันได้เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยเข้าวงการใหม่ๆ เราไม่ได้มีหน้าที่เพื่อทำนิตยสารเป็นฉบับๆ อย่างเดียว เรากลับกลายเป็นบริษัท เป็นหัวหนังสือที่เป็น Content Provider 

 

Vogue มีทั้งพรินต์และในส่วนของดิจิทัล เรามีบทความหลากหลายที่เสิร์ฟให้กับคนอ่านหรือคนที่เสพแฟชั่นที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงทุกวัน มันไม่ได้แปลว่าพรินต์จะต้องตายหายไปในทุกวัน ตราบใดที่ Vogue ยังเข้าถึงคนอ่าน เราก็สามารถทำตัวเป็นหนึ่งในอินฟลูเอนเซอร์ให้กับผู้อ่านได้ เราคงจะอยู่ตรงนี้ได้อีกนาน 

 

เรามีดิจิทัลที่เป็นช่องทางหาเงิน เราทำแม้กระทั่งจัดงาน เชิญแขก งานเปิดร้านต่างๆ เป็นช่องทางการหาเงินหมด มันคืออะไรก็ได้ที่สามารถเสิร์ฟให้กับคนที่เสพแฟชั่นต้องการในช่องทางใดช่องทางหนึ่ง 

 

แต่พี่ฟอร์ดคิดเห็นอย่างไรที่นิตยสารแฟชั่นหลายหัวเริ่มกลายเป็นเครื่องมือการตลาดที่หลายแบรนด์ซื้อพื้นที่ ไม่ว่าจะหน้าปกหรือเนื้อหาข้างในเล่ม

คำที่สำคัญที่สุดที่พูดอยู่ตลอดเวลาคือ Editorial Integrity คำนี้สำคัญมากในการทำนิตยสาร เราไม่ได้เป็นเครื่องมือของใครคนใดคนหนึ่ง แน่นอนเรากำลังทำธุรกิจอยู่ คนที่ใช้เงินกับเรามากที่สุดย่อมมีพื้นที่ในนิตยสารเรามากที่สุด แต่เราไม่ได้ตกเป็นเครื่องมือของแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง คำว่า Editorial Integrity สำหรับพี่ฟอร์ดเลยเป็นคำที่สำคัญมาก เราต้องมีจุดยืน เราต้องทน เราจะไม่สามารถจะไปเปรียบเทียบกับนิตยสารเล่มอื่นได้ เช่น ถ้าแบรนด์หนึ่งมาบอกว่าอีกเล่มให้ตั้ง 6 หน้า ซึ่งสิ่งนี้เป็นการดูถูกเรา เพราะสิ่งที่จะอยู่ใน Vogue ได้ย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด 

 

 

ในเรื่องการแข่งขัน พี่ฟอร์ดทำอย่างไรให้ Vogue ยังคงเป็นผู้นำอยู่

พี่ฟอร์ดชอบการแข่งขันมาก เพราะมันไม่ได้แข่งกับคนอื่น เราแข่งกับตัวเองอยู่ แข่งกับมันสมองของเราตลอดเวลา ชอบมากถ้ามีใครมาท้า มันต้องการเอาชนะคู่ต่อสู้ให้ได้ ไม่ใช่ว่าเราต้องบ้าพลังอย่างเดียว มันต้องมาด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ลำดับความคิด บนหัวพี่ฟอร์ดมีแต่กลยุทธ์ในการทำอย่างไรให้ Vogue มีความพรีเมียมมากที่สุด เป็นตัวเลือกแรกของทุกๆ คน 

 

อยากบอกอะไรกับเล่มอื่นๆ ไหม เพื่อที่เขาจะตามเราทัน 

เขาต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง สิ่งที่พี่ฟอร์ดได้มามันไม่ใช่โลกที่สวยงาม ในสายตาคนอื่นมันคือโลกที่ใหญ่เกินจริง เอาจริงๆ แล้วมันคืองาน พี่ฟอร์ดเป็นคนทำงาน กลับบ้านไปก็เป็นพี่ฟอร์ดคนเดิม เมื่อเราทำงาน ไปงานในฐานะบรรณาธิการ เราก็ต้องทำหน้าที่นั้นให้สมบูรณ์แบบที่สุด 

 

พี่ฟอร์ดคิดว่าคนอื่นมองเราเป็นคนแบบไหน 

คนอาจจะมองว่าเป็นคนดุดัน เกรี้ยวกราด บ้าพลัง มีอิทธิพล จริงๆ แล้วเราเป็นคนธรรมดา พี่ฟอร์ดเดลิเวอร์หน้าที่ของบรรณาธิการนิตยสารให้สมบูรณ์แบบแค่นั้นพอ

 

 

เคยมีโมเมนต์ไหนที่ทำให้เรารู้สึกว่าพอแล้วกับการทำงานตรงนี้

ไม่เคยมีเลย พี่มีแพสชันกับสิ่งที่ทำมาก จนวันนี้ขับรถมาทำงานก็ยังมีความสุขอยู่ เป็นคนโชคดีที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ได้เข้ามาอยู่ในวงการที่ตัวเองบูชา 

 

แล้วแยกความเป็น ฟอร์ด บรรณาธิการ Vogue กับ ฟอร์ดคนธรรมดาทั่วไปอย่างไร

สิ่งสำคัญของการที่คนได้อำนาจมาสักอย่างหนึ่งคือเราจะต้องใช้มันให้ถูกต้อง นั่นคือกฎข้อแรกในการทำงานของพี่ฟอร์ด ตราบใดที่เราอยู่บนบรรทัดฐานของความน่าเชื่อถือ ความยุติธรรม คำพูดของเราก็จะมีน้ำหนัก 

 

ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปต่างประเทศ การไปงานที่มีพีอาร์ของแบรนด์คอยดูแลเรา สิ่งนั้นเขายื่นมาให้เราหมดเลย เราต่างหากที่ต้องแยกแยะให้ถูกว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเราเป็นบรรณาธิการ 

 

สิ่งเกินจริงเหล่านี้หลายๆ อย่างเราก็ต้องแยกแยะให้ถูกว่ากลับไปบ้านแล้วพี่ฟอร์ตต้องอยู่กับครอบครัว ครอบครัวทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นคนธรรมดา ถ้าเราหลงระเริงไปกับสิ่งที่ถูกหยิบยื่นให้ตลอดเวลา มันก็จะทำให้เราหายนะ

 

คิดว่าครอบครัวรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการงานของเรา

เขาไม่มายุ่ง พี่ฟอร์ดอายุเท่านี้แล้ว กลับไปถึงบ้านพี่สาวยังดุอยู่เลย ฟอร์ดทำไมไม่ทำโน่นนี่ เหมือนเขาดุน้องอยู่ สำหรับพี่ฟอร์ดแล้วก็ยังเป็นน้องเล็กของพี่สาวทั้งสองคน พอเราอยู่ตรงนั้นเขาไม่เคยมายุ่งเลย เขาให้กำลังใจอยู่ตลอดเวลา 

 

คุณแม่ได้เห็นเราในบทบาทของการเป็นบรรณาธิการไหม

เห็น เขาก็มองดูอยู่

 

คิดว่าเขาจะพูดอะไรกับเราถ้าเขายังอยู่

เขาพูดไปหมดแล้ว พี่ฟอร์ดสนิทกับคุณแม่มาก มีพี่น้อง 5 คน ทุกคนแต่งงานมีครอบครัว มีเราคนเดียวที่สนิทมากเลย ครอบครัวค่อนข้างใจกว้าง จำได้เลยวันที่เดินไปหาคุณแม่แล้วบอกว่าจะเรียนแฟชั่นดีไซน์ ไม่เรียนธุรกิจ ทุกคนไม่เคยมีใครขัดขวางเลย อาจจะประสบปัญหาคุณพ่อเสียด้วยโรคหัวใจล้มเหลวฉับพลัน ทำให้ธุรกิจในบ้านที่มีอยู่หลายๆ อย่างต้องการผู้สืบทอด ซึ่งเราก็เป็นลูกชายคนที่สอง มีหน้าที่ต้องทำสิ่งที่คุณพ่อพูดเอาไว้ พี่ฟอร์ดก็มีความคิดอยู่ตลอดเวลาว่าถ้าเราเลือกเรียนแฟชั่นดีไซน์ เราจะกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวไหม ในที่สุดคุณแม่ก็ไม่เคยกีดกันเลย ส่งเสริมตลอด เราทำได้จนทุกวันนี้เขาคงเห็นแหละ

 

เราโชคดี อย่างแรกคือครอบครัวค่อนข้างซัพพอร์ตได้ดี ให้ทุกอย่าง อย่างที่สองคือพี่ฟอร์ดเข้ามาในวงการแฟชั่นถูกที่ ถูกเวลา ในปี 1997 ปีที่ธุรกิจแฟชั่นเริ่มรวมตัวกัน เข้ามายุคนั้นพอดี สิ่งที่สามคือมีทีมงานที่ดีมาตลอด จนวันนี้ยังขอบคุณทีมงานเลยว่าเขาเป็นคนที่ต่อสู้มากับเรา พี่ฟอร์ดไม่ใช่คนง่ายๆ ในการทำงาน แต่ทีมงานสามารถฝ่าฟันต่อสู้มากับเราได้ตั้งแต่วันแรกจนวันนี้

 

 

อยากฝากอะไรถึงเด็กรุ่นใหม่

ต้องตามฝัน อย่าหยุดนิ่ง อย่าหยุดเรียนรู้หรือคิดว่าตัวเองดีที่สุดแล้ว เมื่อตัวเองถึงขีดที่ดีที่สุดแล้ว มันไม่ได้ดีที่สุดสำหรับเราเสมอไป เราทำให้ดีกว่านั้นได้อยู่ตลอดเวลา

 

ในโลกคู่ขนาน ถ้าไม่ได้ทำแฟชั่น คิดว่าจะทำอะไร

ก็จะทำทุกสิ่งอย่างให้มาอยู่ในวงการแฟชั่นให้ได้ เพราะรักมันเหลือเกิน

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising