×

น่าเป็นห่วง! ชาวนา-ข้าราชการเป็นหนี้มากที่สุด ประชาชนและ SMEs ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินในระบบ

23.07.2018
  • LOADING...

สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ให้ความเห็นที่งาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2018 เกี่ยวกับข้อจำกัดด้านการเข้าถึงแหล่งเงินของคนไทยว่า 38% ของครัวเรือนไทย มีความเห็นว่า ตนเองมีหนี้สินล้นพ้นตัว และ 12% ของการกู้ยืม เป็นการกู้เพื่อไปใช้หนี้ก้อนอื่น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

 

กลุ่มที่เป็นหนี้สูงสุดของประเทศคือชาวนา ซึ่งมีถึง 62% ที่เป็นหนี้ รองลงมาคือกลุ่มข้าราชการ ซึ่งเป็นหนี้ถึง 59% การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของคนไทยยังมีข้อจำกัด 60% ของคนไทย ไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงิน ต้องเป็นหนี้นอกระบบหรือทางเลือกอื่นๆ แทน นอกจากนี้ระดับการออมของคนไทยยังถือว่าน้อย โดย 64% มีเงินเก็บน้อยกว่าสองพันบาทต่อเดือน และให้ความสำคัญกับการเก็บออมในระยะยาวน้อย

 

ขณะที่ ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ TMB ชี้ให้เห็นภาพที่แตกต่างกัน ระหว่างการดำเนินธุรกิจของกลุ่มธนาคารกับการเข้าถึงแหล่งเงินของคนไทย ซึ่งจากการสำรวจที่ TMB รวบรวมมาพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนเครื่องเบิกถอนเงินสดหรือตู้เอทีเอ็มมากเป็นอันดับที่ 15 ของโลก ขณะที่ประชาชนถึง 29% กลับไม่มีบัญชีเงินฝากของตัวเอง สิ่งที่น่าคิดกว่าเรื่องของเงินฝากคือ คนไทยรู้เรื่องการลงทุนน้อยมาก และจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า มีประชากรเพียง 1% เท่านั้นที่ถือครองความมั่งคั่ง 50% ของทั้งประเทศ

 

สำหรับประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจแล้ว เงินกู้ส่วนใหญ่จะเป็นสินเชื่อบ้าน (Mortgage) ซึ่งเป็นการลงทุนในทรัพย์สินระยะยาว แต่สำหรับประเทศไทยสินเชื่อส่วนใหญ่คือ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อบุคคลซึ่งแตกต่างออกไป และผู้ประกอบการไทย ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือ SMEs มีเพียง 21% เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงิน

 

ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการเงินให้กับประชาชน (Money Literacy) รวมถึงวินัยในการใช้จ่าย ขณะเดียวกันโจทย์ที่ใหญ่กว่าคือ การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินของทั้งประชาชนและ SMEs ซึ่งยังเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับภาคธุรกิจขณะนี้

 

ที่มา:

  • Bangkok Sustainable Banking Forum 2018
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X