วันนี้ (9 ก.ย.) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการบางระกำโมเดล เป็นหนึ่งในแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำยม ซึ่งในช่วงฤดูน้ำหลากจะเกิดปัญหาอุทกภัยในเขตจังหวัดพิษณุโลกและสุโขทัย ทั้งยังส่งผลต่อเนื่องทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบตามไปด้วย
รัฐบาลจึงได้บูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงาน จัดทำโครงการบางระกำโมเดล ด้วยการปรับปฏิทินการเพาะปลูกสลับกับการทำประมงในช่วงฤดูน้ำหลาก เพื่อเป็นการลดผลกระทบจากอุทกภัยที่ส่งผลต่อพืชผลผลิตทางเกษตร ทั้งยังช่วยส่งเสริมรายได้ทดแทนให้แก่เกษตรกรในพื้นที่หลังช่วงเพาะปลูกอีกด้วย
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในทุ่งบางระกำในปี 2562 นี้ กรมชลประทานได้วางแผนเตรียมการส่งน้ำเข้าสู่ระบบคลอง ตั้งแต่วันที่ 15-31 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา และส่งน้ำให้เกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกพืชฤดูฝนได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 และสิ้นสุดการส่งน้ำวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 จากนั้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน 2562 จะเป็นช่วงเวลาหน่วงน้ำรับปริมาณน้ำหลากจากลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำสาขา รวมทั้งปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นช่วงที่เกษตรกรสามารถทำอาชีพประมงเป็นรายได้เสริมหลังจากฤดูการเพาะปลูก
ทั้งนี้กรมชลประทานได้รับการสนับสนุนพันธุ์ปลาจากกรมประมงเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ได้รับการสนับสนุนพันธุ์ปลาจากกรมประมงทั้งสิ้น 20 ล้านตัว ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วที่ปล่อยไปจำนวน 5 ล้านตัว แบ่งเป็นปลาขนาด 3-5 เซนติเมตรจำนวน 5 ล้านตัว ปลาวัยอ่อนอายุ 3 วัน 15 ล้านตัว อาทิ ปลาสร้อยขาว, ปลาตะเพียนขาว, ปลาดุกอุย, ปลาหมอตาล, ปลายี่สกเทศ, ปลากระแห และปลาตะเพียนทอง
โดยขณะนี้ได้ดำเนินการปล่อยปลาขนาด 3-5 เซนติเมตรเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำไปแล้วประมาณ 1 ล้าน 5 แสนตัว และจะทำการทยอยปล่อยพันธุ์ปลาเพิ่มสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 จะทำการปล่อยปลาบริเวณจิกเอนบ้านใหม่โพธิ์ทองในวันที่ 11 กันยายนนี้ และจะทำการปล่อยปลาครั้งที่ 2 บริเวณหน้าวัดแม่ระหันในวันที่ 13 กันยายน โดยจะทำการปล่อยปลารวมทั้งสิ้น 6 ครั้งจนครบจำนวน
นอกจากนี้ยังได้ประสานไปยังศูนย์ประมงตาก ขอรับการสนับสนุนกุ้งก้ามกรามเพิ่มเติมอีกด้วย
ภาพ: เรารักชลประทาน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: