×

ผลสำรวจความรุนแรงในครอบครัวยุคโควิด พบ 3 ใน 4 ถูกกระทำซ้ำ มีสุราเป็นตัวแปร ร้อยละ 87 ไม่เคยขอความช่วยเหลือ

โดย THE STANDARD TEAM
24.11.2021
  • LOADING...
ความรุนแรงในครอบครัว

วันนี้ (24 พฤศจิกายน) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และวันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย (Wunderman Thompson Thailand) จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ภายใต้แนวคิด ‘ความรุนแรงในบ้าน ให้มันจบที่ครั้งแรก’ พร้อมเปิดตัวพิพิธภัณฑ์ที่สร้างจากเรื่องจริงของผู้ที่ถูกทำร้ายร่างกายซ้ำๆ ในรูปแบบออนไลน์ ‘Museum of First Time’  

  

โดย รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า เดือนพฤศจิกายนถือเป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ข้อมูลล่าสุดของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ซึ่งให้ความช่วยเหลือเคสที่เข้ามาขอคำปรึกษา ขอความช่วยเหลือ พบว่าความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นกับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ ที่สำคัญคือเคสที่ถูกกระทำทุกคน หรือ 100% ถูกกระทำซ้ำและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญ โดยจุดนี้ยิ่งทำให้ สสส. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับบริษัทวันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย เดินหน้าเชิงรุก ประกาศเจตนารมณ์เดียวกันที่จะทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวลดลงให้มากที่สุด ซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นต้นทางของปัญหาสำคัญๆ ใน 4 มิติ ได้แก่ 

 

  1. ด้านสุขภาพ ทำลายภูมิคุ้มกัน เพิ่มความเสี่ยงติดโควิด 2.9 เท่า
  2. ด้านอุบัติเหตุทางถนน ที่มากกว่าร้อยละ 20 ของอุบัติเหตุทางถนนมาจากการดื่มแล้วขับ ซึ่งเพิ่มสูงถึงร้อยละ 40 ในช่วงเทศกาล
  3. ด้านเศรษฐกิจ เกิดความสูญเสียไปมากกว่า 9 หมื่นล้านบาทต่อปี 
  4. ความรุนแรงในครอบครัว ทั้งต่อเด็กและผู้หญิง และจากการศึกษาในคนทั่วไป พบว่าร้อยละ 80 ได้รับผลกระทบจากคนที่ดื่ม 

 

“กิจกรรมในวันนี้มีเนื้อหาสาระที่สำคัญ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนสังคม ตลอดจนการพิจารณามาตรการทางนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยุติปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทั้งนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย ขอเชิญชวนทุกท่านเข้าไปร่วมชมนิทรรศการ เรื่องราวของผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงซ้ำๆ และชี้ให้เห็นความสำคัญของปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่ต้องให้มันจบในครั้งแรก ตลอดจนการเข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้กำลังใจกันและกันได้ทาง www.museumof1sttime.com” รุ่งอรุณกล่าว

 

ขณะเดียวกัน จรีย์ ศรีสวัสดิ์ ตัวแทนมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวช่วงโควิด ระหว่างวันที่ 17-23 ตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มอายุ 20 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,692 คน พบถูกกระทำความรุนแรงทางวาจา เช่น พูดส่อเสียด ดูถูก ด่าทอ 53.1%, ห่างเหิน/มึนตึง/ไม่รับผิดชอบต่อครอบครัว 35%, ทำให้รู้สึกอับอาย ประจานกันผ่านสังคมออนไลน์ 22.6%, ทำร้ายร่ายกาย 20.2%, นอกใจ/คบชู้ 18.9% และยังพบผู้กระทำทำขณะเมาสุรา 31.4% 

 

ทั้งนี้ สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงก่อนการระบาดโควิด สาเหตุเนื่องมาจากโรคโควิดก่อให้เกิดผลกระทบในหลากมิติ เช่น 

  • ผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น สูญเสียรายได้ ตกงาน ถูกเลิกจ้าง 
  • ผลกระทบด้านอารมณ์ ทำให้เกิดความวิตกกังวล ความเครียด 
  • ผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว
  • ความรุนแรงในครอบครัวมักเกิดขึ้นมากกว่า 1 ครั้ง
  • ผลกระทบด้านจิตใจ เช่น เครียด และอับอาย 
  • ผลกระทบด้านร่างกาย เช่น ปวดหัว เครียดลงกระเพาะ และเจ็บปวดตัว เป็นแผล 
  • ผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น สังคมประณาม เพื่อนบ้านดูถูกนินทา และเสียทรัพย์สิน สิ่งของ หรือเสียเงิน

 

นอกจากนี้ จรีย์กล่าวว่า เมื่อถามถึงแนวทางการแก้ปัญหาผู้ถูกกระทำเลือกปฏิบัติ พบว่า 52.2% เลือกตอบโด้วยวาจา พูดคุย หาคนมาไกล่เกลี่ย ส่วน 33.2% เลือกหลบเลี่ยงไม่พบหน้า/แยกไปอยู่ที่อื่น ขณะที่ 20.1% เลือกที่จะยอม วางเฉย เก็บเงียบ และ 11.9% ตัดสินใจร้องเรียน หรือแจ้งความ 

 

ขณะเดียวกัน กลุ่มที่น่าห่วงคือ พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 87.4% ไม่เคยขอความช่วยเหลือหรือปรึกษาจากหน่วยงานหรือจากใครเลย โดย 75.6% คิดว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้เอง, 61.8% คิดว่าเป็นเรื่องในครอบครัว ไม่ควรให้คนนอกรู้, 40% มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องใหญ่, 11% คิดว่าติดต่อไปก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น และ 5.8% ไม่รู้วิธีติดต่อขอความช่วยเหลือ อีก 4.4% ไม่รู้ว่ามีหลายหน่วยงานที่ช่วยได้

 

จรีย์ระบุเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทางมูลนิธิเสนอให้กลไกรัฐ กระบวนการยุติธรรม ต้องมีทัศนคติมองปัญหาความรุนแรงให้ชัดเจนเข้าใจ ไม่ใช่แค่ไกล่เกลี่ย รวมถึงการปรับทัศนคติวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ การใช้อำนาจ ลดปัจจัยจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รวมถึงรณรงค์ให้ผู้หญิงได้เข้าถึงสิทธิ มีทางออก มีพื้นที่ มีหน่วยงานที่คอยให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลพร้อมช่วยเหลือทั้งทางกฎหมายและการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งติดต่อได้ทาง 0 2513 2889 หรือเฟซบุ๊กมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล หรือโทร.สายด่วน 1300

 

ทางด้าน ชนิกานต์ สิทธิอารีย์ ทีมวันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย กล่าวว่า หากมีความรุนแรงเกิดขึ้นในบ้านครั้งแรกแล้วฝ่ายชายจะขอโทษและให้คำสัญญา ส่วนผู้หญิงก็จะยอมให้อภัยเพราะไม่คิดว่าจะมีอีก แต่จริงๆ จะพบว่าเมื่อมีครั้งแรกแล้วจะมีครั้งต่อๆ ไปเสมอ และรุนแรงขึ้น หลายรายถึงขั้นเสียชีวิต ทางครีเอทีฟจึงหยิบเรื่องราว ‘ครั้งแรกของผู้หญิง’ ตีความให้รอบด้านอยู่ในโลกความเป็นจริงยิ่งขึ้น จึงกลายเป็นผลงาน Virtual Museum กับคอนเซปต์ Museum of First Time 

 

โดยหวังให้ผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ที่ถูกทำร้าย ได้รับชม รับรู้ และตัดสินใจจัดการบางอย่างเพื่อไม่ให้มีครั้งต่อไป หรือการเลือกที่จะออกมาจากความสัมพันธ์แห่งความรุนแรงนั้น และหวังว่าการทำร้ายร่างกายในบ้าน ในครอบครัว หรือแม้แต่คู่รัก จะลดลงไปจริงๆ เราจะได้ไม่ต้องทำแคมเปญนี้อีก ซึ่งเรื่องนี้ต้องแก้ไขทัศนคติ วิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ ให้เป็นสังคมที่มีความเท่าเทียมทางเพศ เคารพในเนื้อตัวร่างกาย เคารพในสิทธิของกันและกัน

 

“ความรักเป็นเรื่องที่ดี สวยงาม แต่คุณไม่มีสิทธิทำร้ายกัน ไม่มีใครเป็นเจ้าของชีวิตใคร” ชนิกานต์กล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising