‘ทุเรียน’ เป็นผลไม้ที่มีลักษณะแหลมคมและมีกลิ่นเฉพาะตัว ซึ่งบางคนบอกว่ามีกลิ่นคล้ายถุงเท้าหลังออกกำลังกาย ดังนั้นหากไม่ชอบก็จะเกลียดไปเลย แต่สำหรับคนอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วนโดยเฉพาะในแดนมังกร นี่ถือเป็นอาหารอันโอชะอันล้ำค่า
ด้วยการบริโภคในจีนที่พุ่งสูงขึ้นเป็น 4.2 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.5 แสนล้านบาทในปีที่แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าจากปี 2018 สิ่งนี้เองได้จุดประกายให้เกิดการแข่งขันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในหมู่เกษตรกรเพื่อฝึกฝนศิลปะการเพาะปลูกทุเรียน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘ทุเรียน’ กำลังถูกยกระดับ จากผลไม้เป็นสัญลักษณ์ของสถานะทางสังคมที่สูงส่งและความมั่งคั่งในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่
- ไทยมีหนาว! จีนเตรียมวางขาย ‘ ทุเรียนจีน Made in China ’ ที่ปลูกในเกาะไหหลำ พร้อมตั้งเป้าขาย 2.5 หมื่นล้านบาทภายในปี 2028
- กระแส ทุเรียน ฟีเวอร์ใน ‘แดนมังกร’ เป็นข่าวดีเกินไป หรือเป็นสัญญาณเตือนภัยของชาติอาเซียนกันแน่
การปลูกทุเรียนไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ถูกห่อหุ้มด้วยเปลือกที่แข็งแรง แต่ตัวต้นไม้เองนั้นบอบบางมาก ไวต่อความเย็นและความแห้งแล้ง ทำให้ทุเรียนเหล่านี้ส่วนใหญ่นำเข้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ในจีนเอง มีไม่กี่พื้นที่ซึ่งเหมาะสำหรับปลูกราชาแห่งผลไม้ ซึ่งเกาะไหหลำก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ Wei Fuyou เลือกที่จะหันมาปลูกทุเรียน 400 ต้น
ทว่าแม้ในภูมิภาคเหล่านี้ก็ไม่รับประกันความสำเร็จ มีเพียงผู้ที่มีความอดทนและทักษะที่เหมาะสมเท่านั้นที่จะสามารถควบคุมศักยภาพของทุเรียนได้อย่างแท้จริง ดังนั้น Fuyou และเกษตรกรคนอื่นๆ จึงเชิญ Gerald Miow จากมาเลเซีย ชายผู้หลงใหลในทุเรียนและศึกษาการปลูกทุเรียนอย่างจริงจัง
ด้วยประสบการณ์หลายทศวรรษ Miow เดินทางไปยังสวนทุเรียนโดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเพาะปลูกทุเรียนในแง่มุมต่างๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะปฏิบัติตามวิธีการหรือคำแนะนำของ Miow
หนึ่งในนั้นได้กังขาคำพูดของ Miow ที่บอกว่า ไม่แนะนำให้ปลูกต้นทุเรียนแคระที่เสนอโดยสถาบันวิจัยผลไม้เขตร้อนของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งไห่หนาน เพราะเขามองว่าสายพันธุ์นี้จะไม่สามารถเลียนแบบรสชาติของทุเรียนที่คุ้นเคยได้
ในอดีต การรุกคืบของจีนในการเพาะปลูกทุเรียนเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ความพยายามครั้งแรกในปี 1958 ให้ผลเพียงผลเดียว แต่ตอนนี้ผลผลิตจากไหหลำได้ออกสู่ตลาดแล้ว แต่เป็นเพียงเศษเสี้ยว 0.005% ของการบริโภคในปีที่แล้ว
ขณะที่ HSBC รายงานยืนยันความคลั่งไคล้ทุเรียนโดยสังเกตเห็นความต้องการทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น 400% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากจีน
ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่งคือความสำคัญทางวัฒนธรรมของทุเรียนในประเทศจีน นอกเหนือจากการเป็นเพียงผลไม้แล้ว ยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของสถานะและความมีน้ำใจอีกด้วย ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะให้ทุเรียนเป็นของขวัญระหว่างงานหมั้นหรือในโอกาสสำคัญอื่นๆ ขณะที่ราคาของมันสะท้อนถึงสถานะพิเศษนี้ โดยทุเรียนมีราคาสูงกว่ามากในจีนเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบันประเทศไทยครองตลาดทุเรียนทั่วโลก ซึ่งคิดเป็น 99% ของทั้งหมดในกลุ่มอาเซียน แต่ประเทศสมาชิกอื่นๆ ก็กระตือรือร้นที่จะเจาะตลาดที่มีกำไรนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความต้องการของจีนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางคนถึงกับล้อเล่นว่าทุเรียนอาจกลายเป็นของขวัญสากลได้พอๆ กับของทั่วไป เช่น ช็อกโกแลตหรือดอกไม้
อ้างอิง: