ความสัมพันธ์อันยาวนานถึง 16 ปีของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ และ Catherine Walker หนึ่งในแบรนด์เสื้อผ้าที่พระองค์โปรดปรานมากที่สุด เริ่มต้นจากสำนักพระราชวังต้องการหาแบรนด์เสื้อผ้าเพื่อออกแบบฉลองพระองค์ให้กับเจ้าหญิงไดอานาในวันประสูติพระโอรสพระองค์แรก
“นี่คือจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อันยาวนานและมิตรภาพที่แนบแน่น ซึ่งในครั้งนั้นฉันรู้สึกอึดอัดใจมากที่ต้องออกแบบฉลองพระองค์ให้กับพระองค์ ตอนแรกฉันคิดเสมอว่าดีไซเนอร์สัญชาติฝรั่งเศสที่สร้างแบรนด์ของตัวเองจนโด่งดังในประเทศอังกฤษ จะต้องออกแบบชุดอย่างไรเพื่อให้เจ้าหญิงแห่งเวลส์โปรดปรานมากที่สุด แต่เปล่าเลย ความเรียบง่ายและรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ คือสิ่งที่พระองค์ปรารถนา มันคือความคลาสสิกที่ควรคู่กับพระองค์จริงๆ” แคเธอรีน ดีไซเนอร์สัญชาติฝรั่งเศสกล่าวเอาไว้ในหนังสือ The Private Couturier To Diana ในปี 1998
ช่วงกลางปี 1980 แจ็กเก็ตและชุดราตรีของ Catherine Walker หลายชุดได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในตู้ฉลองพระองค์ของเจ้าหญิงไดอานา เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงมองหาดีไซเนอร์ที่รู้พระทัย และรู้จักการรังสรรค์ชุดที่เหมาะกับสิ่งที่พระองค์ทรงปรารถนา ซึ่งแคเธอรีนเองได้พยายามดีไซน์ชุดที่หลากหลายจากการดึงเสน่ห์ของเจ้าหญิงไดอานามาปรับใช้ในหลากหลายวาระ เช่น รอยยิ้มจริงใจที่ใครๆ ต่างพบเห็นขณะที่พระองค์อยู่ต่อหน้าสาธารณชน ท่วงท่าที่สง่างาม เหนือสิ่งอื่นใดคือแววตาที่ดูเป็นมิตร สิ่งเหล่านี้ยิ่งผลักดันให้ชุดของ Catherine Walker ดูโดดเด่นขึ้นอีกเท่าตัว
นอกจากนี้แล้ว ในการออกแบบฉลองพระองค์ให้กับเจ้าหญิงไดอานา แบรนด์ Catherine Walker ยังต้องทำการบ้านในการรังสรรค์ฉลองพระองค์สำหรับพระกรณียกิจต่างๆ ที่พระองค์ทรงปฏิบัติหรือเสด็จฯ เยือน ซึ่งนับว่าเป็นการออกแบบที่ใส่ใจในรายละเอียดแทบทั้งสิ้น
หนึ่งในฉลองพระองค์ของ Catherine Walker ที่สร้างความแปลกตาและถือว่าเป็นภาพระดับไอคอนิกของพระองค์ คือเมื่อครั้งที่เสด็จฯ เยือนประเทศคูเวต ในปี 1989 ในครั้งนั้นแบรนด์ได้ออกแบบชุดเดรสสีชมพูและแดงผสมผสานกัน โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการใช้สีในการแต่งกายของชาวเบดูอิน (Bedouin) ที่มักอาศัยอยู่ตามทะเลทราย โดยเพิ่มกระดุมทองที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสีของทะเลทรายยามแสงอาทิตย์ตกกระทบจนเกิดความแวววับ ซึ่งสร้างความแปลกตาและประทับใจต่อผู้ที่พบเห็น และถือว่าเป็นการให้เกียรติประเทศที่พระองค์เสด็จฯ เยือน
นอกจากนั้น ดีไซเนอร์ได้สร้างซิลูเอตของฉลองพระองค์ที่พระองค์สวมใส่ให้แยบยลและสะดวกสบายขณะเคลื่อนไหวมากขึ้น จากปัญหาเมื่อครั้งที่พระองค์เริ่มต้นเสด็จฯ เยือนต่างประเทศครั้งแรกในปี 1986 กระแสลมที่แรงขณะพระองค์เสด็จฯ ถึงท่าอากาศยาน ทำให้ชุดเดรสเนื้อผ้าบางเบาจนชายกระโปรงถูกลมพัด เผยให้เห็นพระเพลา (ขา) ของพระองค์ต่อสาธารณะ และเป็นเหตุให้ถูกเหล่าปาปารัซซีฉายพระรูปไว้ และเผยแพร่สู่หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ในเวลาต่อมา แคเธอรีนแก้ปัญหานี้ด้วยการใช้ผ้าที่บางเบา แต่อยู่ทรง เช่น ผ้ายืด หรือผ้าคอตตอน และตัดเย็บเน้นรูปร่าง เพื่อป้องกันกระแสลมที่อาจทำให้ชุดพลิ้วไหวไปมาได้ และนั่นคือการดีไซน์ที่ชาญฉลาด ทั้งยังแฝงไปด้วยอัตลักษณ์ที่แยบยล
แบรนด์ Catherine Walker ออกแบบฉลองพระองค์ให้เจ้าหญิงไดอานาระหว่างปี 1981-1997 มากกว่า 1,000 ชุด ซึ่งนับเป็นดีไซเนอร์คู่ใจก็ว่าได้ แคเธอรีนไม่เพียงแต่รังสรรค์ฉลองพระองค์สวยๆ ให้เจ้าหญิงเท่านั้น แต่เธอยังแทรกซึมอยู่ทุกช่วงชีวิตของเจ้าหญิงไดอานา โดยมีหลายชุดที่ถูกออกแบบอย่างอ่อนไหวสวยงาม ในช่วงที่พระองค์มีความสุขกับชีวิตคู่ การทรงงาน หรือมีพระราชโอรส แต่ในทางกลับกัน บางชุดก็ถูกออกแบบให้ดูทะมัดทะแมง เข้มแข็ง นั่นหมายถึงช่วงเวลาที่พระองค์ต้องเผชิญกับปัญหาชีวิตรุมเร้า ไปจนถึงช่วงเวลาของการหย่าร้างอันแสนสะเทือนใจ
ฉลองพระองค์ที่ถือว่าเป็นมาสเตอร์พีซสำหรับแบรนด์ Catherine Walker ที่เกิดเป็นนิยามใหม่ของการออกแบบ ได้แก่ ชุด Elvis Dress ที่เจ้าหญิงไดอานาทรงขณะเสด็จฯ เยือนฮ่องกง โดยใช้ผ้าไหมสีขาว ดีไซน์คอตั้ง ปักเลื่อมและไข่มุกทั้งตัวในแบบกูตูร์ ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ จนได้รับการกล่าวขานอย่างมากมายในช่วงนั้น
พระองค์เคยประทานสัมภาษณ์ว่า “มีหลายต่อหลายครั้งที่ฉันเลือกความอิสระ และใช้จิตวิญญาณที่เป็นตัวของฉันเอง ซึ่งหลายคนมักไม่พอใจ แต่นั่นก็คือสิ่งที่ฉันเป็น” นี่คือการบอกเล่าความรู้สึกของผู้ที่อยู่ท่ามกลางความสนใจ ไม่ว่าพระองค์จะเคลื่อนไหวหรือทำสิ่งใดก็ตาม
หนึ่งในชุดเดรสสีแดงที่เจ้าหญิงไดอานาทรงสวมใส่ต่อหน้าสาธารณชน ณ โรงพยาบาล Northwick Park ในปี 1997 ก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์เพียง 1 เดือน เป็นอีกหนึ่งชุดที่แบรนด์ Catherine Walker ได้บอกเล่าไว้ในงานครบรอบ 40 ปีของแบรนด์ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่า
“ถือเป็นการยากที่ทางแบรนด์จะต้องออกแบบฉลองพระองค์ในช่วงที่ประสบปัญหาชีวิตมากที่สุด ชุดเดรสสีแดงแขนกุด แสดงถึงความแข็งแกร่ง เด็ดเดี่ยว และแสดงถึงความทรงพลังกับการทำงานเพื่อการกุศลที่เหน็ดเหนื่อยมาเกือบ 20 ปีในชีวิตของพระองค์ ถึงรูปร่างของพระองค์จะเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ก็ไม่ได้ลดทอนความเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ที่เป็นไอคอนด้านแฟชั่นของโลก”
คำสั่งสุดท้ายจากสำนักพระราชวัง ได้มอบหมายให้แบรนด์ออกแบบฉลองพระองค์สีดำสำหรับเจ้าหญิงแห่งเวลส์ในวาระสุดท้ายของพระองค์ แคเธอรีนได้กล่าวถึงความรู้สึกในครั้งนั้นไว้ว่า “มันยากที่จะอธิบาย มันเป็นการทำงานที่หดหู่และเศร้าที่สุดในชีวิตของฉัน เพียงแต่ฉันรู้ว่ามันจะต้องเป็นฉลองพระองค์ที่สวยที่สุด และน่าจดจำไปตลอดกาล ฉันภูมิใจอย่างสุดซึ้งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในวาระสุดท้ายของพระองค์”
พระศพของเจ้าหญิงไดอานาถูกสวมด้วยฉลองพระองค์สีดำของแบรนด์ Catherine Walker และถูกฝัง ณ เดอะ ราวน์โอวัล เกาะกลางทะเลสาบในสวนของคฤหาสน์อัลธอร์พ ของตระกูลสเปนเซอร์มานานหลายศตวรรษ ที่นี่เต็มไปด้วยหงส์ ดอกบัว และกุหลาบขาวที่ปลูกเรียงราย ล้วนเป็นดอกไม้ที่พระองค์โปรดปราน พระหัตถ์ทั้งสองกุมสายประคำ ของขวัญจากแม่ชีเทเรซา ผู้ซึ่งเสียชีวิตในสัปดาห์เดียวกับพระองค์