×

ชาวนาเคลื่อนบุกทำเนียบ หลังปักหลักยาว 1 สัปดาห์ไม่คืบหน้า เรียกร้องแก้ปัญหาหนี้ ขอใส่ใจ อย่าปล่อยตามยถากรรม

โดย THE STANDARD TEAM
14.02.2022
  • LOADING...
ชาวนาเคลื่อนบุกทำเนียบ หลังปักหลักยาว 1 สัปดาห์ไม่คืบหน้า เรียกร้องแก้ปัญหาหนี้ ขอใส่ใจ อย่าปล่อยตามยถากรรม

วันนี้ (14 กุมภาพันธ์) ตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) นำโดย ชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษา คนท. ได้นัดหมายผู้ชุมนุมเพื่อปักหลักพักค้างอยู่บริเวณริมคลองใต้ทางด่วน ถนนพระรามที่ 6 หน้ากระทรวงการคลัง เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ที่เป็นลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 

 

หลังจากนั้นได้เคลื่อนขบวนย้ายมาปักหลักชุมนุมบริเวณถนนกรุงเกษม หน้าวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ใกล้ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมไปยื่นหนังสือยังทำเนียบรัฐบาลเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดในการแก้ไขปัญหาของสมาชิกในวันพรุ่งนี้ หลังปักหลักชุมนุมมานานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

 

ชรินทร์กล่าวกับ THE STANDARD ว่า ทุกวันนี้ชาวนายิ่งทำนามากยิ่งเป็นหนี้มาก ทุกคนรู้ว่าต้นทุนการผลิตข้าวอยู่ที่เกวียนละ 8,000-8,500 บาท ขณะที่ราคาข้าวเปลือกในตลาดอยู่ที่ 6,000 บาท แค่เริ่มต้นก็ขาดทุนแล้ว นี่คือต้นเหตุของการเป็นหนี้

 

โดยนับแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2510-2515) ที่วางแผนการพัฒนาด้านการเกษตร โดยเฉพาะเรื่องข้าวที่ระบุไว้ว่า “เร่งรัดการเพิ่มผลผลิตข้าว โดยเน้นหนักในด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพในผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น โดยการจัดระบบการควบคุมน้ำที่เหมาะสม การใช้พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงและมีความต้านทานต่อโรคและศัตรูพืช การใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องและปริมาณที่เหมาะสม ตลอดจนการปรับปรุงวิชาการทำนาให้ทันสมัยและถูกต้องตามหลักวิชาการยิ่งขึ้น” และการก่อกำเนิดของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ถือเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้เข้าสู่วงจรหนี้อย่างสมบูรณ์

 

“ก่อน พ.ศ. 2509 ชาวนาทำนาแบบดั้งเดิม ใช้แรงงานคน แรงงานสัตว์ ไม่เร่งรัดการผลิต ต้นทุนไม่มี แต่เมื่อมีการเปลี่ยนพันธุ์ข้าว โดยกรมการข้าวใช้ศัพท์ทางวิชาการว่าไวต่อปุ๋ย ซึ่งกินปุ๋ยมาก เพราะเขาต้องการเร่งผลผลิต ในขณะที่เร่งผลผลิต แต่ไม่มีการคุ้มครองราคา เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่เมื่อมีการผลิตมากก็ต้องถูกกดราคา” ชรินทร์กล่าว

 

ชรินทร์ยังได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาว่า วันนี้ต้องให้ชาวนาหรือผู้ปลูกข้าวทุกคนสามารถทำทุกอย่างได้อย่างครบวงจร ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก แม้แต่ตัวชาวนาเองก็ยังไม่เชื่อในแนวทางนี้ เพราะเขาถูกสอนมาตลอดว่าชาวนาต้องทำนาขายข้าวเหลือ ซึ่งวันนี้เราต้องให้ขายข้าวสารไม่ใช่ขายข้าวเปลือก เมื่อเครื่องจักรทุกอย่างพร้อมแล้ว เหลือแค่การส่งเสริมจากภาครัฐ แต่โครงสร้างวันนี้มันยังผูกขาดอยู่กับคนไม่กี่คน

 

“แม้แต่น้ำดื่มรัฐบาลยังคุมราคาไว้ จะขึ้นราคาตามใจไม่ได้ แต่ปุ๋ยหรือสารเคมีที่เกษตรกรต้องใช้รัฐไม่มีการคุมใดๆ อีกทั้งราคาผลผลิต ราคาสินค้าเกษตร รัฐก็ไม่ดูแล คำว่ากลไกการตลาดใช้ไม่ได้สำหรับการเกษตรไทย เพราะพืชหรือสัตว์ก็มีการผูกขาดหมด” ชรินทร์กล่าว

 

“รัฐบาลเขาไม่เคยใส่ใจ ปล่อยไปตามยถากรรม ในขณะที่เอาเกษตรกรไปหากิน ไปประกาศว่าประเทศไทยเป็นครัวของโลก แล้วเคยหันมาดูพ่อครัวแม่ครัวไหมว่าเป็นอย่างไร”

 

ชรินทร์ยังระบุด้วยว่า เหตุผลที่เกษตรกรไทยไม่สามารถพัฒนาคุณภาพการผลิตได้เนื่องจากหนี้ที่จี้หลังอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังอยู่ในสภาพจำยอมและขาดกำลังใจในการพัฒนา โดยเฉพาะหนี้ที่เกษตรกรต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยอย่างน้อยร้อยละ 8 ต่อปี ซึ่งต้นทุนดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่หนักหนา เพราะเมื่อเกษตรกรกู้เงินมา ดอกเบี้ยเดินทันที ขณะที่รายได้กว่าจะได้ผลผลิตก็อย่างน้อยอีก 5 เดือน

 

ชรินทร์กล่าวทิ้งท้ายถึงแนวทางการแก้ปัญหาว่า “ถ้ารัฐบาลมีสติปัญญาได้คิด ตั้งต้นกันใหม่สำหรับแผนและทิศทางการพัฒนาภาคการเกษตรไทย หันมาทบทวนและเริ่มต้นกันใหม่ หนี้สินจะจัดการอย่างไร ข้างหน้าจะทำอย่างไร ที่เดินมาและกำลังจะเดินต่อแบบนี้อีกคือความผิดพลาดทั้งหมด แล้วรัฐบาลพร้อมไหมที่จะตั้งต้นใหม่ คุณพร้อมยอมรับความจริงไหม

 

“หนี้สินที่เกษตรกรเป็นอยู่ 5 แสนล้านบาทใน ธกส. ยกให้ได้ไหม ทำงบฯ ผูกพันสัก 5 ปี ปีละแสนล้านบาท หยุดซื้อเรือดำน้ำ หยุดซื้อเครื่องบินก่อนได้ไหม หยุดสร้างรถไฟฟ้าสักปี แล้วเริ่มต้นใหม่กันไหม ทบทวนกันใหม่ว่าทิศทางของเราถูกหรือผิด แล้วถ้าผิดเราจะเดินต่ออย่างไร มันไม่มีทางอื่นนอกจากทางนี้ ถ้ายังดันทุรังแก้เป็นจุดๆ ก็ไม่จบ เป็นวัวพันหลักอยู่อย่างนี้ ต่อให้วันนี้ปลดหนี้ชาวบ้านเป็นศูนย์ ก็เกิดหนี้ใหม่ถ้าโครงสร้างการผลิตยังเป็นแบบนี้” 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X